ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม 2565 ธันวาคม

ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ธ.ค. 65 ปรับลดลงครั้งแรกรอบ 7 เดือน แนะรัฐดูแลภาคส่งออกจากเงินบาทผันผวน

อัปเดตล่าสุด 17 ม.ค. 2566
  • Share :

ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม เดือนธันวาคม 2565 อยู่ที่ 92.6 ลดลงจากระดับ 93.5 ในเดือนก่อน ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 7 เดือน เอกชนหวั่นปรับขึ้นค่าไฟ เสนอรัฐดูแลภาคการส่งออกจากค่าเงินบาทผันผวน

วันที่ 17 มกราคม 2566 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ประจำเดือนธันวาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 92.6 ปรับตัวลดลงจากระดับ 93.5 ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 7 เดือน โดยองค์ประกอบของค่าดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ คำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับยอดขายโดยรวมและต้นทุนประกอบการปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยลบจากภาคการผลิตที่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากในเดือนธันวาคมมีวันทำงานน้อยและวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลปีใหม่ ส่งผลให้ดัชนีฯ คำสั่งซื้อสินค้า ปริมาณการผลิตและผลประกอบการปรับตัวลดลง

ทั้งนี้ผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีประกาศปรับขึ้นอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จากร้อยละ 0.23 เป็นร้อยละ 0.46 ต่อปี ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น ขณะที่ปัญหาเงินเฟ้อที่ยังบั่นทอนกำลังซื้อในประเทศ

ในด้านการส่งออกเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอนและสภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ อย่างไรก็ตาม เดือนธันวาคมยังมีปัจจัยบวกจากการขยายตัวของการบริโภคในประเทศ และการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ รวมทั้งการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ขณะที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นด้านต้นทุนการผลิต

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,303 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนธันวาคม 2565 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจโลก ร้อยละ 71.5 อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 44.5 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 48.8 ตามลำดับ ปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน ร้อยละ 54.4 สถานการณ์การเมืองในประเทศ ร้อยละ 40.2 เศรษฐกิจในประเทศ ร้อยละ 37.7 ตามลำดับ

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 99.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 97.0 ในเดือนพฤศจิกายน 2565 เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศทยอยฟื้นตัวตามการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ขณะที่ประเทศจีนประกาศผ่อนคลายมาตรการ Zero-COVID เร็วกว่าคาด ซึ่งส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวของไทย อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นของต้นทุนการผลิต ปัญหาการแข่งขันด้านราคา และปัญหาขาดแคลนแรงงาน รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่กระทบภาคการส่งออก

ข้อเสนอแนะของ ส.อ.ท. ต่อภาครัฐ

1.) มาตรการดูแลต้นทุนการผลิตให้ผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าและราคาพลังงาน เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันเมื่อเทียบกับคู่แข่งในภูมิภาค

2.) ดูแลค่าเงินบาทให้มีความสมดุลทั้งกับผู้ส่งออกและผู้นำเข้า รวมทั้งช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินบาท

3.) อาศัยโอกาสจากการเปิดประเทศของจีนและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมมาตรการด้านสาธารณสุขให้มีความเข้มงวด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่

ทั้งนี้ ส.อ.ท. ได้ทำการรวบรวมข้อมูลผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม และข้อมูลตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมจากหน่วยงานต่างๆ ย้อนหลัง 3 ปี จัดทำเป็น Dashboard เผยแพร่ในเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม Industry Data Space (iDS) ของ ส.อ.ท. เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ โดยสามารถเข้าไปใช้บริการข้อมูลดังกล่าวได้ที่ www.fti.or.th/ids 

 

อ่านต่อ:

 

#ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม #ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม #ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม 2565 #อุตสาหกรรมไทย #COVID19 #รัสเซียยูเครน #SME #สถานประกอบการ #สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH