ส่งออกไทย ธ.ค. 63 เฮ!! ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือน
♦ ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนธันวาคม 2563 การส่งออกพลิกกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ที่ตัวเลข 4.71% และมีอัตราการเติบโตสูงสุดในรอบ 22 เดือน ขณะที่การนำเข้าขยายตัว 3.62%
♦ ภาพรวมการส่งออกทั้งปี 2563 (มกราคม–ธันวาคม) มีมูลค่า 231,468.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 6.01%
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยการส่งออกของไทยเดือนธันวาคม 2563 มีมูลค่า 20,082.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.71 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การนำเข้า มีมูลค่า 19,119.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 3.62 การค้าเกินดุล 963.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพรวมปี 2563 การส่งออกมีมูลค่า 231,468.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 6.01 ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 206,991.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 12.39 ส่งผลให้ทั้งปี 2563 การค้าเกินดุล 24,476.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนธันวาคม พลิกกลับมาเป็นบวกในรอบ 8 เดือน และมีอัตราการเติบโตสูงสุดในรอบ 22 เดือน แม้จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกสอง แต่หลายประเทศมีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น พร้อมทั้งประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เป็นบางพื้นที่ ทำให้ภาคการผลิตและการขนส่งยังดำเนินต่อไปได้ นอกจากนี้ ผลจากการระดมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง และการกระจายวัคซีนในหลายภูมิภาค ช่วยกระตุ้นอุปสงค์และสร้างความเชื่อมั่น ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกสามารถรักษาทิศทางการฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง
ในเดือนธันวาคม 2563 สินค้าส่งออกที่ขยายตัวได้ดีแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่
-
สินค้าอาหาร เช่น ผักและผลไม้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม อาหารสัตว์เลี้ยง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง และสิ่งปรุงรสอาหาร
-
สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เช่น เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ และโทรศัพท์และอุปกรณ์
-
สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ รวมถึงถุงมือยาง ยังเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกอย่างมากในช่วงนี้
นอกจากสินค้า 3 กลุ่มหลักที่มีการเติบโตต่อเนื่องแล้ว ยังมีกลุ่มสินค้าที่มีการกลับมาขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อาทิ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิต เช่น เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รวมไปถึงสินค้าคงทนที่มีราคาสูงอย่างรถยนต์ ซึ่งคาดว่าจะเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการผลิตโลก และซัพพลายเชนของสินค้าส่งออกไทย
ด้านตลาดส่งออกสำคัญ อาทิ ตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่หลายตลาดในเอเชียตะวันออกกลับมาฟื้นตัวเป็นบวกอีกครั้ง โดยเฉพาะตลาดจีน ฮ่องกง ไต้หวัน และตลาดเอเชียใต้อย่างอินเดีย รวมถึงตลาดอื่น ๆ ที่มีสัดส่วนสำคัญกับการส่งออกไทย ต่างมีอัตราการหดตัวที่ลดลงอย่างมากในเดือนนี้ เช่น ตลาดสหภาพยุโรป และ CLMV ที่แม้จะยังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 แต่ยังรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดี
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม กลับมาขยายตัวร้อยละ 6.7 (YoY) ในรอบ 8 เดือน สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่
- ถุงมือยาง ขยายตัวร้อยละ 220.3 ขยายตัว 13 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน)
- เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 33.9 ขยายตัว 6 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในหลายตลาด อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์)
- เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ขยายตัวร้อยละ 18.3 ขยายตัว 4 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เยอรมนี จีน และเบลเยียม)
- เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ขยายตัวร้อยละ 15.5 ขยายตัว 7 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีนมาเลเซีย ออสเตรเลีย และบราซิล)
- เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ กลับมาขยายตัวร้อยละ 15.1 ในรอบ 1 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์และญี่ปุ่น)
- เครื่องใช้ไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 13.2 ขยายตัว 5 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน เวียดนามและออสเตรเลีย)
- เคมีภัณฑ์กลับมาขยายตัวร้อยละ 12.2 ในรอบ 1 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน เวียดนาม ญี่ปุ่น อินเดีย และเกาหลีใต้)
- เม็ดพลาสติก กลับมาขยายตัวร้อยละ 8.6 ในรอบ 1 เดือน (ขยายตัวในตลาดเวียดนาม ญี่ปุ่น อินเดีย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย)
- แผงวงจรไฟฟ้า กลับมาขยายตัวร้อยละ 7.3 ในรอบ 1 เดือน (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ สหรัฐฯ และเกาหลีใต้)
- รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 3.2 ขยายตัว 2 เดือนต่อเนื่อง (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย และจีน)
ตลอดทั้งปี 2563 สินค้าอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 5.6 ได้แก่
- ทองคำ หดตัวร้อยละ 21.7 หดตัว 3 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวในตลาดกัมพูชา และเวียดนาม แต่ขยายตัวได้ดีในตลาดสิงคโปร์ ออสเตรเลีย และลาว)
- น้ำมันสำเร็จรูป หดตัวร้อยละ 16.6 หดตัว 10 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวแทบทุกตลาด อาทิ กัมพูชา สิงคโปร์ มาเลเซีย และลาว แต่ขยายตัวได้ดีในตลาดเวียดนาม และอินโดนีเซีย)
- อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ หดตัวร้อยละ 5.8 หดตัว 11 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวในตลาดเยอรมนี ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ แต่ขยายตัวได้ดีในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง และออสเตรเลีย) ยางยานพาหนะ กลับมาหดตัวร้อยละ 2.8 ในรอบ 5 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และมาเลเซีย แต่ขยายตัวได้ดีในตลาดออสเตรเลีย เวียดนาม และเกาหลีใต้)
ตลาดส่งออกสำคัญ
การส่งออกไปตลาดสำคัญขยายตัวตามอุปสงค์จากประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลก ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ ดังนี้ 1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 10.4 ตามการขยายตัวสูงต่อเนื่องของการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ที่ร้อยละ 15.7 การขยายตัวต่อเนื่องของการส่งออกไปญี่ปุ่นที่ร้อยละ 14.8 และการหดตัวน้อยลงของการส่งออกไปสหภาพยุโรป (15) ที่หดตัวร้อยละ 2.4 2) ตลาดศักยภาพสูง ขยายตัวร้อยละ 2.6 จากการส่งออกไปตลาดจีน เอเชียใต้ และอาเซียน (5) ขยายตัวร้อยละ 7.2 ร้อยละ 14.9 และร้อยละ 0.8 ตามลำดับ ขณะที่ CLMV หดตัวร้อยละ 6.3 และ 3) ตลาดศักยภาพระดับรองขยายตัวร้อยละ 1.5 ตามการขยายตัวต่อเนื่องของส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย (25) ร้อยละ 13.5 และตะวันออกกลาง (15) ร้อยละ 0.1 ขณะที่การส่งออกไปลาตินอเมริกา ทวีปแอฟริกา และรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS หดตัวร้อยละ 8.8 ร้อยละ 3.2 และร้อยละ 16.9 ตามลำดับ
- ตลาดสหรัฐอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 15.7 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ ผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ และหม้อแปลงไฟฟ้าฯ เป็นต้น รวมทั้งปี 2563 ขยายตัวร้อยละ 9.6
- ตลาดจีน กลับมาขยายตัวร้อยละ 7.2 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ ผลไม้สดแช่แข็งและแห้งฯ และยางพารา เป็นต้น รวมทั้งปี 2563 ขยายตัวร้อยละ 2.0
- ตลาดญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 14.8 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ โทรศัพท์และอุปกรณ์ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องจักรกลฯ เป็นต้น รวมทั้งปี 2563 หดตัวร้อยละ 6.7
- ตลาดสหภาพยุโรป (15) หดตัวร้อยละ 2.4 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป และเครื่องยนต์สันดาปฯ เป็นต้น ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ และหม้อแปลงไฟฟ้าฯ เป็นต้น รวมทั้งปี 2563 หดตัวร้อยละ 12.7
- ตลาดอาเซียน (5) ขยายตัวร้อยละ 0.8 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อากาศยานและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ เครื่องตัดต่อและป้องกันวงจรไฟฟ้า และเครื่องจักรกลฯ เป็นต้น รวมทั้งปี 2563 หดตัวร้อยละ 12.2
- ตลาด CLMV หดตัวร้อยละ 6.3 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องดื่ม น้ำตาลทราย น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องยนต์สันดาปฯ และเครื่องปรับอากาศฯ เป็นต้น ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์เป็นต้น รวมทั้งปี 2563 หดตัวร้อยละ 11.1
- ตลาดเอเชียใต้ขยายตัวร้อยละ 14.9 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เม็ดพลาสติก รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปฯ เครื่องจักรกลฯ และเครื่องตัดต่อและป้องกันวงจรไฟฟ้า เป็นต้น รวมทั้งปี 2563 หดตัวร้อยละ 23.3
- ตลาดอินเดีย ขยายตัวร้อยละ 14.5 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เม็ดพลาสติก เครื่องยนต์สันดาปฯ เคมีภัณฑ์ เหล็กและผลิตภัณฑ์ และ โทรทัศน์และส่วนประกอบ เป็นต้น รวมทั้งปี 2563 หดตัวร้อยละ 25.2
- ตลาดทวีปออสเตรเลีย (25) ขยายตัวร้อยละ 13.5 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศฯ เม็ดพลาสติก และเหล็กและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น รวมทั้งปี 2563 หดตัวร้อยละ 7.6 ตลาดตะวันออกกลาง (15) ขยายตัวร้อยละ 0.1 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ตู้เย็นและส่วนประกอบฯ และผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เป็นต้น รวมทั้งปี 2563 หดตัวร้อยละ 13.0
- ตลาดลาตินอเมริกา หดตัวร้อยละ 8.8 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลฯ เครื่องยนต์สันดาปฯ และเครื่องปรับอากาศฯ เป็นต้น ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบฯ ยางพารา และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น รวมทั้งปี 2563 หดตัวร้อยละ 19.0
- ตลาดทวีปแอฟริกา หดตัวร้อยละ 3.2 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ อาหารทะเลแปรรูปฯ และเครื่องจักรกลฯ เป็นต้น ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ข้าว ผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เป็นต้น รวมทั้งปี 2563 หดตัวร้อยละ 19.4
แนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2564
การส่งออกไทยได้รับปัจจัยบวกจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกในปี 2564 จะเติบโตที่ร้อยละ 4.0 เนื่องจากได้แรงหนุนจากการกระจายวัคซีน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศที่ช่วยให้ประเทศคู่ค้ามีกำลังซื้อมากขึ้น ประกอบกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะกลับมายึดถือตามกติกาของ WTO จะช่วยให้การแก้ปัญหาความขัดแย้งจากสงครามทางการค้ามีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น รวมถึงกลุ่มความตกลง RCEP ที่จะมีผลบังคับใช้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ก็เป็นที่คาดหมายว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าของประเทศสมาชิกรวมถึงไทย
ขณะที่ปัจจัยลบต่อการส่งออก ได้แก่ ค่าเงินบาทที่ยังอยู่ในทิศทางแข็งค่าขึ้นเทียบกับสกุลเงินของคู่แข่งในภูมิภาค ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันสำหรับสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่อราคา รวมถึงอุปสรรคด้านการขนส่งสินค้าจากการขาดแคลนตู้สินค้า ทำให้ผู้ส่งออกมีภาระต้นทุนด้านโลจิสติกส์เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว และอุปสรรคในการเจรจาความตกลงการค้า อาทิ CPTPP ซึ่งไทยยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ทำให้สินค้าส่งออกของไทยในอนาคต อาจมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียแต้มต่อด้านภาษีนำเข้า และเสียเปรียบคู่แข่งขันในภูมิภาคเดียวกัน
สำหรับปี 2564 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้เร่งขับเคลื่อนแผนส่งเสริมการส่งออกในปี 2564 ตามนโยบาย“ตลาดนำการผลิต” เช่น การเจาะตลาดเมืองรอง การจัดแสดงสินค้าทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ การจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจ โดยเฉพาะตลาดจีนที่กระทรวงพาณิชย์มีแผนส่งเสริมการขายสินค้าผลไม้ใน 13 เมืองสำคัญ และขณะเดียวกัน ตลาดอื่นในอาเซียนจะมีการจัดงาน Top Thai Brand ควบคู่ไปกับงาน Mini Thailand Week ในเมืองรองของอาเซียนอีก 8 แห่ง พร้อมเน้นย้ำให้กระทรวงพาณิชย์ปรับแผนการทำงานเพื่อรับมือโควิด-19 โดยจะพัฒนาผู้ประกอบการ และเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นสินค้าไทยให้เป็นสินค้าปลอดโควิด-19 เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับการส่งออกสินค้าไทยในอนาคต
อ่านเพิ่มเติม:
- ส่งออกไทย พ.ย. 63 ฟื้นต่อ ตลาดญี่ปุ่นขยายตัวครั้งแรกในรอบ 7 เดือน
- เอกชน ชี้ส่งออกไทยปี 63 ติดลบหนักสุดในรอบ 10 ปี
- ไทยมี FTA 18 ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP