ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2564 เดือนธันวาคม

ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2564 เดือน ธ.ค. เพิ่ม 7.7% ภาพรวมทั้งปีเพิ่ม 4.7%

อัปเดตล่าสุด 5 ม.ค. 2565
  • Share :
  • 1,303 Reads   

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสรุปรายงานดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไทย เดือนธันวาคม 2564 เพิ่มขึ้น 7.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ภาพรวมเฉลี่ยทั้งปี เพิ่มขึ้น 4.7%

ภาพรวมดัชนีราคาผู้ผลิตปี 2564 ในภาพรวมมีการขยายตัวค่อนข้างสูงเฉลี่ยร้อยละ 4.7 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในต่างประเทศที่คลี่คลายลง ส่งผลให้อุปสงค์ของประเทศคู่ค้ากลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง โดยเฉพาะอุปสงค์ด้านพลังงาน ส่งผลให้สินค้าในหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในกลุ่มปิโตรเลียมและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องขยายตัวในระดับสูง รวมถึงสินค้าในกลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน โดยเฉพาะเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ความต้องการมีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปริมาณการผลิตที่ลดลง ส่งผลให้ราคาปรับสูงขึ้น และสินค้าในหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง อาทิ ผลปาล์มสด ยางพารา อ้อย หัวมันสำปะหลังสดและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปรับราคาสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ฐานราคาในปี 2563 ค่อนข้างต่ำ ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้ผลิตขยายตัวค่อนข้างสูงในปีนี้ ซึ่งสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของเครื่องชี้วัดด้านอุปทานที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น อาทิ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) และอัตราการใช้กำลังการผลิต (Cap U)

ดัชนีราคาผู้ผลิต​ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) เดือนธันวาคม 2564 (ปี 2558 = 100) เท่ากับ 106.1 เทียบกับเดือนธันวาคม 2563 สูงขึ้นร้อยละ 7.7 (YoY) เป็นผลจากการสูงขึ้นของราคาสินค้า ประกอบด้วย

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 7.2 เนื่องจากราคาวัตถุดิบและราคาตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นเป็นหลัก รวมถึงความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและการส่งออกยังมีอย่างต่อเนื่อง สำหรับกลุ่มสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมอื่น ๆ
  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 50.0 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และสินแร่โลหะ ตามภาวะตลาดโลก 
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 1.0 เป็นผลจากสินค้าเกษตรกรรมเป็นสำคัญ อาทิ ผลปาล์มสด อ้อย ยางพารา หัวมันสำปะหลังสด และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมยังมีอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) พบว่าดัชนีหมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 3.4 14.4 และ 16.4 ตามลำดับ โดยมีสินค้าสำคัญในห่วงโซ่อุปทานที่ราคาปรับสูงขึ้นตามวัตถุดิบ ได้แก่ ผลปาล์มสด น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ มันสำปะหลังสด มันเส้น/มันอัดเม็ด/แป้งมันสำปะหลัง และ อ้อย น้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาว เนื่องจากความต้องการของตลาดยังคงมีอย่างต่อเนื่อง

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2564 เดือนธันวาคม เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 7.7 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 7.2 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, 95 น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเตา และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เนื่องจากราคาปรับตามตลาดโลก กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก โซดาไฟ ปุ๋ยเคมีผสม และยางสังเคราะห์ จากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น ประกอบกับมีความต้องการใช้อย่างต่อเนื่อง กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ น้ำตาลทราย และกากน้ำตาล ตามภาวะราคาตลาดโลก น้ำมันปาล์ม จากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ประกอบกับได้รับผลบวกจากมาตรการของภาครัฐในการกระตุ้นการใช้ในประเทศและส่งออกเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน มันเส้น มันอัดเม็ด แป้งมันสำปะหลัง น้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ และกุ้งแช่แข็ง จากวัตถุดิบสินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) จากการปรับโครงสร้างต้นทุนสินค้าใหม่ กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ทองคำ เนื่องจากราคาปรับตามตลาดโลก กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแผ่น ท่อเหล็ก เหล็กเส้น เหล็กลวด เหล็กฉาก และเหล็กรูปตัวซี จากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแท่ง ท่อ ข้อต่อ แผ่นฟิล์มพลาสติก ถุงพลาสติก บรรจุภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ และถุงมือยาง จากราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้น ประกอบกับมีความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง และกลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ได้แก่ รถยนต์นั่ง และรถบรรทุกขนาดเล็ก จากราคาชิ้นส่วนนำเข้าที่ปรับสูงขึ้น ประกอบกับมีการปรับโฉมรถใหม่   

  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง​ สูงขึ้นร้อยละ 50.0 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และกลุ่มแร่ (สังกะสี เหล็ก ดีบุก และวุลแฟรม) ตามภาวะตลาดโลก
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 1.0 จากการสูงขึ้นของสินค้าสำคัญ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ผลปาล์มสด เนื่องจากมีการผลักดันให้ใช้น้ำมันไบโอดีเซล ส่งผลให้ความต้องการใช้ด้านพลังงานขยายตัวเพิ่มขึ้น และยางพารา เนื่องจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีมาตรการรักษาเสถียรภาพราคายางของภาครัฐ กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ มันสำปะหลังสด อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วลิสง และถั่วเขียว เนื่องจากมีความต้องการของตลาดเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพิ่มขึ้น พืชผัก ได้แก่ ถั่วฝักยาว ผักกวางตุ้ง มะเขือ กะหล่ำปลี พริกสด ผักคะน้า ผักชี ผักขึ้นฉ่าย และผักกาดขาว เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและพื้นที่เพาะปลูกหลายแห่งได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม กลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกรมีชีวิต เนื่องจากผลผลิตลดลง จากผลกระทบของโรคในสุกรและเกษตรกรบางรายชะลอการเลี้ยงสุกร เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับความต้องการบริโภคที่อาจจะลดลงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไข่ไก่ และไข่เป็ด เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ กุ้งแวนนาไม ปลาหมึกกล้วย ปลาสีกุน ปลาทรายแดง ปลาลัง และหอยแครง เนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลงจากปีก่อนหน้า

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2564 เดือนธันวาคม เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) ลดลงร้อยละ 0.4 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ลดลงร้อยละ 0.5 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ 91, 95 น้ำมันเตา น้ำมันเครื่องบิน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) น้ำมันก๊าด และยางมะตอย โดยราคาเคลื่อนไหวตามภาวะตลาดโลก เนื่องจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานชะลอตัว กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ ทองคำ ราคาปรับตามตลาดโลก และกลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ เยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน เนื่องจากการแข่งขันในตลาดสูง ผู้ผลิตจึงปรับลดราคาเพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิม สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ราคาลดลง ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว และปลายข้าว เนื่องจากผู้ผลิตบางรายมีการปรับราคาลงเพื่อระบายสต็อกข้าวเก่า ปลาป่น เนื่องจากวัตถุดิบมีปริมาณมากและความต้องการใช้ปลาป่นของโรงงานอาหารสัตว์ลดลง ไม้ยางพารา เนื่องจากมีการชะลอคำสั่งซื้อจากประเทศจีน โซดาไฟ และยางสังเคราะห์ เนื่องจากความต้องการของตลาดปรับลดลงเล็กน้อย เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ เนื่องจากเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว ผู้ผลิตบางรายจึงปรับราคาลงเพื่อกระตุ้นยอดขาย เหล็กรูปตัวซี และลวดเหล็ก เนื่องจากราคาวัตถุดิบลดลง

  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 0.6 จากการลดลงของราคาก๊าซธรรมชาติ ตามภาวะตลาดโลก
  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม​ สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากการสูงขึ้นของสินค้าสำคัญผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ กุ้งแวนนาไม ปลานิล ปลาดุก ปลาทูสด กุ้งทะเล และปลาช่อน เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ร้านอาหารและสถานประกอบการต่างๆ เริ่มทยอยเปิดให้บริการตามปกติ ประกอบกับเป็นช่วงเทศกาลท่องเที่ยววันหยุดยาว ส่งผลให้ความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร แม้ภาพรวมปรับลดลงเล็กน้อย แต่ยังมีบางกลุ่มสินค้าที่ราคาปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าวเปลือกเหนียว และข้าวเปลือกเจ้า สูงขึ้นเนื่องจากโรงสีบางรายมีความต้องการสินค้าเพื่อใช้และเก็บสต็อก จึงเพิ่มราคารับซื้อจากเกษตรกร หัวมันสำปะหลังสด เนื่องจากปริมาณผลผลิตยังออกไม่มาก ขณะที่ความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ขณะที่ความต้องการใช้เพื่อผลิตอาหารสัตว์ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ผลปาล์มสด เนื่องจากความต้องการด้านพลังงานและการบริโภคมีอย่างต่อเนื่อง ยางพารา (น้ำยางสด ยางแผ่นดิบ และเศษยาง) เนื่องจากความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง และมะพร้าวผล เนื่องจากความต้องการบริโภคเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการผ่อนคลายการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และกลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกร/ไก่มีชีวิต ไข่ไก่ และไข่เป็ด ราคาสูงขึ้นเนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่และวันหยุดยาว รวมถึงมีมาตรการคลายล็อกดาวน์ ทำให้ความต้องการสินค้าของร้านอาหารและธุรกิจท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2564 เฉลี่ยทั้งปี (ม.ค.- ธ.ค.) เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 4.7 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 4.8 จากสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, 95 และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก โซดาไฟ และปุ๋ยเคมีผสม กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ น้ำมันปาล์ม น้ำตาลทราย เนื้อสุกร น้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ และกุ้งแช่แข็ง กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน ถุงมือยาง แผ่นฟิล์มพลาสติก และบรรจุภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแผ่น ท่อเหล็ก เหล็กเส้น เหล็กฉาก และลวดแรงดึงสูง กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ทองคำ กลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ได้แก่ รถยนต์ต่ำกว่า 1,800 ซีซี และรถบรรทุกขนาดเล็ก กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ ได้แก่ ประตูเหล็ก และถังแก๊ส กลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ เยื่อกระดาษ กล่องกระดาษ

  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 10.4 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติและกลุ่มแร่ (สังกะสี ดีบุก เหล็ก และวุลแฟรม) 
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 1.9 จากสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ได้แก่ ผลปาล์มสด น้ำยางสด ยางแผ่นดิบ เศษยาง อ้อย หัวมันสำปะหลังสด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สุกรมีชีวิต โคมีชีวิต ไข่ไก่ ไข่เป็ด พริกแห้ง กระเทียม ผักกวางตุ้ง ถั่วฝักยาว พริกสด หน่อไม้ฝรั่ง ฝรั่ง องุ่น กล้วยไข่ และชมพู่ กลุ่มผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ ปลาหมึกกล้วย กุ้งแวนนาไม ปลาสีกุน หอยแครง ปลาทรายแดงและปลาทูสด

แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต 2565

แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิตปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวจากปีที่ผ่านมา ตามสถานการณ์เศรษฐกิจของโลกและประเทศไทยที่หลายฝ่ายคาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลต่ออุปสงค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีปัจจัยสำคัญจากผลิตภัณฑ์จากเหมือง ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องที่คาดว่าความต้องการจะมีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับฐานราคาในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 อยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนักซึ่งจะส่งผลให้ดัชนีราคาผู้ผลิต ปี 2565 ในช่วงเวลาดังกล่าวยังคงขยายตัวได้ดี

ส่วนสินค้าในหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมงและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ น่าจะปรับตัวตามสถานการณ์ส่งออกและการท่องเที่ยวในประเทศ ที่คาดว่าจะขยายตัว จากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ การส่งเสริมการท่องเที่ยวและการกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบต่าง ๆ ของรัฐบาล นอกจากนี้ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลไปยังต้นทุนการผลิต ทั้งค่าขนส่งและการขาดแคลนแรงงานรวมถึงการขาดช่วงในห่วงโซ่อุปทาน และส่งผลให้ดัชนีราคาผู้ผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

#ดัชนีราคาผู้ผลิต 2564 #ดัชนีราคาผู้ผลิต ppi #ดัชนีราคาผู้ผลิต ย้อนหลัง #แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต #ดัชนีราคา #ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม #กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า #สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า #กระทรวงพาณิชย์

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH