ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2566 เดือน มิ.ย. หดตัว 6.6% ภาพรวมครึ่งปีแรกลด 2.2%
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสรุปรายงานดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไทย เดือนมิถุนายน 2566 อยู่ที่ระดับ 108.5 ลดลง 6.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลง 0.7% จากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยหลักจากราคาสินค้าสำคัญปรับลดลงอย่างต่อเนื่องตามตลาดโลก โดยเฉพาะน้ำมันและสินค้าเกี่ยวเนื่อง ประกอบกับฐานราคาในปีก่อนอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ ราคาสินค้าลดลงทั้ง 3 หมวดหลัก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์จากเหมือง และผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง
ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) เดือนมิถุนายน 2566 (ปี 2558 = 100) เท่ากับ 108.5 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2565 ลดลงร้อยละ 6.6 (YoY) เป็นผลมาจากการปรับตัวของราคาสินค้าผู้ผลิตทั้ง 3 หมวดหลัก ประกอบด้วย
- หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 6.8 จากกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก และโลหะขั้นมูลฐาน (เหล็ก)
- หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 16.0 จากกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ ปิโตรเลียมดิบและก๊าซธรรมชาติ และสินแร่โลหะ
- หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ลดลงร้อยละ 1.2 เป็นผลจากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลปาล์มสด ยางพารา สุกรมีชีวิต และผลิตภัณฑ์จากการประมง อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก หัวมันสำปะหลังสด พืชผัก ผลไม้ และปลาน้ำจืด
ขณะที่ ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) พบว่า ดัชนีหมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ ลดลงร้อยละ 0.9 15.8 และ 9.7 ตามลำดับ โดยมีสินค้าสำคัญในห่วงโซ่อุปทานที่ราคาปรับลดลงตามวัตถุดิบ ได้แก่ ผลปาล์มสด ->น้ำมันปาล์มดิบ ->น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ และ น้ำยางสด/ยางแผ่นดิบ/เศษยาง-> ยางแผ่นรมควัน/ยางแท่ง-> ถุงมือยาง/ถุงยางอนามัย/ยางล้อรถ/ยางรัดของ
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม MPI ปี 2565 เดือน ก.ย. เพิ่มขึ้น 3.36% รวม 9 เดือน เพิ่ม 2.83%
- ส่งออกไทย 2566 เดือน พ.ค. หดตัว 4.6% ต่อเนื่องเดือนที่ 8
- ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2565 เดือน ก.ย. เพิ่มขึ้น 10.5% ภาพรวม 9 เดือนเพิ่ม 11.4%
ดัชนีราคาผู้ผลิต 2566 เดือนมิถุนายน เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) ลดลงร้อยละ 6.6 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้
-
หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 6.8 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และ 95 น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเตา และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก และโซดาไฟ เนื่องจากราคาปรับลดลงตามราคาอ้างอิงตลาดต่างประเทศ ประกอบกับความต้องการของตลาดชะลอตัว และปุ๋ยเคมีผสม เนื่องจากราคาวัตถุดิบลดลง นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอุตสาหกรรมหลายรายการที่ราคาปรับลดลงตามต้นทุนวัตถุดิบ ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน น้ำยางข้น ถุงมือยาง แผ่นฟิล์มพลาสติก และถุงพลาสติก กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแท่ง เหล็กเส้น เหล็กลวด และท่อเหล็กกล้า กลุ่มสิ่งทอ ได้แก่ ด้ายฝ้าย ผ้าฝ้าย และเส้นใยสังเคราะห์ กลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ เยื่อกระดาษ และกระดาษแข็ง สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล เนื่องจากสินค้าบางรุ่นปรับราคาลดลงก่อนการผลิตรุ่นใหม่ทดแทน
- หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 16.0 จากการลดลงของราคาสินค้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติน้ำมันปิโตรเลียมดิบ และสินแร่โลหะ (สังกะสี ดีบุก เหล็ก) ราคาเคลื่อนไหวตามทิศทางราคาตลาดโลกที่ลดลง
- หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ลดลงร้อยละ 1.2 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วยกลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากมีการนำเข้าข้าวโพดและข้าวสาลีเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาข้าวโพดในประเทศปรับตัวลดลง กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ผลปาล์มสด เนื่องจากปริมาณผลผลิตในประเทศที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกมีการปรับตัวลดลงจากปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันของโลกที่สูงขึ้น ยางพารา เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัว ส่งผลให้ความต้องการใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องลดลง กลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกรมีชีวิต เนื่องจากปริมาณผลผลิตสุกรในประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งจากการนำเข้าและการผลิตของเกษตรกรบางส่วนในประเทศ ส่งผลให้ราคาหน้าฟาร์มลดลง ผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ กุ้งแวนนาไม กุ้งทะเล และปลากะพง เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะกุ้งแวนนาไม ขณะที่ความต้องการบริโภคทรงตัว สำหรับสินค้าที่ราคาปรับสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกเหนียว เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปิดประเทศ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ระดับปกติ หัวมันสำปะหลังสด เนื่องจากตลาดยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น อ้อย เนื่องจากความต้องการใช้เพื่อการบริโภคและในอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น พืชผัก (มะนาว พริกแห้ง ถั่วฝักยาว ต้นหอม ผักคะน้า พริกสด กะหล่ำปลี ผักกวางตุ้ง หน่อไม้ฝรั่ง ผักขึ้นฉ่าย แตงกวา ผักกาดขาว ผักชี มะเขือ) และผลไม้ (สับปะรด ทุเรียน ลำไย กล้วยน้ำว้า มะละกอสุก ชมพู่ ส้มเขียวหวาน กล้วยไข่ องุ่น) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากสภาพอากาศที่แปรปรวน และปลาน้ำจืด (ปลานิล ปลาดุก ปลาตะเพียน ปลาช่อน) เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น
ดัชนีราคาผู้ผลิต 2566 เดือนมิถุนายน เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) ลดลงร้อยละ 0.7 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้
-
หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าสำคัญ โดยสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ประกอบด้วย กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก และโซดาไฟ ราคาลดลงตามทิศทางราคาตลาดโลก ประกอบกับความต้องการของตลาดชะลอตัว และปุ๋ยเคมีผสม เนื่องจากราคาวัตถุดิบปรับลดลง รวมทั้งยังมีสินค้าหลายกลุ่มอุตสาหกรรมที่ราคาปรับลดลงตามราคาวัตถุดิบ ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ แผ่นฟิล์มพลาสติก ถุงพลาสติก ยางแท่ง และยางแผ่นรมควัน กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแท่ง เหล็กเส้น เหล็กลวด ท่อเหล็กกล้า และเหล็กรูปตัวซี และกลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ เยื่อกระดาษ และกระดาษพิมพ์เขียน สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ ทองคำ ราคาปรับลดลงตามตลาดโลก อย่างไรก็ตาม สินค้าสำคัญที่มีราคาสูงขึ้น ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และ 95 น้ำมันเตา และน้ำมันก๊าด เนื่องจากประเทศผู้ผลิตน้ำมันปรับลดกำลังการผลิต ส่งผลให้อุปทานตึงตัว กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ Integrated Circuit (IC) และหน่วยรับข้อมูล/แสดงผล เนื่องจากเป็นสินค้าส่งออก ราคาจึงเคลื่อนไหวตามค่าเงินบาทที่อ่อนค่า กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ ไก่สด เนื่องจากความต้องการเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการปรับลดการผลิตของโรงเชือดเพื่อระบายสต็อกสินค้า ข้าวสารเจ้า และข้าวนึ่ง เนื่องจากราคาวัตถุดิบสูงขึ้นตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อย รวมทั้งผู้ส่งออกยังมีความต้องการสินค้าอย่างต่อเนื่อง ขนมเค้ก และขนมปังปอนด์ เนื่องจากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น ปลาทูน่ากระป๋อง และสับปะรดกระป๋อง เนื่องจากเป็นสินค้าส่งออก ราคาจึงเคลื่อนไหวตามค่าเงินบาทที่อ่อนค่า น้ำแข็ง และซีอิ๊ว เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้นทั้งราคาวัตถุดิบและราคาพลังงาน และกลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ได้แก่ รถยนต์นั่ง ราคาปรับลดลงเล็กน้อย เนื่องจากผู้ผลิตบางรายมีการปรับโฉมรถยนต์ (Minor Change)
- หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 12.9 จากการลดลงของราคาสินค้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และสินแร่โลหะ (สังกะสี ดีบุก) ตามทิศทางราคาตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง
- หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ลดลงร้อยละ 1.2 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ หัวมันสำปะหลังสด เนื่องจากภาวะฝนตกส่งผลให้คุณภาพเชื้อแป้งลดลง ประกอบกับโรงงานแป้งมันเริ่มซ่อมบำรุงเครื่องจักรทำให้ลานมันทยอยปิดรับซื้อ พืชผัก (มะนาว ผักกวางตุ้ง มะเขือ ผักกาดหอม ผักบุ้ง ผักชี ฟักทอง) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยในการเพาะปลูก กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ผลปาล์มสด และมะพร้าวผล เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ขณะที่ความต้องการของตลาดยังชะลอตัว กลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกรมีชีวิต เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าความต้องการบริโภค ประกอบกับมีปัญหาเนื้อสุกรเถื่อนที่ลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ ส่งผลให้ราคาหน้าฟาร์มปรับตัวลดลง ไก่มีชีวิต เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความต้องการบริโภคชะลอตัว กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ ได้แก่ กุ้งแวนนาไม หอยแครง ปลากะพง ปลาตะเพียน ปลาลัง ปลาช่อน และปลาอินทรี เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ขณะที่ความต้องการชะลอตัว สำหรับสินค้าสำคัญที่ราคาปรับสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกเหนียว เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ผู้ประกอบการโรงสีมีความต้องการรับซื้อเพื่อส่งมอบให้กับคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ความต้องการมีอย่างต่อเนื่อง ยางพารา เนื่องจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์มีแนวโน้มขยายตัว ประกอบกับประเทศผู้ผลิตยางพารา อาทิ มาเลเซียและอินโดนีเซีย มีผลผลิตลดลง ผลไม้ (สับปะรด ลำไย ชมพู่ ทุเรียน ฝรั่ง องุ่น กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย และกลุ่มสัตว์ ได้แก่ ไข่ไก่ และไข่เป็ด เนื่องจากความต้องการบริโภคทั้งในประเทศและการส่งออกเพิ่มขึ้น
ดัชนีราคาผู้ผลิต 2566 เฉลี่ย 6 เดือน (ม.ค.- มิ.ย.) เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (AoA) ลดลงร้อยละ 2.2 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้
- หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 2.4 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ ประกอบด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และ 95 ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันก๊าด และน้ำมันหล่อลื่น กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก โซดาไฟ และกรดเกลือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแท่ง น้ำยางข้น ยางแผ่นรมควัน ถุงมือยาง แผ่นฟิล์มพลาสติก ท่อพลาสติก และข้อต่อพลาสติก และกลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กเส้น เหล็กแท่ง เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กลวด และท่อเหล็กกล้า
- หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 3.8 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติเหลว น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และสินแร่โลหะ (สังกะสี)
- หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 0.1 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว หัวมันสำปะหลังสด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย ผลไม้ (สับปะรดโรงงาน ลำไย) พืชผัก (ต้นหอม พริกแห้ง พริกสด ถั่วฝักยาว มะนาว) น้ำนมดิบ ไก่มีชีวิต และไข่ไก่ และกลุ่มผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ ปลาหมึกกล้วย
แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต 2566 ไตรมาส 3
ดัชนีราคาผู้ผลิตไตรมาสที่ 3 ปี 2566 มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2 ตามราคาพลังงานที่ต่ำกว่าปีก่อนค่อนข้างมาก ซึ่งส่งผลให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องในหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง นอกจากนี้ ฐานราคาปี 2565 อยู่ในระดับสูง การชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าสำคัญ และการลงทุนภาครัฐที่ชะลอตัวจากการเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลใหม่ จะส่งผลต่ออุปสงค์และอุปทานของสินค้าและบริการ ซึ่งจะทำให้ดัชนีราคาผู้ผลิตมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ราคาพลังงานที่ยังคงผันผวน ความแปรปรวนของสภาพอากาศที่อาจส่งผลต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตรและประมง ต้นทุนการผลิตที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าจ้างแรงงาน และอัตราดอกเบี้ย การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ยังคงเป็นปัจจัยหนุนที่สำคัญ ซึ่งจะกระทบต่อภาคการผลิตและดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไทยตามลำดับ ทั้งนี้ จะต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
#ดัชนีราคาผู้ผลิต 2566 #ดัชนีราคาผู้ผลิต ppi #ดัชนีราคาผู้ผลิต (ppi) #ดัชนีราคาผู้ผลิต (ppi) คือ #ดัชนีราคาผู้ผลิต คือ #ดัชนีราคาผู้ผลิต ย้อนหลัง #แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต #ดัชนีราคา #ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม #กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า #สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า #กระทรวงพาณิชย์
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- สรุปยอดขายรถยนต์ในไทย ปี 2565
- ครม. อนุมัติงบอุดหนุนรถ BEV 18,000 - 150,000 บาท/คัน
- ภาพรวมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของไทย
- 17 อุตสาหกรรมแนวโน้มเติบโตในปี 2566
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH