ส่งออกไทย 2565 เดือนเมษายน

ส่งออกไทย 2565 เดือน เม.ย. โต 9.9% เทียบปีก่อน

อัปเดตล่าสุด 27 พ.ค. 2565
  • Share :
  • 7,235 Reads   

สถานการณ์ส่งออกในเดือนเมษายน 2565 ไทยทำตัวเลขส่งออกได้อยู่เหนือระดับ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องเดือนที่ 14 ที่ตัวเลข 9.9% เมี่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน

วันที่ 27 พฤษภาคม 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ตัวเลขการส่งออกเดือนเมษายน 2565 มีมูลค่า 23,521.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (782,146 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 9.9 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 6.9 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ท่ามกลางปัจจัยกดดันจากการสู้รบในยูเครนและมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย ที่ส่งผลต่อการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานการผลิต รวมถึงผลักดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ นอกจากนี้ ภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจากมาตรการล็อกดาวน์ในหลายเมือง ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลก

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Global Manufacturing PMI) ที่อยู่เหนือระดับ 50 โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยุโรป อินเดีย เกาหลีใต้ และอาเซียน รวมทั้งมีความต้องการสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้น จึงทำให้การส่งออกไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร ทั้งนี้ การส่งออกไทย 4 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 13.7 เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 8.2 ชี้ให้เห็นว่า การส่งออกยังเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่

1) สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานโลก เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ยางยานพาหนะ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

2) สินค้าเกษตรและอาหารที่เป็นสินค้าจำเป็นในภาวะสงคราม และตลาดต่างประเทศต้องการสต็อกสินค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ไก่แปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป น้ำมัน
ปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง สิ่งปรุงรสอาหาร เป็นต้น

3) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าคงทน ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการจ้างงาน เช่น เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมเพรสเซอร์ของเครื่องทำความเย็น เป็นต้น

4) สินค้าทางการแพทย์อาทิเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ เป็นต้น

สรุปมูลค่าการค้ารวม

มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนเมษายน 2565 การส่งออก มีมูลค่า 23,521.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 9.9 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 25,429.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 21.5 ดุลการค้าขาดดุล 1,908.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ภาพรวมการส่งออก 4 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-เมษายน) การส่งออก มีมูลค่า 97,122.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 13.7 การนำเข้า มีมูลค่า 99,975.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 19.2 ดุลการค้า 4 เดือนแรก ขาดดุล 2,852.4 ล้านเหรียญสหรัฐ

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 8.3 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 14 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดีได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ขยายตัวร้อยละ 19.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 15 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน เวียดนาม อินเดีย กัมพูชา สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ลาว และเมียนมา) แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 15.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 17 เดือน (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง สิงคโปร์ สหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และไต้หวัน) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 48.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 14 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อินเดีย สวิตเซอร์แลนด์เยอรมนีและสหราชอาณาจักร) เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ ขยายตัวร้อยละ 25.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 17 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม) ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม ขยายตัวร้อยละ 53.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 17 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย เวียดนาม และจีน)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 10.9 หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และสหรัฐฯ แต่ขยายตัวในตลาดมาเลเซีย เม็กซิโก อินโดนีเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และซาอุดีอาระเบีย) เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์หดตัวร้อยละ 30.7 กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์และญี่ปุ่น แต่ขยายตัวในตลาดเม็กซิโก เวียดนาม และสหราชอาณาจักร) ผลิตภัณฑ์ยาง หดตัวร้อยละ 5.2 หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เวียดนาม และเกาหลีใต้แต่ขยายตัวในตลาดจีน ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ เม็กซิโก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และฝรั่งเศส) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 8.1 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และอินเดีย แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เวียดนาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฟิลิปปินส์ และเบลเยียม) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หดตัว
ร้อยละ 8.6 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ เวียดนาม ฮ่องกง ญี่ปุ่น และจีน แต่ขยายตัวในตลาดไต้หวัน ตุรกี สิงคโปร์ และแคนาดา)

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 10.8 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 17 เดือน สินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 49.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ไต้หวัน และสหรัฐฯ) ข้าว ขยายตัวร้อยละ 44.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อิรัก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จีน เซเนกัล และโมซัมบิก) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 126.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 23 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินเดีย มาเลเซียเมียนมา เวียดนาม ญี่ปุ่น และกัมพูชา) น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 87.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย กัมพูชา ลาว เมียนมา และสิงคโปร์) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 24.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 32 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อิตาลี ออสเตรเลีย มาเลเซีย และเวียดนาม)

สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง หดตัวร้อยละ 12.4 หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (หดตัวในตลาดจีน ฮ่องกง ไต้หวัน เวียดนาม และญี่ปุ่น แต่ขยายตัวในตลาดมาเลเซีย สหรัฐฯ เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ยางพารา หดตัวร้อยละ 8.6 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย และญี่ปุ่น แต่ขยายตัวในตลาดเกาหลีใต้ สหรัฐฯ ตุรกี บราซิล อินเดีย อิตาลี และสโลวีเนีย) เครื่องดื่ม หดตัวร้อยละ 14.5 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวใน
ตลาดเมียนมา เวียดนาม จีน และฟิลิปปินส์ แต่ขยายตัวในตลาดกัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย เกาหลีใต้และ สหรัฐฯ) ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง หดตัวร้อยละ 12.7 หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (หดตัวในตลาดจีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ลาว และเมียนมา แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น มาเลเซีย กัมพูชา เนเธอร์แลนด์และโอมาน) นมและผลิตภัณฑ์นม หดตัวร้อยละ 25.7 กลับมาหดตัวในรอบ 8 เดือน (หดตัวในตลาดกัมพูชา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เมียนมา และเวียดนาม แต่ขยายตัวในตลาดฮ่องกง ลาว ไต้หวัน ญี่ปุ่น และมาเลเซีย)

ตลาดส่งออกสำคัญ

การส่งออกไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่ชะลอตัวลง ท่ามกลางปัจจัยกดดันจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ขณะที่การส่งออกไปตลาดจีนหดตัว เนื่องจากผลกระทบจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์

ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้ 1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 7.6 โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 13.6 อาเซียน (5) ร้อยละ 26.9 CLMV ร้อยละ 9.3 ขณะที่ตลาด จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (27) หดตัวร้อยละ 7.2 ร้อยละ 0.3 และ 0.2 ตามลำดับ (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 12.4 ขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ร้อยละ 33.9 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 25.4 ทวีปแอฟริกา ร้อยละ 14.9 และลาตินอเมริกา ร้อยละ 2.0 ขณะที่ทวีปออสเตรเลีย และรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS หดตัวร้อยละ 4.5 และ 65.2 ตามลำดับ และ (3) ตลาดอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 172.2 อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัวร้อยละ 392.2

แนวโน้มและแผนส่งเสริมการส่งออกระยะถัดไป

แนวโน้มการส่งออกไทย การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศคู่ค้าต้องการรักษาความมั่นคงทางอาหาร สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีจากสินค้าขั้นกลาง เช่น เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ สินค้าที่เกี่ยวกับน้ำมัน (เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ก๊าซธรรมชาติ) นอกจากนี้ สินค้าไลฟ์สไตล์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันจะได้รับอานิสงส์จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกไทยอาจยังได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนวัตถุดิบพื้นฐานที่ใช้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์อยู่บ้างในช่วงครึ่งแรกของปีสำหรับตลาดส่งออก คาดว่าบางตลาดจะมีแนวโน้มขยายตัวได้ท่ามกลางสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน เช่น การส่งออกไปตลาดอาเซียนมีทิศทางดีขึ้น หลังเริ่มทยอยเปิดประเทศและผ่อนคลายมาตรการควบคุมให้ดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจได้ปกตินอกจากนี้ การส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลางมีแนวโน้มดีต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภาคพลังงาน ซึ่งส่งผลดีต่อกำลังซื้อ ขณะเดียวกันการส่งออกไทยได้รับประโยชน์จากทิศทางเงินบาทอ่อนค่าที่เอื้อต่อการส่งออก อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศคู่ค้าหลัก ซึ่งอาจเป็นปัจจัยบั่นทอนการส่งออกในระยะถัดไป

แผนส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการเชิงรุก เพื่อผลักดันและอำนวยความสะดวกด้านการส่งออกของผู้ประกอบการไทย ได้แก่ 1) ปลดล็อกอุปสรรคการส่งออกสินค้าผลไม้ไปจีน ส่งเสริมให้เปลี่ยนไปขนส่งสินค้าทางเรือมากขึ้น เพื่อลดความแออัดของด่านพรมแดนทางบก ขณะเดียวกันกระทรวงฯ มอบหมายให้ทูตพาณิชย์เร่งเจรจากับทางการจีนให้อำนวยความสะดวกการขนส่งทางบกให้เป็นไปอย่างคล่องตัว 2) ฟื้นฟูตลาดซาอุดีอาระเบีย นำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงาน SAUDI FOOD EXPO พร้อมสร้างการเจรจาจับคู่ธุรกิจ อีกทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทยร่วมกับซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในซาอุดีอาระเบีย เช่น ข้าว อาหารฮาลาล ผลไม้3) ส่งเสริมการค้าที่มีกระบวนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงบริบททางการค้าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยเฉพาะการค้ากับสหภาพยุโรป 4) เร่งรัดการเจรจาจัดทำ FTA และ Mini-FTA เพื่อเพิ่มโอกาสและขีดความสามารถทางการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการไทย และกระชับความสัมพันธ์กับคู่ค้าทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี

 

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH