ยอดขายรถยนต์มาสด้า 2564 ในไทย ทะลุ 35,000 คัน ครองส่วนแบ่งตลาดเกือบ 5%
มาสด้าเผยภาพรวมธุรกิจรถยนต์ 2564 ในไทย ยอดขายพุ่งทะลุ 35,000 คัน ครองส่วนแบ่งการตลาดเกือบ 5% โดยรถยนต์มาสด้า 2 ครองความนิยมสูงสุด ตามด้วย CX-Series พร้อมเตรียมเปิดตัวรถรุ่นใหม่ ตั้งเป้ายอดขายปีนี้เพิ่มขึ้น 10% และครองส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 5%
- มาสด้าฝ่ามรสุมโควิด ครึ่งปีแรกส่งมอบ 19,000 คัน เตรียมเสริมทัพ เก๋ง-เอสยูวี
- ยอดขายรถยนต์ 2564 เดือน พ.ย. 71,716 คัน สูงสุดรอบ 8 เดือน
- มาสด้า ลุยต่อ Sustainable Zoom-Zoom 2030 ประกาศแผนพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคต 5 แกนหลัก
มาสด้าเผยภาพรวมธุรกิจรถยนต์ในประเทศไทย ด้วยยอดขายปี 2564 พุ่งทะลุ 35,000 คัน ครองส่วนแบ่งการตลาดเกือบ 5% โดยรถยนต์นั่งมาสด้า2 ยังคงครองความนิยมสูงสุด ตามด้วยรถตระกูล CX-Series ที่เพิ่งส่งลงตลาดถึง 3 รุ่นรวด ในไตรมาสสุดท้ายของปี ส่งผลให้ยอดขายเดือนธันวาคมพุ่งสูงถึง 3,750 คัน โดยเฉพาะ CX-30 และ CX-3 ที่มียอดขายเติบโตทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เปิดตัวแนะนำสู่ตลาด ที่สำคัญมาสด้าพร้อมเดินหน้าต่อทันทีต้อนรับปีเสือ เตรียมเปิดตัวรถรุ่นใหม่ครบทุกเซ็กเมนต์หวังกระตุ้นตลาดตั้งแต่ต้นปี โดยเริ่มจาก CX-3 ตามมาด้วย Mazda2 และยังเตรียมเปิดตัวแนะนำมาสด้า CX-30 และต่อด้วย Mazda3 ในไตรมาสแรกนี้ เตรียมยกระดับมาตรฐานและคุณภาพด้านการบริการหลังการขายให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ พร้อมตั้งเป้ายอดขายปีนี้มากกว่า 40,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 10% และครองส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 5%
วันที่ 17 มกราคม 2565 นายชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปี 2564 ที่ผ่านมานับเป็นปีที่ท้าทายอย่างยิ่งต่อธุรกิจรถยนต์ เนื่องจากมีทั้งปัจจัยภายนอกและภายในที่เข้ามากระทบ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นปี และการขาดแคลนชิ้นส่วนประกอบเซมิคอนดักเตอร์ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก จึงทำให้อุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยต้องชะลอตัวลง แต่ด้วยมาตรการช่วยเหลือต่างๆ จากทางภาครัฐ และความร่วมแรงร่วมใจกันของพี่น้องชาวไทย จึงทำให้ธุรกิจต่างๆ เริ่มค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นและเดินหน้าต่อไปได้ในช่วงปลายปี ซึ่งทำให้ตัวเลขการจำหน่ายรถยนต์ที่เกิดขึ้น ลดลงเล็กน้อยตามที่ผู้เชี่ยวชาญได้คาดการณ์ไว้
สำหรับตลาดรถยนต์ของประเทศไทยในปี 2564 ยอดรวมสะสมของอุตสาหกรรมอยู่ที่ประมาณ 762,000 คัน (ตัวเลขประมาณการ) หรือลดลงเล็กน้อยเพียง 4% เช่นเดียวกับยอดการจำหน่ายรถยนต์มาสด้าที่เคยตั้งเป้าไว้ที่ 40,000 คัน แต่เนื่องจากเกิดการระบาดของโควิด-19 ขึ้นทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่เกิดการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ จึงทำให้แนวโน้มและทิศทางเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ แต่ท้ายที่สุดก็ยังสามารถคว้ายอดขายสะสมได้ถึง 35,385 คัน หรือลดลงเล็กน้อยเพียง 9.8% แต่ทั้งนี้แล้ว ก็ยังถือว่าเป็นจำนวนที่สูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียนและตลาดเกิดใหม่ โดยแบ่งออกเป็นรถยนต์นั่ง จำนวน 19,799 คัน ลดลง 20.2% รถอเนกประสงค์เอสยูวี จำนวน 14,225 คัน เพิ่มขึ้น 21.4% และรถปิกอัพ 1,361 คัน ลดลง 49.7 โดยยังคงรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ได้ที่ 4.6%
นายชาญชัย กล่าวเสริมว่า “การเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ รวมถึงการปรับโฉมเพื่อสร้างความสดใหม่ให้กับโปรดักซ์ทั้งรถยนต์นั่งและรถอเนกประสงค์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้เดือนธันวาคม 2564 มาสด้าสามารถทำยอดขายรวมได้สูงถึง 3,750 คัน (สูงสุดในรอบปีงบประมาณ 2564) โดยแบ่งออกเป็นรถอเนกประสงค์ ครอสโอเวอร์เอสยูวีมาสด้า CX-30 ที่ได้รับความนิยมสูงสุดตั้งแต่เปิดตัวแนะนำสู่ตลาด ถึงแม้จะมีคู่แข่งรอบด้านก็ยังยืนหยัดอย่างแข็งแกร่ง ด้วยจำนวน 1,255 คัน (สร้างสถิติยอดขายสูงสุดนับตั้งแต่เปิดตัว) ตามมาด้วยรถยนต์นั่งมาสด้า2 จำนวน 1,059 คัน และรุ่นที่กำลังร้อนแรงมากที่สุดหลังจากปรับโฉมที่มาพร้อมกับสีใหม่ แพลตทินั่ม ควอตซ์ คือมาสด้า CX-3 จำนวน 750 คัน (ทำสถิติยอดขายสูงสุดนับตั้งแต่เปิดตัว) รถยนต์นั่งมาสด้า3 จำนวน 137 คัน รถอเนกประสงค์ครอสโอเวอร์เอสยูวีที่เพิ่มทางเลือกแบบ 6 ที่นั่งในรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน ที่ตอบรับความต้องการของลูกค้าที่รอคอยได้อย่างลงตัว มาสด้า CX-8 จำนวน 192 คัน และมาสด้า CX-5 จำนวน 137 คัน ส่วนรถปิกอัพมาสด้า บีที-50 กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังไฟแนนซ์เริ่มผ่อนคลายมาตรการด้านเช่าซื้อ ด้วยตัวเลขจำนวน 211 คัน และสปอร์ตเปิดประทุน MX-5 จำนวน 1 คัน”
พร้อมกันนี้ นายชาญชัย ยังได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยในปี 2565 ว่า “มาสด้าคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมรถยนต์จะเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 5 – 10% แต่ทั้งนี้แล้วก็ขึ้นอยู่กับมาตรการส่งเสริมจากทางภาครัฐ อาทิ การส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว และราคาสินค้าการเกษตร ที่สำคัญยังคงต้องจับตาการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในระลอกใหม่ ว่าจะส่งผลกระทบมากน้อยแค่ไหนต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย เนื่องจากเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่คาดว่าตลาดรถยนต์จะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหลังจากไตรมาสแรกของปีนี้ อันเห็นได้จากยอดขายเดือนธันวาคมที่เติบโตขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นและความต้องการของลูกค้าต่อการซื้อรถยนต์ว่ายังคงมีอยู่ สำหรับมาสด้า คาดการณ์ไว้ว่าจะประสบความสำเร็จมากกว่าปีที่ผ่านมา พร้อมวางเป้ายอดขายเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10% หรือมากกว่า 40,000 คัน และครองส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 5%
นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานบริหารอาวุโส กล่าวเกี่ยวกับกลยุทธ์ด้านการตลาดว่า ในปีที่ผ่านมาถือว่ามาสด้าประสบความสำเร็จ สามารถประคับประคองธุรกิจและยอดขายให้เป็นไปตามเป้าหมายได้ แม้ว่าจะต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ มากมาย สิ่งสำคัญคือ รถยนต์ทุกรุ่นที่เปิดตัวและปรับโฉมใหม่นั้น ลูกค้าให้การตอบรับอย่างดีเยี่ยม ถึงแม้ว่าในช่วงครึ่งปีแรกจะไม่มีรถเก๋งหรือรถเอสยูวีลงสู้ศึกในตลาด แต่ในช่วงเดือนตุลาคม มาสด้าได้เริ่มเปิดตัวแนะนำ CX-5 และ CX-8 และตามมาด้วย CX-3 ในเดือนธันวาคม เกิดเสียงตอบรับจากลูกค้าอย่างล้นหลามต่อรถทั้งสามรุ่นดังกล่าว จึงทำให้ยอดขายเดือนธันวาคมพุ่งสูงถึง 3,750 คัน
“ด้านกลยุทธ์สำหรับปี 2565 มาสด้าจะยังคงเดินหน้าเต็มกำลัง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันและเตรียมรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่กำลังจะกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง โดยเฉพาะการขยายธุรกิจไปสู่ตลาดรถใช้แล้วผ่านโครงการ CPO หรือ Mazda Certified Pre-Owned ที่ผ่านมาตรฐานและการรับประกันคุณภาพจากมาสด้า ซึ่งในปีนี้ตั้งเป้าหมายเปิด 9 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ ควบคู่ไปกับให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีด้านผลิตภัณฑ์ ด้านการตลาด การขายและการบริการ รวมถึงการขยายเครือข่ายผู้จำหน่าย เพื่อให้พร้อมรองรับต่อปริมาณลูกค้ามาสด้าที่เพิ่มขึ้น และสอดรับกับพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ มาสด้าจะยังคงเน้นกลยุทธ์การตลาดออนไลน์ เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในยุคดิจิทัลมากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน” นายธีร์ กล่าวเสริม
สรุปยอดจำหน่ายรถยนต์มาสด้า ประจำปี 2564 เปรียบเทียบกับปี 2563
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- เทรนด์การทำงานในอนาคต หลังไทยติดโควิด นานเกือบสองปี!
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH