ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2564 เดือนกรกฎาคม

ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2564 เดือน ก.ค. เพิ่มขึ้น 5%

อัปเดตล่าสุด 11 ส.ค. 2564
  • Share :
  • 598 Reads   

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสรุปรายงานดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไทย เดือนกรกฎาคม 2564 เพิ่มขึ้น 5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เฉลี่ย 7 เดือน (ม.ค.- ก.ค.) เพิ่มขึ้น 3.3%

ดัชนีราคาผู้ผลิต​ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) เดือนกรกฎาคม 2564 (ปี 2558 = 100) เท่ากับ 102.2 เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2563 สูงขึ้นร้อยละ 5.0 (YoY) เป็นผลจากการสูงขึ้นของราคาสินค้า ประกอบด้วย

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 5.6 โดยมีสาเหตุหลักจากราคาวัตถุดิบและราคาตลาดโลกสูงขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทอ่อนค่า ขณะที่ความต้องการยังมีอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะตลาดส่งออกหลัก จากอัตราการได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพิ่มขึ้น และการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายประเทศเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ กลุ่มสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก โลหะขั้นมูลฐาน ผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ
  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 10.7 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และสินแร่โลหะ ตามภาวะตลาดโลก 
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ลดลงร้อยละ 0.4 เป็นผลจากสินค้าเกษตรกรรมเป็นสำคัญ อาทิ ข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และไม้ผล เนื่องจากความต้องการทั้งในและต่างประเทศชะลอตัว ประกอบกับปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าปีก่อน

ขณะที่ ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) พบว่าดัชนีหมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 1.3 11.8 และ 4.7 ตามลำดับ โดยมีสินค้าสำคัญในห่วงโซ่อุปทานที่ราคาปรับสูงขึ้นตามวัตถุดิบ ได้แก่ ผลปาล์มสด – น้ำมันปาล์มดิบ – น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ น้ำยางสด/ยางแผ่นดิบ – ยางแผ่นรมควัน/ยางแท่ง มันสำปะหลังสด – มันเส้น/มันอัดเม็ด/แป้งมันสำปะหลัง เนื่องจากความต้องการของตลาดที่มีอย่างต่อเนื่อง

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2564 เดือนกรกฎาคม เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 5.0 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 5.6 จากสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, 95 น้ำมันเตา น้ำมันเครื่องบิน และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก และปุ๋ยเคมี กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ ไก่สด กุ้งแช่แข็ง ปลาป่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย กากน้ำตาล และอาหารสัตว์ กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง ถุงมือยาง แผ่นฟิล์มพลาสติก ถุงพลาสติก และบรรจุภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแผ่น เหล็กเส้น เหล็กฉาก ท่อเหล็ก และเหล็กลวด กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ ได้แก่ ประตูเหล็ก ตะปู/สกรู/น๊อต กลุ่มสิ่งทอ ได้แก่ เส้นใยสังเคราะห์ และผ้าใยสังเคราะห์ กลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ได้แก่ ไม้ยางพารา และไม้ไฟเบอร์บอร์ด กลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ เยื่อกระดาษ กล่องกระดาษ และกระดาษพิมพ์เขียน สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ทองคำ ตามราคาตลาดโลก กลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ได้แก่ รถยนต์นั่งต่ำกว่า 1,800 ซีซี จากการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์บางชิ้นส่วน กลุ่มเครื่องดื่ม ได้แก่ สุรากลั่น น้ำดื่ม และกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแร่อโลหะ ได้แก่ ท่อคอนกรีต คอนกรีตบล็อก คอนกรีตผสมเสร็จ จากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น   
  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง​ หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 10.7 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติเหลว และกลุ่มแร่ (สังกะสี ดีบุก เหล็ก วุลแฟรม) ตามภาวะตลาดโลก 
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ลดลงร้อยละ 0.4 จากการลดลงของสินค้าสำคัญ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กลุ่มไม้ผล ได้แก่ สับปะรด ทุเรียน มะม่วง มังคุด และเงาะ กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ มะพร้าวผล เนื่องจากความต้องการของตลาดชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงปัญหาด้านการขนส่ง ประกอบกับปริมาณน้ำเพียงพอและสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น สำหรับสินค้าที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ หัวมันสำปะหลังสด พืชผัก (มะนาว ถั่วฝักยาว บวบ มะระจีน ผักกาดหัว) กลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกรมีชีวิต ไข่ไก่ และไข่เป็ด เนื่องจากความต้องการของตลาดยังมีอย่างต่อเนื่อง ผลปาล์มสด เนื่องจากความต้องการใช้ด้านพลังงานเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปีก่อน ยางพารา (น้ำยางสด ยางแผ่นดิบ เศษยาง) เนื่องจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพิ่มขึ้นทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์และผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผลิตภัณฑ์จากประมง ได้แก่ ปลาทูสด ปลาทรายแดง ปลาสีกุน หอยแครง ปลาหมึก และกุ้งทะเล เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2564 เดือนกรกฎาคม เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.1 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.5 จากการสูงขึ้นของสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, 95 น้ำมันเครื่องบิน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) จากความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกเริ่มขยายตัว หลังจากการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ทองคำ ตามราคาตลาดโลก ส่วนสินค้าที่ราคาวัตถุดิบสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ น้ำมันปาล์ม มันเส้น มันอัดเม็ด แป้งมันสำปะหลัง กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแร่อโลหะ ได้แก่ คอนกรีตผสมเสร็จ ท่อคอนกรีต แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป กลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ได้แก่ ไม้ยางพารา ไม้ไฟเบอร์บอร์ด กลุ่มสิ่งทอ ได้แก่ เส้นใยสังเคราะห์ ผ้าใยสังเคราะห์ กลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ เยื่อกระดาษ กระดาษคร๊าฟท์ สำหรับสินค้าที่ผลิตเพื่อการส่งออกมีราคาสูงขึ้น เป็นผลจากค่าเงินบาทอ่อนค่า กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ น้ำตาลทราย กากน้ำตาล ไก่สด กุ้งแช่แข็ง น้ำสับปะรด สับปะรดกระป๋อง กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ ได้แก่ กุญแจ กลุ่มเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ได้แก่ กางเกงสตรี กางเกงชั้นในบุรุษ กางเกงชั้นในสตรี 
  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 3.1 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบและก๊าซธรรมชาติ ตามภาวะตลาดโลก
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ลดลงร้อยละ 3.6 จากการลดลงของสินค้าสำคัญ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว เนื่องจากความต้องการของตลาดชะลอตัว จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่น การปิดร้านอาหารและภัตตาคาร การห้ามนั่งรับประทานในร้าน ประกอบกับการคัดกรองแรงงานสำหรับขนส่งสินค้าต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง ส่งผลให้เกิดความล่าช้า พืชผัก (มะนาว ถั่วฝักยาว ผักกวางตุ้งกะหล่ำปลี ผักขึ้นฉ่าย ต้นหอม แตงกวา ผักบุ้ง) กลุ่มไม้ผล ได้แก่ (ทุเรียน ลำไย เงาะ องุ่น มังคุด) เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ประกอบกับเป็นช่วงฤดูกาลของผลไม้ ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ มะพร้าวผล เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น และยางพารา (น้ำยางข้น ยางแผ่นดิบ เศษยาง) เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการรับซื้อจากปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 และมีพนักงานติดเชื้อโควิด ส่งผลให้โรงงานบางแห่งต้องหยุดการผลิตชั่วคราว กลุ่มสัตว์ ได้แก่ โค สุกรมีชีวิต และไข่ไก่ เนื่องจากความต้องการบริโภคสอดคล้องกับปริมาณผลผลิตราคาลดลงเล็กน้อย สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ หัวมันสำปะหลังสด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และผลปาล์มสด เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ขณะที่ตลาดมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง สับปะรดโรงงาน และไก่มีชีวิต เนื่องจากความต้องการของตลาดยังมีอย่างต่อเนื่อง กลุ่มผลิตภัณฑ์จากประมง ได้แก่ ปลาทู ปลาลัง ปลาหมึกกล้วย และกุ้งทะเล เนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง 

สรุปภาพรวม การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศมีการกระจายตัวมากขึ้นและมีการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ การจำกัดการเดินทาง และโลจิสติกส์ได้รับผลกระทบจากเคอร์ฟิว ส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศชะลอตัว ขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่องตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2564 เฉลี่ย 7 เดือน (ม.ค.- ก.ค.) เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 3.3 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 4.8 จากสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ได้แก่ ยางพารา ผลปาล์มสด หัวมันสำปะหลังสด อ้อย ถั่วเขียว ผักกวางตุ้ง มะนาว พริกสด พริกแห้ง ถั่วฝักยาว กระเทียม ผักกาดหัว ขิง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ องุ่น ลำไย กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ ฝรั่ง ชมพู่ โคมีชีวิต สุกรมีชีวิต ไข่ไก่และไข่เป็ด กลุ่มผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ ปลาทูสด ปลาทรายแดง ปลาสีกุน ปลาหมึก กุ้งแวนนาไม หอยแมลงภู่ และหอยแครง
  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 3.4 จากสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ เนื้อสุกร เนื้อโค ไก่สด/เป็ดสด แช่เย็นหรือแช่แข็ง น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ มันเส้น น้ำตาลทราย กากน้ำตาล มันอัดเม็ด แป้งมันสำปะหลัง กลูโคสเหลว ปลายข้าว แป้งข้าวเจ้า ขนมปังปอนด์ ขนมเค้ก เส้นก๋วยเตี๋ยว กุ้งแช่แข็ง ปลาป่น และกะทิ กลุ่มเครื่องดื่ม ได้แก่ สุรากลั่น กลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ได้แก่ ไม้ไฟเบอร์บอร์ด ไม้แบบ และกรอบไม้ กลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ เยื่อกระดาษ และกระดาษแข็ง กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 น้ำมันเตา น้ำมันก๊าด ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) น้ำมันหล่อลื่น และยางมะตอย กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เอทานอล เม็ดพลาสติก และปุ๋ยเคมีผสม กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง น้ำยางข้น และถุงมือยาง กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแผ่น เหล็กเส้น เหล็กฉาก เหล็กรูปตัวซี และเหล็กลวด กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ ได้แก่ ประตูเหล็ก ถังแก๊ส ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป และตะปู/สกรู /น๊อต กลุ่มยานยนต์ ได้แก่ รถยนต์นั่งต่ำกว่า 1,800 ซีซี รถบรรทุกขนาดเล็ก และตัวถังรถยนต์ กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ทองคำ และเครื่องประดับเทียม
  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 3.9 จากสินค้าสำคัญ กลุ่มปิโตรเลียมดิบและก๊าซธรรมชาติ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ (NG)     

แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนสิงหาคม 2564

ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนสิงหาคม 2564 มีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในระดับที่ไม่สูงมากนัก โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่ มูลค่าการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้า ส่งผลให้อุปสงค์เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันดิบยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน แม้ว่าประเทศผู้ผลิตรายใหญ่จะเพิ่มกำลังการผลิต แต่ยังมีปริมาณน้อยกว่าเมื่อเทียบกับความต้องการใช้

นอกจากนี้ สินค้าอุตสาหกรรมหลายรายการมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี อาทิ ยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ยาง โลหะขั้นมูลฐาน และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน รวมทั้งสินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการยังคงมีความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง อาทิ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และมันสำปะหลัง ขณะที่ข้าวเปลือกเจ้าและผลไม้บางชนิด ราคามีแนวโน้ม ลดลงตามปริมาณผลผลิตที่มีจำนวนมาก ขณะที่ความต้องการยังไม่ฟื้นตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นแรงกดดันทำให้ดัชนีราคาผู้ผลิตชะลอตัว ทั้งนี้ สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ ยังคงเป็นความท้าทายสำคัญที่กระทบต่อความต้องการในประเทศและอาจกระทบต่อภาคการผลิตได้ในระยะต่อไป

 

#ดัชนีราคาผู้ผลิต 2564 #ดัชนีราคาผู้ผลิต ppi #ดัชนีราคาผู้ผลิต ย้อนหลัง #แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต #ดัชนีราคา #ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม #กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า #สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า #กระทรวงพาณิชย์

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH