ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม 2565 พฤศจิกายน

ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ พ.ย. 65 เพิ่มขึ้น 6 เดือนติด รับอานิสงส์ท่องเที่ยว-ปัญหาชิปคลี่คลาย

อัปเดตล่าสุด 13 ธ.ค. 2565
  • Share :

ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม เดือนพฤศจิกายน 2565 อยู่ที่ 93.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 93.1 ในเดือนก่อน ค่าดัชนีฯ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 หลังอุปสงค์ในประเทศเริ่มฟื้นตัว-นทท.ต่างชาติเพิ่มขึ้น-ปัญหาชิปเริ่มคลี่คลาย แต่ยังกังวลปัญหาค่าไฟ-วัตถุดิบราคาสูง

วันที่ 13 ธันวาคม 2565 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ประจำเดือนพฤศจิกายน 2565 อยู่ที่ระดับ 93.5 ปรับตัวเพิ่มเล็กน้อยจากระดับ 93.1 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบของค่าดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม และผลประกอบการ ขณะที่ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับปริมาณการผลิต และต้นทุนประกอบการปรับตัวลดลง

ปัจจัยสนับสนุนมาจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ การขยายตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาสู่ภาวะปกติ ส่งผลดีต่อการบริโภคและการใช้จ่ายในประเทศ ขณะเดียวกันภาคการก่อสร้างมีทิศทางที่ดีขึ้นภายหลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย ส่งผลให้ความต้องการสินค้าวัสดุก่อสร้างเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ขณะที่ปัญหาขาดแคลนชิปมีทิศทางดีขึ้น ส่งผลดีต่อการผลิตสินค้ายานยนต์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ อัตราค่าระวางเรือที่ปรับลดลงส่งผลดีต่อผู้ส่งออก

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนประกอบการที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า ราคาวัตถุดิบ ค่าจ้างแรงงาน รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกยังมีปัจจัยเสี่ยงจากอุปสงค์จากต่างประเทศลดลงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมทั้งจีนยังคงมาตรการ Zero-COVID อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการแข็งค่าของเงินบาท ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออกลดลง 

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,315 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนพฤศจิกายน 2565 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจโลก ร้อยละ 70.3 สถานการณ์การเมืองในประเทศ  ร้อยละ 43.5 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 43.3 อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 42.9 ตามลำดับ ปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน ร้อยละ 59.2 เศรษฐกิจในประเทศ ร้อยละ 39.4 ตามลำดับ

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 97.0 ปรับตัวลดลงจาก 98.8 ในเดือนตุลาคม เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นของต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะราคาพลังงานที่ยังทรงตัวในระดับสูง รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อที่บั่นทอนกำลังซื้อในประเทศ ขณะที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังคงยืดเยื้อ เศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน รวมถึงความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ยังส่งปัจจัยเสี่ยงต่อภาคการส่งออกของไทย

ข้อเสนอแนะของ ส.อ.ท. ต่อภาครัฐ

1) มาตรการดูแลต้นทุนการผลิตให้ผู้ประกอบการ อาทิ ชะลอการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าให้ไม่เกิน 4.72 บาท ต่อหน่วย เป็นต้น

2) ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการลงทุนใช้พลังงานหมุนเวียนภายในโรงงาน เพื่อลดค่าไฟฟ้าในช่วง On Peak อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การอำนวยความสะดวกในการขออนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวข้องการติดตั้งโซล่าเซลล์, ปรับปรุงกฎหมายให้โรงงานสามารถติดตั้งโซล่าเซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า  1 MW โดยไม่ต้องขอใบอนุญาต รง.4, มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น

3) ออกมาตรการส่งเสริม Soft power เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมีการใช้สินค้าและบริการของไทย เพื่อช่วยขยายโอกาสสินค้าไทยในตลาดโลกผ่านการท่องเที่ยว โดยคาดว่าช่วง High Season จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านคนต่อเดือน และในปี 2566 คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเติบโตมาอยู่ในระดับ 21 ล้านคน

ทั้งนี้ ส.อ.ท. ได้ทำการรวบรวมข้อมูลผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม และข้อมูลตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมจากหน่วยงานต่างๆ ย้อนหลัง 3 ปี จัดทำเป็น Dashboard เผยแพร่ในเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม Industry Data Space (iDS) ของ ส.อ.ท. เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ โดยสามารถเข้าไปใช้บริการข้อมูลดังกล่าวได้ที่ www.fti.or.th/ids 

 

อ่านต่อ:

 

#ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม #ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม #ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม 2565 #อุตสาหกรรมไทย #COVID19 #รัสเซียยูเครน #SME #สถานประกอบการ #สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH