ส่งออกไทย เดือน ก.ค. 63 ฟื้นตัว หลังผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว

ส่งออกไทย ส.ค. 63 ฟื้นตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

อัปเดตล่าสุด 25 ก.ย. 2563
  • Share :
  • 417 Reads   

พาณิชย์ เผย ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนสิงหาคม 2563 การส่งออก หดตัว 7.94% ดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่ภาพรวม 8 เดือนแรก หดตัว 7.75% 

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยการส่งออกของไทยเดือนสิงหาคม 2563 มีมูลค่า 20,212.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 7.94 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 15,862.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 19.68 การค้าเกินดุล 4,349.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพรวม 8 เดือนแรกของปี 2563 การส่งออก มีมูลค่า 153,374.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 7.75 ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 134,981.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 15.31 ส่งผลให้ 8 เดือนแรกของปี 2563 การค้าเกินดุล 18,393.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น ล่าสุด องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2563 ว่าจะหดตัวเพียงร้อยละ 4.5 ดีขึ้นกว่าประมาณการครั้งก่อนหน้าที่คาดว่าจะหดตัวถึงร้อยละ 6.0 โดยภาคการจ้างงานของสหรัฐฯ มีการฟื้นตัวดี และภาคการผลิตจีนกลับมาเติบโตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเศรษฐกิจทั่วโลกต่างมีทิศทางดีขึ้น จากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และมีมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องจากธนาคารกลางทั่วโลก ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของไทยเดือนสิงหาคม 2563 กลับมาแตะเหนือระดับ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นการฟื้นตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2

สินค้าที่ขยายตัวได้ดีแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

  1. สินค้าอาหาร เช่น ข้าวพรีเมียม ข้าวกล้อง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม ทูน่ากระป๋อง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง สิ่งปรุงรสอาหาร และอาหารสัตว์เลี้ยง

  2. สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ยังคงขยายตัว เช่น เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า และโซลาร์เซลล์

  3. สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น ถุงมือยาง ซึ่งขยายตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่มีการแพร่ระบาด เป็นต้นมา โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศคู่ค้าที่มีอัตราการแพร่ระบาดสูงอย่างสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ การส่งออกทองคำขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องจากปัจจัยด้านราคา ตามความต้องการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย 

ด้านตลาดส่งออก ตลาดสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่หลายตลาดกลับมาขยายตัวหลังการหดตัวในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะสิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ ฮ่องกง และเมียนมา รวมทั้งตลาดอื่นๆ ที่มีสัดส่วนสำคัญกับการส่งออกไทย ล้วนมีอัตราการหดตัวที่ลดลงมากในเดือนนี้ เช่น ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินเดีย สหราชอาณาจักร และเยอรมนี สะท้อนภาพรวมการค้าโลกที่เริ่มฟื้นตัว และส่งสัญญาณที่ดีต่อการส่งออกของไทย


แนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2563

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวต่อว่า การส่งออกของไทยคาดว่าจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ประเทศคู่ค้ายังสามารถควบคุมได้ และเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ประกอบกับปัจจัยบวกข่าวความสำเร็จในการสร้างวัคซีนต้านโควิด-19ในหลายประเทศ ทำให้บรรยากาศการค้าเริ่มกลับมาคึกคัก อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์มองว่าการผลิตวัคซีนในปริมาณมากอาจไม่สามารถทำได้ในปีนี้ ประกอบกับกำลังซื้อที่หายไปในช่วงการระบาดยังไม่กลับมา ทำให้ผู้ส่งออกในบางอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ ปิโตรเคมี และอิเล็กทรอนิกส์ มีความกังวลเกี่ยวกับยอดการส่งออกในปีนี้ อย่างไรก็ดี สินค้าอาหารแปรรูปยังเป็นที่ต้องการในหลายประเทศจากความไม่แน่นอนดังกล่าว ทั้งนี้ ปัจจัยลบที่อาจส่งผลต่อการส่งออกของไทยในช่วงถัดไป ได้แก่ การแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม ส่งผลให้การค้าชายแดนเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวมากขึ้น

สำหรับการส่งเสริมการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2563 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) เปิดโครงการปั้นซีอีโอ Gen Z มีเป้าหมายสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ 12,000 คน เป็นกำลังสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจยุคนิวนอร์มอล ด้านการค้าระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้เข้าสู่เวทีโลกมากขึ้น สำหรับมาตรการระบายสินค้าเกษตรในประเทศในเดือนสิงหาคม ได้เริ่มเปิดศูนย์ส่งออกผลไม้เบ็ดเสร็จ (One stop Fruit Export Center หรือ OSFEC) หวังช่วยลดขั้นตอนส่งออก ด้วยบริการเบ็ดเสร็จจุดเดียว (One Stop Service) โดยใช้จังหวัดชุมพรเป็นต้นแบบ และจะขยายไปสู่จังหวัดอื่นๆ เช่น ราชบุรี ปทุมธานี นครศรีธรรมราช และจันทบุรี เป็นต้น


อ่านเพิ่มเติม: