ส่งออกไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง ม.ค. 64 ขยายตัว 0.35%

ส่งออกไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง ม.ค. 64 ขยายตัว 0.35%

อัปเดตล่าสุด 24 ก.พ. 2564
  • Share :
  • 394 Reads   

♦ ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนมกราคม 2564 การส่งออกขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.35% ขณะที่การนำเข้าหดตัว 5.24% 

♦ การส่งออกมูลค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง ปัจจัยสำคัญจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และประสิทธิภาพของวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 เริ่มเห็นผลชัดเจน

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยการส่งออกของไทยเดือนมกราคม 2564 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนธันวาคมปีก่อน โดยมีมูลค่า 19,706.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 0.35 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 19,908.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 5.24 ดุลการค้าขาดดุล 202.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จะเห็นได้ว่าแม้จะยังมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่การส่งออกของไทยในเดือนมกราคมขยายตัว และมีมูลค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง (18,319 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งประสิทธิภาพของวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 เริ่มเห็นผลชัดเจน และมีการกระจายวัคซีนในวงกว้าง ส่งผลให้เกิดอุปสงค์และสร้างความเชื่อมั่นกลับมาได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธยุทธปัจจัย การส่งออกขยายตัวสูงถึงร้อยละ 7.57 ซึ่งสะท้อนการเติบโตจากภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector)

สินค้าที่ขยายตัวได้ดีแบ่งเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่

  1. สินค้าอาหาร ซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปีก่อน โดยเฉพาะผักและผลไม้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม อาหารสัตว์เลี้ยง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง และสิ่งปรุงรสอาหาร

  2. สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เช่น เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ และโทรศัพท์และอุปกรณ์

  3. สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ และถุงมือยาง เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกอย่างมากในช่วงนี้ และ

  4. กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญเริ่มกลับมาฟื้นตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาคการผลิตและการส่งออกของไทยในระยะถัดไป

ด้านตลาดส่งออกสำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และตะวันออกกลาง ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ตลาด CLMV พลิกกลับมาเป็นบวกในรอบ 10 เดือน แสดงถึงการค้าชายแดนที่เริ่มกลับมาเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม ตลาดอื่นๆ ที่มีสัดส่วนสำคัญต่อการส่งออกของไทย เช่น สหภาพยุโรป เอเชียใต้ และอาเซียน (5) ยังคงเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างมาก ทำให้การฟื้นตัวของการส่งออกในตลาดดังกล่าวเป็นไปอย่างช้า ๆ

แนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2563

การส่งออกของไทยระยะต่อไปน่าจะปรับตัวในทิศทางดีขึ้น สอดคล้องกับสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มมีความชัดเจน สะท้อนจาก (1) ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา (2) ความต้องการใช้น้ำมันของโลกที่เริ่มขยายตัว สะท้อนจากราคาน้ำมันเฉลี่ยที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงปลายปีที่แล้ว และกลับมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 (3) การกระจายวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพในหลายภูมิภาค ทำให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของคู่ค้าสูงขึ้น สำหรับแผนส่งเสริมการส่งออกในปี 2564 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) มีนโยบายสำคัญ อาทิ การส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร โดยเร่งผลักดันแผนยุทธศาสตร์ข้าวเพื่อให้ไทยเป็นผู้นำทั้งด้านคุณภาพและการตลาด สนับสนุนการส่งออกสินค้าฮาลาล เพื่อเจาะตลาดสินค้าอาหารประเทศมุสลิม ขณะเดียวกันเร่งแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้าต่าง ๆ อาทิ ปัญหาขาดแคลนตู้สินค้า เป็นต้น


อ่านเพิ่มเติม: