ส่งออกไทย 2564 เดือนกรกฎาคม

ส่งออกไทย 2564 เดือน ก.ค. ขยายตัว 20% จากเดือนเดียวกันปีก่อน

อัปเดตล่าสุด 23 ส.ค. 2564
  • Share :
  • 827 Reads   

สถานการณ์ส่งออกในเดือนกรกฎาคม 2564 ไทยสามารถรักษาตัวเลขส่งออกเหนือระดับ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ขยายตัว 20.27% จากเดือนเดียวกันปีก่อน

วันที่ 23 สิงหาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขการส่งออกเดือนกรกฎาคม 2564 พบว่า มีมูลค่า 22,650.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 708,651.66 ล้านบาท ขยายตัว 20.27% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยหากไม่นับรวมสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ตัวเลขส่งออกไทยเดือนนี้ขยายตัว 25.38% เป็นผลจากการเร่งแก้ไขอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก และการดำเนินงานตามแผนส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้การจ้างงานปรับตัวดีในระดับที่น่าพอใจ ขณะที่การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในสหภาพยุโรปทำให้ภาคบริการฟื้นตัว ผลักดันให้เศรษฐกิจยุโรปเติบโตเร็วขึ้น อีกทั้งภาคการผลิตทั่วโลกยังคงขยายตัวดี

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Global Manufacturing PMI) อยู่เหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 โดยการผลิตสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค สินค้าวัตถุดิบ และสินค้าเพื่อการลงทุนปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ เงินบาทที่อ่อนค่ายังเป็นปัจจัยหนุนต่อภาคการส่งออกไทย ทั้งนี้ การส่งออก 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวที่ร้อยละ 16.20 เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ร้อยละ 21.47 สะท้อนภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) ที่เติบโตอย่างชัดเจน

สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่

1) สินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะผักและผลไม้ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม ไก่สด แช่เย็น แช่เข็ง และแปรรูป เครื่องดื่ม อาหารสัตว์เลี้ยงและสิ่งปรุงรสอาหาร

2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ขยายตัวเกือบทุกหมวด เช่น คอมพิวเตอร์โทรศัพท์และอุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศเตาอบไมโครเวฟ เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ

3) สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์และถุงมือยาง

4) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นตัวของภาคการผลิต เช่น เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

และ 5) สินค้าคงทนหรือสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาสูง เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) มีการขยายตัวในระดับสูง สะท้อนถึงการฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศคู่ค้า

ด้านตลาดส่งออก ขยายตัวดีเกือบทุกตลาด ตลาดสำคัญ อาทิสหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง หากมองเฉพาะการเติบโตในอาเซียน ตลาดอาเซียน (5) ขยายตัวในระดับสูง โดยเฉพาะอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ที่ฟื้นตัวดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่ ตลาด CLMV มีศักยภาพการเติบโตในระดับที่น่าพอใจ โดยเฉพาะตลาดเมียนมาที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เช่นเดียวกับตลาดอื่นๆ อาทิ ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ลาตินอเมริกา และรัสเซียและ CIS ล้วนมีอัตราการขยายตัวในระดับสูง
แทบทั้งสิ้น

สรุปมูลค่าการค้ารวม

มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนกรกฎาคม 2564 การส่งออก มีมูลค่า 22,650.83 ล้านดอลลาร์ สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 20.27 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 22,467.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 45.94 ดุลการค้าเกินดุล 183.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพรวมการส่งออก 7 เดือนแรกของปี 2564 การส่งออก มีมูลค่า 154,985.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 16.20 การนำเข้า มีมูลค่า 152,362.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 28.73 ดุลการค้า 7 เดือนแรก เกินดุล 2,622.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 24.3 (YoY) ขยายตัว 8 เดือน ต่อเนื่อง สินค้าที่ขยายตัวดีได้แก่ ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 80.2 ขยายตัว 4 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเนเธอร์แลนด์) ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 121.2 ขยายตัว 10 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวหลายตลาด อาทิ จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย) ผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 62.0 ขยายตัว 9 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวหลายตลาด อาทิ จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ไต้หวัน และสหรัฐฯ) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 17.3 ขยายตัว 23 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย อิตาลี และอินเดีย) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ขยายตัวร้อยละ 51.7 ขยายตัว 14 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวหลายตลาด อาทิ มาเลเซีย อินเดีย เมียนมา เวียดนาม และกัมพูชา) ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป อื่นๆ ขยายตัวร้อยละ 8.4 ขยายตัว 3 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวหลายตลาด อาทิ เมียนมา จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม และสหราชอาณาจักร)สินค้าที่หดตัว ได้แก่อาหารทะเลสด แช่เย็น แช่แข็งกระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 10.0 หดตัว 4 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ และออสเตรเลีย แต่ขยายตัวดีในตลาดญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ อียิปต์ และแคนาดา) สินค้าปศุสัตว์อื่นๆ หดตัวร้อยละ 51.6 หดตัว 6 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวในตลาดเวียดนาม กัมพูชา และลาว แต่ขยายตัว
ดีในเมียนมา จีน ญี่ปุ่น และเนปาล) น้ำตาลทราย กลับมาหดตัวอีกครั้ง หดตัวที่ร้อยละ 27.6 (หดตัวในตลาดเวียดนาม อินโดนีเซีย และสหรัฐฯ แต่ขยายตัวดีในตลาดฟิลิปปินส์ กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์และเกาหลีใต้) ข้าว หดตัวร้อยละ 8.0 หดตัว 8 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ เบนิน แคเมอรูน และญี่ปุ่น แต่ขยายตัวดีในตลาดแอฟริกาใต้ จีน เยเมน ฮ่องกง เกาหลีใต้ และสิงคโปร์) 7 เดือนแรกของปี 2564 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 13.6

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 18.0 (YoY) ขยายตัว 5 เดือนต่อเนื่อง สินค้าที่ขยายตัวดีได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 39.2 ขยายตัว 9 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวทุกตลาด อาทิ ออสเตรเลีย เวียดนาม ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐฯ) ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 16.0 ขยายตัว 14 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี และออสเตรเลีย) สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ขยายตัว ร้อยละ 59.0 ขยายตัว 6 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวทุกตลาด อาทิ จีน กัมพูชา เวียดนาม ญี่ปุ่น และอินเดีย) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 43.8 ขยายตัว 5 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ ฮ่องกง อินเดีย สหราชอาณาจักร และสวิตเซอร์แลนด์) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 19.3 ขยายตัว 8 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ ฮ่องกง จีน สิงคโปร์ และมาเลเซีย) เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ขยายตัวร้อยละ 59.4 ขยายตัว 8 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวทุกตลาด อาทิ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย และมาเลเซีย) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว หดตัวร้อยละ 2.9 หดตัวในรอบ 3 เดือน (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และเวียดนาม แต่ขยายตัวได้ดีในตลาดจีน กัมพูชา และมาเลเซีย) ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 2.4 กลับมาหดตัวในรอบ 14 เดือน (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น เวียดนาม และ
ออสเตรเลีย แต่ขยายตัวได้ดีในหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเกาหลีใต้) เครื่องยนต์ สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 3.9 กลับมาหดตัวในรอบ 5 เดือน (หดตัวในตลาดสิงคโปร์และสหรัฐฯ แต่ขยายตัวได้ดีในหลายตลาด อาทิ แอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย อาร์เจนตินา ญี่ปุ่น และอินเดีย) 7 เดือนแรกของปี 2564 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 16.2

ตลาดส่งออกสำคัญ

การส่งออกไปยังตลาดส่งออกสำคัญยังขยายตัวในเกณฑ์ดีเกือบทุกตลาด ตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้า ที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจหลัก หลังจากมีอัตราการฉีดวัคซีนภายในประเทศอยู่ในระดับสูงทำให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้น

 

ภาพรวมการส่งออกไปกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุป ดังนี้ 1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 25.8 ขยายตัวทุกตลาด ประกอบด้วย สหรัฐฯ ร้อยละ 22.2 จีน ร้อยละ 41.0 ญี่ปุ่น ร้อยละ 23.3 สหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 20.9 อาเซียน (5) ร้อยละ 26.9 CLMV ร้อยละ 16.1 2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 27.6 ขยายตัวเกือบทุกกลุ่มตลาด ได้แก่ เอเชียใต้ ร้อยละ 73.8 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 12.4 ทวีปแอฟริกา ร้อยละ 17.9 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 93.5 และรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ร้อยละ 53.0 ขณะที่ทวีปออสเตรเลียหดตัวร้อยละ 6.8 และ 3) ตลาดอื่นๆ หดตัวร้อยละ 76.7

  • ตลาดสหรัฐอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 22.2 (ขยายตัว 14 เดือนต่อเนื่อง) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่อัญมณี และเครื่องประดับ ยางพารา รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 21.2 
  • ตลาดจีน ขยายตัวร้อยละ 41.0 (ขยายตัว 8 เดือนต่อเนื่อง) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ผลไม้สด แช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เคมีภัณฑ์ ยางพารา และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว ร้อยละ 27.2
  • ตลาดญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 23.3 (ขยายตัว 9 เดือนต่อเนื่อง) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ทองแดง เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์รถยนต์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 14.0
  • ตลาดอาเซียน (5) ขยายตัวร้อยละ 26.9 (ขยายตัว 3 เดือนต่อเนื่อง) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ เหล็กและผลิตภัณฑ์และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ขณะที่7 เดือนแรก ของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 8.6
  • ตลาด CLMV ขยายตัวร้อยละ 16.1 (ขยายตัว 5 เดือนต่อเนื่อง) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป รถยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และ ทองแดงฯ เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว ร้อยละ 17.9
  • ตลาดสหภาพยุโรป (27) ขยายตัวร้อยละ 20.9 (ขยายตัว 6 เดือนต่อเนื่อง) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกล รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 25.8
  • ตลาดเอเชียใต้ ขยายตัวร้อยละ 73.8 (ขยายตัว 6 เดือนต่อเนื่อง) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เหล็กและผลิตภัณฑ์ และเครื่องยนต์สันดาป เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 54.2
  • ตลาดอินเดีย ขยายตัวร้อยละ 75.3 (ขยายตัว 6 เดือนต่อเนื่อง) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เม็ดพลาสติก รถยนต์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์เหล็กและผลิตภัณฑ์ และเครื่องยนต์สันดาป เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 57.4
  • ตลาดทวีปออสเตรเลีย (25) หดตัวร้อยละ 6.8 (กลับมาหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 11 เดือน) สินค้าที่หดตัว ได้แก่อัญมณีและเครื่องประดับ (ทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป) อากาศยาน และ เครื่องซักผ้า เป็นต้น ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว ร้อยละ 22.6
  • ตลาดตะวันออกกลาง (15) ขยายตัวร้อยละ 12.4 (ขยายตัว 4 เดือนต่อเนื่อง) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เคมีภัณฑ์ ยางพารา ข้าว และโทรศัพท์และอุปกรณ์ เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 15.9
  • ตลาดทวีปแอฟริกา (57) ขยายตัวร้อยละ 17.9 (ขยายตัว 7 เดือนต่อเนื่อง) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาป ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 22.6
  • ตลาดลาตินอเมริกา (47) ขยายตัวร้อยละ 93.5 (ขยายตัว 6 เดือนต่อเนื่อง) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องยนต์สันดาป เครื่องจักรกล และยางพารา เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรก ของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 46.5
  • ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ขยายตัวร้อยละ 53.0 (ขยายตัว 4 เดือนต่อเนื่อง) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก ยางพารา เครื่องปรับอากาศ และผลไม้กระป๋องและแรรูป เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 20.0

แนวโน้มและแผนส่งเสริมการส่งออกปี 2564

การส่งออกของไทยในปี 2564 มีแนวโน้มของการขยายตัวที่ดีสะท้อนจาก (1) การขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 7 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของหลายประเทศเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ (2) ราคาพลังงานปรับสูงขึ้นตามความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น หลังหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์จึงเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อีกทั้งการส่งออกไปยังอาเซียนยังได้รับอานิสงส์จากปัจจัยดังกล่าวเช่นกัน แม้ว่าจะยังคงมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รุนแรง (3) มาตรการผ่อนคลายการล็อกดาวน์ และการเร่งฉีดวัคซีนทั่วโลก ส่งผลดีต่อกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าของไทย (4) ค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่า มีส่วนสำคัญในการช่วยเสริม
ความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าไทยในขณะนี

สำหรับแผนส่งเสริมการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ลักษณวิศิษฏ์) สั่งการให้ดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” และแผนงานของกระทรวงพาณิชย์ที่กำหนดไว้ อาทิการจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกกว่า 130 กิจกรรมในครึ่งปีหลัง พร้อมจัดการเจรจาเพื่อเปิดตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น ตลาดตะวันออกกลาง แอฟริกาและลาตินอเมริกา เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้ประสานกับทูตพาณิชย์ของไทยในจีนเพื่อเร่งแก้ไขอุปสรรคการส่งออกในสินค้าผลไม้ เช่น ทุเรียน และลำไย ไปยังตลาดจีน ซึ่งจากความพยายามในการหารือและเจรจาครั้งที่ผ่านมาของกระทรวงพาณิชย์ทำให้จีนปลดล็อกอุปสรรคการส่งออกในสินค้าเกษตรทั้ง 2 ชนิดแล้ว ซึ่งจะช่วยให้สินค้าเกษตรในประเทศมีช่องทางในการระบายสินค้าและส่งผลดีต่อเกษตรกรของไทยต่อไป

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH