สสว. เปิดผลสำรวจสภาพคล่องธุรกิจ SME และสถานการณ์การจ้างงาน ภายหลังวิกฤตโควิด-19

โพล ชี้ SME วอนขอรัฐขยายเวลาพักชำระหนี้

อัปเดตล่าสุด 20 ส.ค. 2563
  • Share :

สสว. เปิดผลสำรวจสภาพคล่องธุรกิจ SME และสถานการณ์การจ้างงาน ภายหลังวิกฤตโควิด-19 ระบุ เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ 78.9% อยากให้รัฐขยายมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ส่วนใหญ่อยากให้ขยายไปอีกไม่เกิน 6 เดือน พบเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ 84.6% จะไม่ลดคนงานและค่าจ้างหลังวิกฤติโควิด-19 ช่วยบรรเทาปัญหาการว่างงานได้มาก

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้ทำการสำรวจสภาพคล่องธุรกิจ SME และสถานการณ์การจ้างงาน ภายหลังวิกฤตโควิด-19 ในช่วงวันที่ 20-27 มิถุนายน 2563 จากผู้ประกอบการ SME จำนวน 2,582 ราย จาก 21 สาขาธุรกิจ โดยแบ่งออกเป็น ภาคการผลิต 618 ราย ภาคการค้า 912 ราย และภาคการบริการ 1,052 ราย ครอบคลุมทั้ง 6 ภูมิภาค ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ 

โดยผลการสำรวจ พบว่า

  • ธุรกิจ SME ส่วนใหญ่ยังไม่มีการกู้ยืม จำนวน 1,434 ราย คิดเป็นร้อยละ 55.5  และธุรกิจ SME ที่มีการกู้ยืมเงิน จำนวน 1,148 ราย คิดเป็นร้อยละ 44.5
  • แหล่งกู้ยืมเงินของเอสเอ็มอีส่วนใหญ่กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน คิดเป็นร้อยละ 87.8 และกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินกู้นอกระบบสถาบันการเงิน คิดเป็นร้อยละ 12.2 
  • ทั้งนี้เมื่อแบ่งตามประเภทแหล่งเงินกู้ที่ธุรกิจ SME เลือกกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน พบว่ากู้ยืมจากธนาคารมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 63.2 และรองลงมาคือการกู้ยืมจากไฟแนนซ์/ลิสซิ่ง คิดเป็นร้อยละ 12.3 และบัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสด คิดเป็นร้อยละ 5.5
  • ในส่วนแหล่งเงินกู้นอกระบบสถาบันการเงิน พบว่าธุรกิจมีการกู้ยืมจากเพื่อน/ญาติพี่น้องมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 7.3 รองลงมา คือ การกู้ยืมจากกองแชร์ คิดเป็นร้อยละ 3.0 การกู้ยืมจากนายทุนเงินกู้ คิดเป็นร้อยละ 1.6 

สำหรับ ประเด็นคำถามภายหลังวิกฤตโควิด-19 ผู้ประกอบการ SME มองว่า มาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ควรขยายระยะเวลาในการช่วยเหลือหรือไม่ พบว่าผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่มองว่าควรขยายระยะเวลามาตรการต่อไป คิดเป็นร้อยละ 78.9 และผู้ประกอบการ SME ที่มองว่า ยังไม่ควรขยายระยะเวลามาตรการ คิดเป็นร้อยละ 21.1 ทั้งนี้ผู้ประกอบการ SME มีความเห็นว่าควรขยายระยะเวลาต่อจากมาตรการเดิมมองว่าควรจะขยายเป็นระยะเวลาเท่าไร พบว่า ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่าควรขยายเวลาต่อจากเดิมไม่เกิน 6 เดือน คิดเป็นร้อยละ 48.1 รองลงมา คือ ควรขยายเวลาจากเดิมไม่เกิน 3 เดือน คิดเป็นร้อยละ 26.7 และลำดับอื่น ๆ ซึ่งจากความคิดเห็นทั้งหมดของผู้ประกอบการ SME พบว่าระยะเวลาเฉลี่ยที่ควรขยายระยะเวลาของมาตรการต่อจากเดิม คือ 4.7 เดือน

ส่วนประเภทเงินกู้ที่ผู้ประกอบการมองว่าควรขยายระยะเวลามากที่สุด พบว่าประเภทเงินกู้สินเชื่อธุรกิจ คิดเป็นร้อยละ 39.8 รองลงมา คือ สินเชื่อส่วนบุคคล คิดเป็นร้อยละ 23.6 สินเชื่อรถยนต์ คิดเป็นร้อยละ 11.1 สินเชื่อบ้าน คิดเป็นร้อยละ 8.7 วงเงินกู้ประจำ คิดเป็นร้อยละ 7.4 สินเชื่อบัตรเครดิต คิดเป็นร้อยละ 6.1 ขณะที่ประเด็นมาตรการช่วยเหลือการกู้ยืมเงินเพื่อใช้ในกิจการแบบใด ที่ตรงตามความต้องการของธุรกิจมากที่สุด คือ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ คิดเป็นร้อยละ 59.6 รองลงมา คือ การกู้โดยไม่ต้องมีหลักค้ำประกัน คิดเป็นร้อยละ 31.2 วงเงินกู้ประจำ คิดเป็นร้อยละ 4.3 และการเบิกเงินเกินบัญชี คิดเป็นร้อยละ 3.9%  

ทั้งนี้ จากประเด็นคำถามวงเงินกู้สินเชื่อที่ธุรกิจต้องการจากมาตรการของภาครัฐ และระยะเวลาสินเชื่อที่ต้องการเพื่อใช้จ่ายในกิจการ ซึ่งถูกรวบรวมและจัดกลุ่มจากผู้ตอบแบบสอบถามในลักษณะปลายเปิด พิจารณาจากผู้ประกอบการ SME ที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมด และนำมาจัดกลุ่มเป็นช่วงคำตอบทั้งวงเงิน และระยะเวลาสินเชื่อ พบว่าธุรกิจ SME ส่วนใหญ่ต้องการวงเงินกู้อยู่ในช่วง 1,000 – 50,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 40.3 รองลงมาคือวงเงินกู้ในช่วง 100,001 – 500,000 คิดเป็นร้อยละ 19.2 และวงเงินกู้ในช่วง 50,001 – 100,000 คิดเป็นร้อยละ 18.6 ส่วนระยะเวลาสินเชื่อที่ต้องการมากที่สุดคืออยู่ในช่วงที่ไม่เกิน 6 เดือน คิดเป็นร้อยละ 26.0 รองลงมาคืออยู่ในช่วงที่ไม่เกิน 12 เดือน คิดเป็นร้อยละ 25.6 อยู่ในช่วงไม่เกิน 3 เดือน คิดเป็นร้อยละ 15.8 และอยู่ในช่วงไม่เกิน   24 เดือน คิดเป็นร้อยละ 15  

นายวีระพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของสถานการณ์การจ้างงานหลังโควิด-19 จากการสำรวจผู้ประกอบการทั้งหมด 2,582 ราย พบว่ากิจการมีจำนวนแรงงานเฉลี่ยทั้งหมด 8 คน (รวมสมาชิกในครอบครัวและเจ้าของธุรกิจ) โดยแบ่งเป็นแรงงานเฉลี่ยที่เป็นสมาชิกในครอบครัว 2 คน ลูกจ้างประจำ 4 คน และลูกจ้างรายวัน 2 คน โดยค่าจ้างแรงงานต่อต้นทุนของกิจการเฉลี่ย คิดเป็นร้อยละ 27.5 โดยในส่วนของกลุ่มไมโครเอสเอ็มอี มีแรงงานเฉลี่ย 4 คน มีค่าจ้างแรงงานต่อต้นทุนของกิจการเฉลี่ย คิดเป็นร้อยละ 27.1 กลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก มีแรงงานเฉลี่ย 12 คน มีค่าจ้างแรงงานต่อต้นทุนของกิจการเฉลี่ย คิดเป็นร้อยละ 28.3 และกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง มีแรงงานเฉลี่ย 119 คน มีค่าจ้างแรงงานต่อต้นทุนของกิจการเฉลี่ย คิดเป็นร้อยละ 24.3 

ด้าน ประเด็นการเปลี่ยนแปลงด้านแรงงาน หลังโควิด-19 สำรวจข้อมูลจากคำถามปลายเปิด และนำมาวิเคราะห์เฉพาะกิจการที่มีลูกจ้างประจำและลูกจ้างรายวันเท่านั้น พบว่า จำนวนแรงงาน และค่าจ้างแรงงาน กิจการส่วนใหญ่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง คิดเป็นร้อยละ 84.6 และร้อยละ 86.1 ตามลำดับ รองลงมา คือ มีการปรับลดจำนวนและค่าจ้างแรงงานลง คิดเป็นร้อยละ 12.0 และร้อยละ 11.2 ตามลำดับ ในส่วนโบนัส และค่าอาหาร ค่าที่พัก และค่าเดินทางกิจการส่วนใหญ่ไม่มีให้อยู่แล้ว 
 

อ่านต่อ:
ทุกเรื่อง SME ครบ...จบในที่เดียว