ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม 2566 กรกฎาคม

ดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯ ก.ค. 66 ต่ำสุดรอบ 10 เดือน วอนเร่งตั้งรัฐบาล แก้เศรษฐกิจเร่งด่วน

อัปเดตล่าสุด 16 ส.ค. 2566
  • Share :
  • 30,905 Reads   

ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม เดือนกรกฎาคม 2566 อยู่ที่ 92.3 ลดลงจากระดับ 94.1 ในเดือนมิถุนายน ค่าดัชนีฯต่ำสุดในรอบ 10 เดือน ปัญหาหนี้ครัวเรือนและค่าครองชีพสูง ฉุดความต้องการบริโภคสินค้าอุตสาหกรรมลดลง

วันที่ 16 สิงหาคม 2566 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  และนายพิภพ โชควัฒนา กรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมเปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 92.3 ปรับตัวลดลง จาก 94.1 ในเดือนมิถุนายน และค่าดัชนีฯต่ำสุดในรอบ 10 เดือน เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของค่าดัชนีฯ พบว่าปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ เนื่องจากภาคการผลิตและอุปสงค์สินค้าชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยเสี่ยงในประเทศมาจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่และค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้กำลังซื้อของครัวเรือนอ่อนแอลง ส่งผลต่อความต้องการบริโภคสินค้าอุตสาหกรรมลดลง 

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางขาขึ้น ทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น นอกจากนี้สถานการณ์ทางการเมืองยังมีความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน สำหรับปัจจัยเสี่ยงนอกประเทศมาจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบางจากอุปสงค์ในตลาดโลกลดลง ทำให้การส่งออกส่งสัญญาณชะลอตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 ขณะที่เศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวต่ำกว่าคาด อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ช่วยพยุงการบริโภคและการใช้จ่ายในประเทศ

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 100.2 ปรับตัวลดลง จาก 102.1 ในเดือนมิถุนายน เนื่องจากผู้ประกอบการกังวลต่อความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการจัดทำงบประมาณภาครัฐ ตลอดจนขาดความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาทิ ราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้าและค่าจ้างแรงงาน เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจการ ขณะที่สภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง

 

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 

1.  เร่งจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วและออกนโยบายฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ

2.  เร่งออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากภาระต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินและลดความเสี่ยงการเป็นหนี้เสีย (NPL)

3.  ขอให้ใช้กลไกของทูตพาณิชย์ในการเจรจาเร่งจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) และลดปัญหาทั้งอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers: NTBs) และมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี(Non-Tariff Measures: NTMs) รวมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าแบบมุ่งเป้าไปยังกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพ เช่น กลุ่ม GCC, ลาตินอเมริกา,  เอเชียใต้ เป็นต้น เพื่อช่วยขยายโอกาสทางการค้าและสนับสนุนภาคการส่งออก

4.  ขอให้ภาครัฐเร่งดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะโครงการลงทุนต่างๆ ที่ยังค้างท่อ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ส.อ.ท. ได้ทำการรวบรวมข้อมูลผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม และข้อมูลตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมจากหน่วยงานต่างๆ ย้อนหลัง 3 ปี จัดทำเป็น Dashboard เผยแพร่ในเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม Industry Data Space (iDS) ของ ส.อ.ท. เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ โดยสามารถเข้าไปใช้บริการข้อมูลดังกล่าวได้ที่ www.fti.or.th/ids 

 

อ่านต่อ:

 

#ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม #ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม #อุตสาหกรรมไทย #COVID19 #SME #สถานประกอบการ #สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH