ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม MPI ปี 2566 เดือน พ.ค. หดตัว 3.14%
สศอ. เผยดัชนี MPI เดือน พ.ค. 2566 หดตัว 3.14% ส่งสัญญาณชะลอลดลงจากเดือนก่อนหน้า อานิสงส์ท่องเที่ยวขยาย แนะอุตฯ สิ่งทอชูผ้าคุณสมบัติพิเศษ เพิ่มศักยภาพการส่งออก
วันที่ 30 มิถุนายน 2566 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤษภาคมปี 2566 อยู่ที่ระดับ 94.80 ลดลงร้อยละ 3.14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชี้การหดตัวเริ่มมีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อน หลังการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวเล็กน้อย รับการท่องเที่ยวฟื้น หนุนความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่ม และการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.54 พร้อมแนะอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มหันมาผลิตผ้าคุณสมบัติพิเศษ หวังเพิ่มศักยภาพการส่งออก
- ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2566 เดือน พ.ค. หดตัว 5% ลดต่อเนื่อง 3 เดือนติด
- อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า 2566 ไตรมาส 1 การผลิตหดตัวทั้งกลุ่มเหล็กทรงยาวและทรงแบน
- กกร. คงเป้า GDP ปี'66 ขยายตัว 3 - 3.5% ส่งออกติดลบ 1% ห่วงขึ้นค่าแรง 450 ดันเงินเฟ้อเพิ่ม 0.82%
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤษภาคม ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 94.80 ลดลงร้อยละ 3.14 โดยเป็นการปรับลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ขยายตัวร้อยละ 14.23 ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 60.20 และช่วง 5 เดือนแรก ปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 61.04 ส่งผลให้ดัชนี MPI 5 เดือนแรก ปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 96.36 ลดลงร้อยละ 4.49 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลต่อความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม อาทิ น้ำตาล เนื้อไก่แช่แข็งและแช่เย็น เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และเนื้อสัตว์ปีก เครื่องปรุงรส น้ำมันปาล์ม ผลิตภัณฑ์นม สุรา ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และกาแฟ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกจากการผลิตรถยนต์นั่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.1 และรถยนต์กระบะ 1 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9 จากการส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นในรถยนต์ทุกประเภท
สศอ. ได้คาดการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือนมิถุนายน ปี 2566 “ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง” โดยมีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวจากการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงเศรษฐกิจของคู่ค้าหลักอย่างประเทศจีนและญี่ปุ่นมีแนวโน้มการฟื้นตัว ขณะที่ การส่งออกที่หดตัวเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน ประกอบกับความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและงบประมาณปี 2567 อีกทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีโอกาสรุนแรงขึ้น ยังคงเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ ต้องติดตามปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะส่งผลทำให้ปริมาณฝนของประเทศไทยมีแนวโน้มจะต่ำกว่าค่าปกติ และมีผลต่อวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร
“สำหรับประเด็นที่น่าติดตามในช่วงนี้ คือ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งได้รับโอกาสจากวิกฤติโควิด-19 แม้ภาพรวมของการผลิตและการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะซบเซา แต่อุตสาหกรรมสิ่งทอชนิดพิเศษกลับได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ซึ่งมองว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ประกอบการจะปรับเปลี่ยนการดำเนินงาน โดยเจาะกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าสูงและมีโอกาสเติบโต เพื่อผลักดันให้ "ผ้าคุณสมบัติพิเศษ" ที่เป็นด้าย หรือผ้าที่มีคุณสมบัติกันน้ำ ทนไฟ และกรองเชื้อโรค เป็น "Product Champion" สามารถต่อยอดเป็นวัสดุและชิ้นส่วนประกอบที่สำคัญในอุปกรณ์ทางการแพทย์และสุขภาพอื่น ๆ ช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้า เน้นการใช้วัตถุดิบหรือสินค้าที่ผลิตในประเทศ และส่งเสริมนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม New S-Curve ทางด้าน Medical Technology ของประเทศไทย โดยมุ่งเน้นและผลักดันการผลิตสิ่งทอเทคนิคที่มีคุณสมบัติพิเศษตลอด Supply Chain เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มศักยภาพในการส่งออกให้กับอุตสาหกรรม สิ่งทอและเครื่องนุ่มห่มไทย” นางวรวรรณ กล่าว
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตในเดือนพฤษภาคม 2566 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
ยานยนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 17.54 จากรถปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็กและขนาดกลาง เป็นหลัก ตามการขยายตัวของตลาดส่งออก
เครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้งานทั่วไป (เครื่องปรับอากาศ) ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.57 เนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัดต่อเนื่องทั้งในประเทศและประเทศคู่ค้า ส่งผลให้มีความต้องการใช้สินค้ามากขึ้น
น้ำตาล ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 31.14 จากผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ เป็นหลัก เนื่องจากมีการทยอยปิดหีบตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา จึงทำให้สามารถละลายน้ำตาลทรายดิบได้เร็วขึ้น ประกอบกับผลผลิตน้ำตาลปีนี้มากกว่าปีก่อน
จักรยานยนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 22.11 เนื่องจากการขยายตัวของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก โดยตลาดในประเทศได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจในประเทศที่ขยายตัวตามอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการส่งออกเพิ่มขึ้นตามคำสั่งของประเทศคู่ค้า
พลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้น ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.98 จากผลิตภัณฑ์ Polyethylene resin, Ethylene และ Polypropylene resin เป็นหลัก เนื่องจากในปีก่อนมีการหยุดซ่อมบำรุงของผู้ผลิตบางราย และมีการขยายกำลังการผลิตของผู้ผลิตบางรายในปีนี้
#ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 2566 #ดัชนี mpi 2566 #ผลผลิตอุตสาหกรรม industrial production #การส่งออกอุตสาหกรรม #อุตสาหกรรมไทย #สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม #สศอ.
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- สรุปยอดขายรถยนต์ในไทย ปี 2565
- ครม. อนุมัติงบอุดหนุนรถ BEV 18,000 - 150,000 บาท/คัน
- ภาพรวมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของไทย
- 17 อุตสาหกรรมแนวโน้มเติบโตในปี 2566
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH