ส่งออก พ.ค. ติดลบสูงสุดในรอบกว่า 10 ปี “โควิด-น้ำมัน-บาทแข็ง” กดดัน

ส่งออก พ.ค. ติดลบสูงสุดในรอบกว่า 10 ปี “โควิด-น้ำมัน-บาทแข็ง” กดดัน

อัปเดตล่าสุด 26 มิ.ย. 2563
  • Share :
  • 531 Reads   

พาณิชย์เผยส่งออกเดือนพฤษภาคม มีมูลค่า 16,278 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 22.50% ในรอบ 130 เดือน หรือกว่า 10 ปี ปัจจัยสำคัญหลักยังคงมาจากโควิด-19 ราคาน้ำมัน ค่าเงินบาทที่กระทบส่งออกไทย แนะต้องเร่งออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลิอ
 
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกไทยเดือนพฤษภาคม 2563 มีมูลค่า 16,278 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 22.50% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 130 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552

ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 13,583 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 34.41% ส่งผลให้ไทยมีการค้าเกินดุล 2,694 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนภาพรวมการส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 มีมูลค่า 97,898 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 3.71% การนำเข้ามีมูลค่า 88,808 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 11.64% โดยไทยได้ดุลการค้า 9,090 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับปัจจัยที่กระทบต่อการส่งออกไทย มาจากปัญหาของโรคโควิด-19 ที่ทำให้การค้าทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญ ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และเงินบาทที่กลับมาแข็งค่าอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบางอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบมาก แต่ไทยยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ยังประคองการส่งออกได้ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรยังขยายตัวที่ 22.7%

แต่อย่างไรก็ดี การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และการกระตุ้นเศรษฐกิจของนานาประเทศ เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนกาลังซื้อและความต้องการสินค้าไทยให้ฟื้นตัวในระยะข้างหน้า ส่วนการนำเข้าที่ยังติดลบแต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคไทยยังทำได้ดี เพราะได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วคือเมษายน-พฤษภาคม ทั้งนี้ประเมินว่าการส่งออกไทยปีนี้มีโอกาสที่จะติดลบมากกว่า 3%

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

นโยบายที่กระตุ้นการส่งออกของไทย

1. ต้องรักษาผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก ให้ผ่านพ้นช่วงนี้ที่อุปสงค์ยังไม่กลับมาเต็มที่ไว้ให้ได้ โดยมาตรการการเงินหลายอย่างควรจะยืดหยุ่นกว่านี้ ให้ผู้ประกอบการเข้าถึงได้ง่ายขึ้นมากขึ้น

2. ต้องหา partner ในภูมิภาค ที่เป็นประเทศที่ฟื้นตัวได้เร็ว มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน ประชาชนมีกำลังซื้อ และอยู่ไม่ไกลจากไทยนักเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ เช่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ โดยต้องดำเนินการดึงดูดเขาร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน และให้เข้ามาลงทุนด้วย สำหรับอินเดียมาตรการในประเทศยังเข้มงวดอยู่ แต่ก็เป็นประเทศที่มีศักยภาพ

3. ต้องเร่งขยายสร้างความเข้มแข็งของ supply chain ที่เริ่มเข้ามาในไทยเพื่อกระจายความเสี่ยง เช่น กลุ่ม smart devices และอุปกรณ์ รวมทั้งกลุ่มอาหารของไทยเองด้วย เพื่อให้ไทยเป็น Food Factory of the World และเป็นฐานการผลิตสินค้า new normal products นโยบายด้านการลงทุน เช่น EEC, BOI จะช่วยตรงนี้ได้ รวมทั้งมาตรการที่จะสร้างระบบนิเวศทางการค้าให้เข้มแข็งก็ต้องรีบดำเนินการ เช่น มาตรการด้านแรงงาน การฝึกทักษะแรงงาน การเคลื่อนย้ายคน และการลดขั้นตอนกฎระเบียบที่ไม่จำเป็น เป็นต้น
 
4. การสนับสนุนกลุ่มสินค้า ต้องเน้นที่กลุ่มที่ขายได้ในช่วงนี้ก่อน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค หรือสินค้าที่ใช้ในการทำงานอยู่บ้าน สินค้าไลฟ์สไตล์ เป็นต้น ส่วนสินค้าคงทนหรือราคาแพงอาจจะใช้เวลากว่าจะกลับมาฟื้นได้ โดยสินค้ากลุ่มอาหารควรเน้นกลุ่มที่มีราคาแพงเป็นพรีเมียม เช่น ทุเรียน ข้าวหอมมะลิ สินค้าสุขภาพ สินค้าสัตว์เลี้ยง เป็นต้น

5. รัฐต้องเร่งช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ และผู้ส่งออก เช่น จับคู่ให้กับสายการบินพาณิชย์ที่อาจมาใช้แทนการขนส่งทางเรือและทางถนนไปก่อน เป็นการเปลี่ยน mode of transport ส่วนผู้ส่งออก ก็ควรจับกลุ่มกันเพื่อเพิ่ม scale การส่งออก โดยใช้ประเทศที่ต้องการส่งออกไปเป็นหลัก ไม่ใช่เน้นสินค้ากลุ่มเดียวกัน เพื่อเร่งลดต้นทุน และแก้ปัญหาอุปสรรคทางการส่งออกโดยเร็ว

6. ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกต้องตระหนักเรื่องการประกันความเสี่ยง ส่วนรัฐต้องช่วยให้เข้าถึงได้มากขึ้นง่ายขึ้น

อ่านเพิ่มเติม: