ส่งออกไทย 2564 เดือนพฤศจิกายน

ส่งออกไทย 2564 เดือน พ.ย. ขยายตัว 24% ทำสถิติ 2 หมื่นล้านเหรียญ ต่อเนื่องเดือนที่ 10

อัปเดตล่าสุด 21 ธ.ค. 2564
  • Share :
  • 1,266 Reads   

สถานการณ์ส่งออกในเดือนพฤศจิกายน 2564 ไทยยังคงรักษาตัวเลขส่งออกเหนือระดับ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ขยายตัว 24.7% เมี่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน

วันที่ 20 ธันวาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ตัวเลขการส่งออกเดือนพฤศจิกายน 2564 มีมูลค่า 23,647.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 783,425 ล้านบาท ขยายตัว 24.7% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยหากไม่นับรวมสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ตัวเลขส่งออกไทยเดือนนี้ขยายตัว ขยายตัว 18.9% การเติบโตของภาคส่งออกนี้ได้รับแรงหนุนจากการดำเนินงานตามแผนส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และการฟื้นตัวของภาคการค้าโลกที่เป็นไปอย่างแข็งแกร่ง ทั้งนี้ การส่งออก 11 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 16.4% เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัยขยายตัว 19.4% สะท้อนการเติบโตของภาคเศรษฐกิจจริง

กระทรวงพาณิชย์ได้สนับสนุนการส่งออกในหลายบทบาท เช่น การจัดกิจกรรมการส่งเสริมการส่งออกการเจรจาเพื่อเปิดตลาดใหม่ การจับคู่ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าในตลาดต่าง ๆ รวมทั้งแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกี่ยวข้องทำให้การส่งออกฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ องค์กรการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) คาดว่า การค้าโลกในปี 2564 จะมีมูลค่าสูงถึง 28 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 จากปี 2563 เป็นผลจากการฟื้นตัวของอุปสงค์โลกที่แข็งแกร่ง เนื่องจากหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และมีการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น

ประกอบกับภาคการผลิตมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจาก ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Global Manufacturing PMI) ที่ยังอยู่เหนือระดับ 50 เป็นเดือนที่ 17 โดยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในประเทศคู่ค้าสำคัญในเดือนพฤศจิกายน 2564 ต่างเร่งตัวขึ้นทั้งในสหรัฐฯ ยูโรโซน ญี่ปุ่น และจีน ล้วนเป็นปัจจัยหนุนให้การส่งออกเติบโตในระดับสูง

สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่

1) สินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง แห้ง กระป๋อง และแปรรูป ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา น้ำตาลทราย และอาหารสัตว์เลี้ยง

2) สินค้าที่ เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ เตาอบไมโครเวฟ ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์

3) สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์

4) สินค้าขั้นกลางหรือสินค้าวัตถุดิบ เช่น เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ยางยานพาหนะ แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

และ 5) สินค้าคงทนหรือสินค้าฟุ่มเฟือย ที่มีราคาสูง เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ยังขยายตัวได้ดี

สรุปมูลค่าการค้ารวม

มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนพฤศจิกายน 2564 การส่งออก มีมูลค่า 23,647.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 24.7 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 22,629.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 20.5 ดุลการค้าเกินดุล 1,018.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวมการส่งออก 11 เดือนแรกของปี 2564 การส่งออก มีมูลค่า 246,243.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 16.4 การนำเข้า มีมูลค่า 242,315.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 29.4 ดุลการค้า 11 เดือนแรก เกินดุล 3,927.3 ล้านเหรียญสหรัฐ

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 17.3 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง แห้ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 34.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ มาเลเซีย ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 48.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์) ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 23.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 14 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ อินเดีย ตุรกี และเกาหลีใต้) น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 74.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย กัมพูชา เกาหลีใต้ แทนซาเนีย และจีน) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป กลับมาขยายตัวร้อยละ 0.3 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น อียิปต์ ออสเตรเลีย ลิเบีย และแคนาดา) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 25.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 27 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ มาเลเซีย ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และอินเดีย) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ ข้าว หดตัวร้อยละ 8.7 กลับมาหดตัวอีกครั้ง (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน แอฟริกาใต้ และฮ่องกง แต่ขยายตัวดีในตลาดโมซัมบิก อังโกลา กานา อิรัก และเยเมน) ไก่แปรรูป หดตัวร้อยละ 0.7 หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ แต่ขยายตัวดีในตลาดเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และฮ่องกง) เครื่องดื่ม หดตัวร้อยละ 4.2 หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (หดตัวในตลาดกัมพูชา เมียนมา และจีน แต่ขยายตัวดีในตลาดเวียดนาม ลาว และสิงคโปร์) สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง หดตัวร้อยละ 77.2 หดตัวต่อเนื่อง 10 เดือน (หดตัวในตลาดฮ่องกง ลาว และกัมพูชา แต่ขยายตัวดีในตลาดเมียนมา) 11 เดือนแรกของปี 2564 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 15.1

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 23.1 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ขยายตัวร้อยละ 72.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 10 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินเดีย) รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 12.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 13 เดือน (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเม็กซิโก) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 19.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เนเธอร์แลนด์ มาเลเซีย และญี่ปุ่น) แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 26.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น จีน และฟิลิปปินส์) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ขยายตัวร้อยละ 8.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 10 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 24.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อินเดีย เยอรมนี สหราชอาณาจักร และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 21.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อินเดีย ฝรั่งเศส สิงคโปร์ และเบลเยี่ยม) เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ ขยายตัวร้อยละ 51.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เวียดนาม อินเดีย และ อินโดนีเซีย) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง หดตัวร้อยละ 2.3 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ออสเตรเลีย และเวียดนาม แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย) เครื่องซักผ้า เครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 10.6 หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ เวียดนาม ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย แต่ขยายตัวได้ดีในตลาดเกาหลีใต้ มาเลเซีย ชิลี และไต้หวัน) เครื่องตัดต่อและป้องกันวงจรไฟฟ้า หดตัวร้อยละ 6.4 หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง มาเลเซีย และเวียดนาม แต่ขยายตัวได้ดีในตลาดสหรัฐฯ อินโดนีเซีย และสิงคโปร์) 11 เดือนแรกของปี 2564 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 15.2

ตลาดส่งออกสำคัญ

การส่งออกไปยังตลาดสำคัญขยายตัวในเกณฑ์สูงเกือบทุกตลาด ตามอุปสงค์จากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับภาพรวมเศรษฐกิจการค้าโลกที่อยู่ในทิศทางฟื้นตัวอย่างชัดเจน

ภาพรวมการส่งออกไปกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุป ดังนี้ 1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 23.3 โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 20.5 จีน ร้อยละ 24.3 อาเซียน (5) ร้อยละ 55.1 CLMV ร้อยละ 10.0 และสหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 30.2 ขณะที่ ญี่ปุ่น หดตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.1 2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 26.0 ขยายตัวในตลาด เอเชียใต้ ร้อยละ 66.0 ทวีปออสเตรเลีย ร้อยละ 9.4 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 40.7 ทวีปแอฟริกา ร้อยละ 18.4 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 33.8 และรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ร้อยละ 27.3 และ 3) ตลาดอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 125.1

  • ตลาดสหรัฐอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 20.5 (ขยายตัวต่อเนื่อง 18 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เหล็กและผลิตภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่ 11 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 20.1
  • ตลาดจีน ขยายตัวร้อยละ 24.3 (ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เม็ดพลาสติก และทองแดง เป็นต้น ขณะที่ 11 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 25.9
  • ตลาดญี่ปุ่น หดตัวร้อยละ 0.1 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ โทรศัพท์และอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น ขณะที่ 11 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 10.4
  • ตลาดอาเซียน (5) ขยายตัวร้อยละ 55.1 (ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป อากาศยานและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องยนต์สันดาป และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่ 11 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 18.0
  • ตลาด CLMV ขยายตัวร้อยละ 10.0 (ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก อุปกรณ์กึ่งตัวนำ และเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์รักษาผิว เป็นต้น ขณะที่ 11 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 14.8
  • ตลาดสหภาพยุโรป (27) ขยายตัวร้อยละ 30.2 (ขยายตัวต่อเนื่อง 10 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ยางพารา และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่ 11 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 23.0
  • ตลาดเอเชียใต้ ขยายตัวร้อยละ 66.0 (ขยายตัวต่อเนื่อง 10 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก รถยนต์และส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ขณะที่ 11 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 56.5
  • ตลาดอินเดีย ขยายตัวร้อยละ 61.1 (ขยายตัวต่อเนื่อง 10 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์
    เม็ดพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ ทองแดง และผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เป็นต้น ขณะที่ 11 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 58.6
  • ตลาดทวีปออสเตรเลีย (25) กลับมาขยายตัวร้อยละ 9.4 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เหล็กและผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติก น้ำมันสำเร็จรูป และเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่ 11 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 12.2
  • ตลาดตะวันออกกลาง (15) ขยายตัวร้อยละ 40.7 (ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ข้าว เคมีภัณฑ์ และโทรศัพท์และอุปกรณ์ เป็นต้น ขณะที่ 11 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 20.5
  • ตลาดทวีปแอฟริกา (57) ขยายตัวร้อยละ 18.4 (ขยายตัวต่อเนื่อง 11 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เม็ดพลาสติก อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องยนต์สันดาป น้ำตาลทราย และรถยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่ 11 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 25.0
  • ตลาดลาตินอเมริกา (47) ขยายตัวร้อยละ 33.8 (ขยายตัวต่อเนื่อง 10 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาป เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และหม้อแปลงไฟฟ้า เป็นต้น ขณะที่ 11 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 37.9
  • ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ขยายตัวร้อยละ 27.3 (ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป และโทรศัพท์และอุปกรณ์ เป็นต้น ขณะที่ 11 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 29.7

การส่งออกปี 2564 และแนวโน้มปี 2565

การส่งออกทั้งปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 16.0 มีมูลค่าประมาณ 268,300 ล้านเหรียญสหรัฐ สร้างรายได้เข้าประเทศได้มากกว่า 8.5 ล้านล้านบาท จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจการค้าโลก การเร่งกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง และการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ ช่วยเพิ่มอุปสงค์ ส่งผลดีต่อการส่งออกตลอดทั้งปี สำหรับการส่งออกปี 2565 คาดว่าจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2564 ที่ร้อยละ 3.5 – 4.5 มีมูลค่าประมาณ 277,690.5 - 280,373.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีมูลค่าส่งออกสูงกว่าปี 2564 ประมาณ 9,390.5 – 12,073.5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การขยายตัวของเศรษฐกิจและการนำเข้าของประเทศคู่ค้า (2) ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง (3) ราคาน้ำมันดิบดูไบยังทรงตัวในระดับสูง (4) ราคาสินค้าวัตถุดิบที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมยังคงขยายตัว (5) จำนวนตู้คอนเทนเนอร์ และเรือขนส่งจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565 (6) การควบคุมไวรัสโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ และ (7) ความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 65

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH