ต่างชาติลงทุนไทย 2565 กว่า 1.28 แสนล้าน เพิ่มขึ้น 56% 'ญี่ปุ่น' นำโด่ง
กรมพัฒน์เผย ปี 2565 ต่างชาติแห่ลงทุนในไทย 128,774 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 กว่า 46,000 ล้านบาท หรือ 56% ญี่ปุ่นลงทุนสูงสุด 39,515 ล้านบาท ตามด้วยสิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ตัวเลขการจ้างงานคนไทยลดลงอยู่ที่ราว 5,200 คน
วันที่ 20 มกราคม 2566 นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (นายทศพล ทังสุบุตร) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รายงานให้ทราบว่า ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ตลอดปี 2565 ได้อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 583 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว แบ่งเป็น ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ จำนวน 218 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ จำนวน 365 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 128,774 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 5,253 คน ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 151 ราย (ร้อยละ 26) เงินลงทุน 39,515 ล้านบาท สิงคโปร์ 98 ราย (ร้อยละ 17) เงินลงทุน 15,893 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา 71 ราย (ร้อยละ 12) เงินลงทุน 3,418 ล้านบาท ฮ่องกง 40 ราย (ร้อยละ 7) เงินลงทุน 18,188 ล้านบาท และ จีน 31 ราย (ร้อยละ 5) เงินลงทุน 23,306 ล้านบาท
หากเปรียบเทียบกับปี 2564 พบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้น 13 ราย คิดเป็นร้อยละ 2 (ปี 2565 อนุญาต 583 ราย ปี 2564 อนุญาต 570 ราย) เม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 46,273 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 56 (ปี 2565 ลงทุน 128,774 ล้านบาท ปี 2564 ลงทุน 82,501 ล้านบาท) จ้างงานคนไทยลดลง 197 คน คิดเป็นร้อยละ 4 (ปี 2565 จ้างงาน 5,253 คน ปี 2564 จ้างงาน 5,450 คน) โดยปี 2564 ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสูงสุด คือ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และ สหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับปี 2565
โดยธุรกิจที่ได้รับอนุญาตในปี 2565 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ อาทิ บริการออกแบบ ก่อสร้าง ติดตั้ง และตรวจสอบระบบกักเก็บพลังงาน สำหรับโครงการโรงผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานสำหรับสนามบินอู่ตะเภา, บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย, บริการขุดลอก ถมทะเล และก่อสร้างม่านดักตะกอนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด, บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Electric Vehicle Charging Station) สำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า, บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษาแนะนำและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ เป็นต้น, บริการศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศด้วยระบบที่ทันสมัย บริการกิจการซอฟต์แวร์ประเภท Enterprise Software และ Digital Content
การลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ปี 2565 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 119 ราย คิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด มูลค่าการลงทุน 52,879 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41 ของเงินลงทุนทั้งหมด โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 47 ราย ลงทุน 24,738 ล้านบาท จีน 11 ราย ลงทุน 11,444 ล้านบาท และ สิงคโปร์ 11 ราย ลงทุน 5,005 ล้านบาท ธุรกิจที่ลงทุน อาทิ 1) บริการศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศด้วยระบบที่ทันสมัย 2) บริการ พัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นการออกแบบและพัฒนาระบบบริหารจัดการควบคุมการผลิตในโรงงาน และระบบบริหารจัดการสินค้าคงคลัง และ 3) บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชัน การอัพเกรดซอฟต์แวร์ต่างๆ เป็นต้น
ทั้งนี้ เฉพาะเดือนธันวาคม 2565 อนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจในประเทศไทย 53 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 20 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 33 ราย เงินลงทุนทั้งสิ้น 16,308 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 245 คน ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และจีน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนแก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีนิวเมติกส์ของเครื่องแขนกลทุ่นแรงสำหรับเคลื่อนย้ายและขนย้ายวัตถุองค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการทดสอบความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Compatibility : EMC) องค์ความรู้เกี่ยวกับการบำรุงรักษาอุปกรณ์ของเครื่องกังหันก๊าซ เป็นต้น
สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่
1. บริการทางวิศวกรรม โดยการทดสอบความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า การตรวจสอบและรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
2. บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษาแนะนำและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ เป็นต้น
3. บริการ Cloud Services โดยเป็นการให้บริการในด้านซอฟต์แวร์ (Software-AS-A-Service) การให้บริการด้านแพลตฟอร์ม (Platform-AS-A-Service) และ การให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Infrastructure-AS-A-Service)
4. บริการกิจการซอฟต์แวร์ประเภท Enterprise Software และ Digital Content
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- สรุปยอดขายรถยนต์ ครึ่งปีแรก 2022
- ภาพรวมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของไทย
- สถานการณ์ชิปขาดตลาด 2022 จะสิ้นสุดเมื่อไหร่?
- 12 เทรนด์เทคโนโลยีมาแรงแห่งปี 2022
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH