ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม 2566 มีนาคม

ดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯ มี.ค. 66 เพิ่มขึ้นสูงสุดรอบ 10 ปี หนุนเปิดตลาดส่งออกกลุ่มใหม่

อัปเดตล่าสุด 19 เม.ย. 2566
  • Share :
  • 28,310 Reads   

ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม เดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ 97.8 เพิ่มขึ้นจากระดับ 96.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ ค่าดัชนีฯ สูงที่สุดในรอบ 10 ปี รับปัจจัยบวกจากเกษตร - ท่องเที่ยวฟื้นต่อเนื่อง ส.อ.ท. หนุนเปิดตลาดส่งออกกลุ่มใหม่ โดยเฉพาะสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

วันที่ 19 เมษายน 2566 นายสรกิจ มั่นบุปผชาติ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมเปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2566 จากการสำรวจผู้ประกอบการจำนวน 1,322 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. อยู่ที่ระดับร้อยละ 97.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับร้อยละ 96.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และสูงสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2556  เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของค่าดัชนีฯ พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ยกเว้นต้นทุนประกอบการ

ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายของอุปสงค์ในประเทศ และกำลังซื้อในส่วนภูมิภาคจากรายได้ภาคเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการขยายตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติ และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศของภาครัฐ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีภาคการก่อสร้างที่ขยายตัวส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อปัญหาต้นทุนการผลิตสูง โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบ และค่าไฟฟ้า ขณะที่ราคาพลังงานยังคงผันผวน ในขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในทิศทางขาขึ้นเป็นอีกปัจจัยกดดันต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs นอกจากนี้ อุปสงค์จากต่างประเทศที่อ่อนแอลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ตลอดจนความผันผวนของค่าเงินบาท ก็ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาคการส่งออกของไทย

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 106.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 103.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งมีปัจจัยขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ ขณะที่การเปิดประเทศของจีน เป็นแรงสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลัง แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากปัญหาเศรษฐกิจโลกและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น

 

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 

1) ขอให้พิจารณาทบทวนมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (FT) ในงวดที่ 2 (เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566) ให้ต่ำกว่า 4.40 บาท/หน่วย

2) ส่งเสริมการเปิดตลาดส่งออกใหม่ๆ อาทิ ในกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) กลุ่มประเทศ MERCOSUR (เมร์โกซูร์) กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (Pacific Alliance) โดยเฉพาะสินค้าประเภทยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์ยาง และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น 

3) เร่งรัดการแก้ไขปัญหาการเผาป่าตามแผนเฉพาะกิจ เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 

 

ทั้งนี้ ส.อ.ท. ได้ทำการรวบรวมข้อมูลผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม และข้อมูลตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมจากหน่วยงานต่างๆ ย้อนหลัง 3 ปี จัดทำเป็น Dashboard เผยแพร่ในเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม Industry Data Space (iDS) ของ ส.อ.ท. เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ โดยสามารถเข้าไปใช้บริการข้อมูลดังกล่าวได้ที่ www.fti.or.th/ids 

 

อ่านต่อ:

 

#ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม #ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม #อุตสาหกรรมไทย #COVID19 #รัสเซียยูเครน #SME #สถานประกอบการ #สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH