ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2565 เดือนพฤศจิกายน และภาพรวม 11 เดือน ม.ค. - พ.ย.

ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2565 เดือน พ.ย. เพิ่มขึ้น 7.2% ภาพรวม 11 เดือนเพิ่ม 10.9%

อัปเดตล่าสุด 23 ธ.ค. 2565
  • Share :

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสรุปรายงานดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไทย เดือนพฤศจิกายน 2565 อยู่ที่ระดับ 113.7 เพิ่มขึ้น 7.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ลดลง 1.3% จากเดือนก่อนหน้า ภาพรวม 11 เดือนแรก (มกราคม - พฤศจิกายน) เพิ่มขึ้น 10.9%

ดัชนีราคาผู้ผลิต​ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) เดือนพฤศจิกายน 2565 (ปี 2558 = 100) เท่ากับ 113.7 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2564 สูงขึ้นร้อยละ 7.2 (YoY) เป็นผลมาจากการปรับสูงขึ้นของราคาสินค้าผู้ผลิตทั้ง 3 หมวดหลัก ประกอบด้วย

Advertisement

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 5.4 ตามต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นทั้งราคาวัตถุดิบ พลังงาน และบรรจุภัณฑ์ แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในทิศทางชะลอลงต่อเนื่อง 5 เดือน โดยกลุ่มสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ
  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 49.7 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันปิโตรเลียมดิบ 
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 6.0 เป็นผลจากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ข้าวเปลือก หัวมันสำปะหลังสด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลไม้ สุกรมีชีวิต ไก่มีชีวิต ไข่ไก่ ไข่เป็ด และผลิตภัณฑ์จากการประมง

ขณะที่ ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) พบว่า ดัชนีหมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 3.4 8.3 และ 26.3 ตามลำดับ โดยมีสินค้าสำคัญในห่วงโซ่อุปทานที่ราคาปรับสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า-> ข้าวสารเจ้า/ข้าวนึ่ง/ปลายข้าว-> แป้งข้าวเจ้าและหัวมันสำปะหลังสด-> มันเส้น/มันอัดเม็ด/แป้งมันสำปะหลัง เนื่องจากมีความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ อ้อย ->น้ำตาลทรายดิบ-> น้ำตาลทรายขาว เนื่องจากราคาเคลื่อนไหวตามภาวะตลาดโลก

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 เดือนพฤศจิกายน เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 7.2 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 5.4 จากการสูงขึ้นของสินค้าสำคัญ ประกอบด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, 95 น้ำมันก๊าด และน้ำมันเตา ซึ่งทิศทางของราคาน้ำมันเคลื่อนไหวตามตลาดโลก กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ เนื้อสุกร ไก่สด มันเส้น ข้าวสารเจ้า ปลาทูน่ากระป๋อง ข้าวนึ่ง น้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ และน้ำสับปะรด เนื่องจากในปีนี้ต้นทุนการผลิตทยอยปรับสูงขึ้น รวมทั้งความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศยังคงมีอย่างต่อเนื่อง และน้ำตาลทราย ราคาเคลื่อนไหวตามภาวะราคาตลาดโลก กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) เนื่องจากเป็นสินค้าที่ผลิตเพื่อส่งออก ราคาจึงเคลื่อนไหวตามเงินบาทที่อ่อนค่าลงกว่าปีก่อน กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ทองคำ เนื่องจากราคาปรับตัวตามตลาดโลก

  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 49.7 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันปิโตรเลียมดิบ ตามทิศทางราคาตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น หินก่อสร้าง และทราย เนื่องจากต้นทุนการผลิตด้านพลังงานปรับสูงขึ้น
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 6.0 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกเหนียว เนื่องจากความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศยังคงมีอย่างต่อเนื่อง หัวมันสำปะหลังสด เนื่องจากตลาดจีนยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้สำหรับเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมเอทานอล ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากปริมาณผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา และผลไม้ (สับปะรดโรงงาน ลำไย มะละกอสุก ลองกอง กล้วยน้ำว้า) เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น กลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกรมีชีวิต เนื่องจากความต้องการบริโภคอาหารเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทย รวมถึงต้นทุนราคาอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้น ไก่มีชีวิต ไข่ไก่ และไข่เป็ด เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น และกลุ่มผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ ปลาหมึกกล้วย ปลานิล ปูม้า ปลาดุก ปลาลัง หอยนางรม กุ้งทะเล และปลาทรายแดง เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและมีมรสุมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ปลาช่อน ปลาดุก และปลานิล เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น สำหรับสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ พืชผัก (มะนาว ผักคะน้า ผักชี ผักกวางตุ้ง ผักขึ้นฉ่าย กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ถั่วฝักยาว มะเขือ ผักกาดหอม ผักกาดหัว ฟักทอง มะเขือเทศ พริกชี้ฟ้าสด) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับฐานสูงในเดือนพฤศจิกายน 2564 เนื่องจากเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ผลปาล์มสด เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าปีก่อน และยางพารา เนื่องจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมยางล้อและถุงมือยางลดลง จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 เดือนพฤศจิกายน เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) ลดลงร้อยละ 1.3 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.7 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 และน้ำมันก๊าด ราคาปรับลดลงตามตลาดโลก เนื่องจากจีนยังคงใช้มาตรการ Zero COVID จึงเป็นแรงกดดันให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) Integrated Circuit (IC) และหน่วยรับข้อมูล/แสดงผล เนื่องจากเป็นสินค้าที่ผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งราคาปรับลดลงตามค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน และถุงมือยาง เนื่องจากราคาวัตถุดิบสินค้าเกษตรปรับลดลง ประกอบกับความต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศลดลง กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ ไก่สด น้ำตาลทราย ข้าวนึ่ง มันเส้น น้ำสับปะรด กุ้งแช่แข็ง สับปะรดกระป๋อง และปลาทูน่ากระป๋อง เนื่องจากราคาวัตถุดิบสินค้าเกษตรปรับลดลง ประกอบกับค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ทองคำ เนื่องจากราคาปรับตามตลาดโลก กลุ่มสิ่งทอ ได้แก่ ผ้าดิบ ผ้าใยสังเคราะห์ และผ้าฝ้าย เนื่องจากราคาปรับตามค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น และกลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กเส้น เหล็กลวด เหล็กรูปตัวซี และลวดเหล็ก เนื่องจากราคาวัตถุดิบลดลงตามราคาเหล็กในตลาดโลกโดยเฉพาะตลาดจีน

  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 11.8 จากราคาสินค้าที่ปรับลดลงตามตลาดโลก โดยสินค้าสำคัญ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากปริมาณก๊าซสำรองในหลายภูมิภาคยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับมีการใช้พลังงานอื่นทดแทน รวมทั้งความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในภูมิภาคเอเชียลดลงจากสภาพอากาศที่อบอุ่น และแร่โลหะ (แร่เหล็ก ดีบุก สังกะสี วุลแฟรม)
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง โดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกเหนียว เนื่องจากผลผลิตข้าวฤดูกาลใหม่เริ่มทยอยออกสู่ตลาด ประกอบกับตลาดยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง หัวมันสำปะหลังสด เนื่องจากเป็นช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ความต้องการใช้มันสำปะหลังทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ ขณะที่ความต้องการของตลาดยังมีอย่างต่อเนื่อง ผลปาล์มสด เนื่องจากผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดลดลงจากปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการเก็บเกี่ยว ประกอบกับมีการปรับสูตรไบโอดีเซล จาก บี5 เป็น บี7 ทำให้มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น กลุ่มสัตว์ ราคาปรับขึ้นเพียงเล็กน้อย ได้แก่ สุกรมีชีวิต และไข่ไก่ เนื่องจากปริมาณผลผลิตสอดรับกับความต้องการบริโภค ผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ กุ้งแวนนาไม ปลาหมึกกล้วย ปูม้า ปลาลัง กุ้งทะเล ปลาจะระเม็ด หอยนางรม ปลานิล ปลาดุก และปลาช่อน เนื่องจากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นจากการเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ยางพารา เนื่องจากความต้องการใช้ยางในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว กลุ่มพืชผัก (ผักกวางตุ้ง ผักคะน้า ผักชี ผักขึ้นฉ่าย ผักกาดหอม ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี ผักบุ้ง มะเขือ พริกสด ผักกาดขาว ผักกาดหัว ฟักทอง แตงร้าน พริกชี้ฟ้าสด กะหล่ำดอก มะระจีน) และกลุ่มผลไม้ (สับปะรดโรงงาน ส้มเขียวหวาน กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 เฉลี่ย 11 เดือน (ม.ค.- พ.ย.) เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 10.9 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม​ สูงขึ้นร้อยละ 9.2 
  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 66.1
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 7.7

แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 เดือนธันวาคม

ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนธันวาคม 2565 มีแนวโน้มสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง จากราคาสินค้าในหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ตามราคาสินแร่โลหะที่มีแนวโน้มลดลง ส่วนก๊าซธรรมชาติชะลอตัวค่อนข้างมากตามราคาในตลาดโลก นอกจากนี้ สินค้าสำคัญ ทั้งผลปาล์มสด ยางพารา และเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก คาดว่าราคาจะปรับลดลงจากปีก่อนเนื่องจากความต้องการชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก ประกอบกับฐานราคาที่สูงในเดือนธันวาคม 2564

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ดัชนีราคาผู้ผลิตยังคงขยายตัว ได้แก่ 1) ต้นทุนการผลิต ทั้งราคาพลังงาน ปุ๋ย อาหารสัตว์ วัตถุดิบ ค่าขนส่ง และค่าไฟฟ้า ที่ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปีก่อน รวมทั้งค่าแรงขั้นต่ำและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น 2) ต้นทุนการนำเข้าที่อยู่ในระดับสูงจากเงินบาทที่ยังคงอ่อนค่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และ 3) อุปสงค์ภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก นโยบายการเงินที่เข้มงวดในหลายประเทศ ความไม่แน่นอนของอุปทานน้ำมันดิบ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศที่จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะจีนที่ยังคงใช้นโยบาย Zero COVID อาจส่งผลต่ออุปสงค์และอุปทานของสินค้าและบริการ ซึ่งจะกระทบต่อภาคการผลิตและดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไทยตามลำดับ ซึ่งจะต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

 

#ดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 #ดัชนีราคาผู้ผลิต ppi #ดัชนีราคาผู้ผลิต ย้อนหลัง #แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต #ดัชนีราคา #ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม #กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า #สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า #กระทรวงพาณิชย์

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH