อุตสาหกรรมพลาสติก ไตรมาสที่ 3/2563 และแนวโน้มไตรมาสที่ 4/2563
กองนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา 1 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยสถานการณ์อุตสาหกรรมพลาสติกไทย ไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ดัชนีผลผลิตและดัชนีการส่งสินค้าหดตัว แต่ปริมาณการส่งออกขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศคู่ค่าหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา จีน และเวียดนาม นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบลดลง ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกขยายตัว
ดัชนีผลผลิต
ในไตรมาส 3/2563 ดัชนีผลผลิตของอุตสาหกรรมพลาสติกได้หดตัวลงร้อยละ 0.48 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (%QoQ) และหดตัวร้อยละ 4.27 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (%YoY) ซึ่งดัชนีผลผลิตที่หดตัวมากที่สุด ได้แก่ เครื่องใช้ประจำโต๊ะอาหาร ครัว และห้องน้ำ
ดัชนีการส่งสินค้า
ในไตรมาส 3/2563 ดัชนีการส่งสินค้าของอุตสาหกรรมพลาสติกได้หดตัวร้อยละ 0.16 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (%QoQ) และหดตัวร้อยละ 5.52 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (%YoY) ซึ่งดัชนีการส่งสินค้าที่หดตัวมากที่สุด ได้แก่ เครื่องใช้ประจำโต๊ะอาหาร ครัว และห้องน้ำ
ดัชนีผลผลิต – ดัชนีการส่งสินค้า
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
มูลค่าการส่งออก
ในไตรมาส 3/2563 อุตสาหกรรมพลาสติกมีปริมาณการส่งออกรวม 313,503 ตัน ขยายตัวร้อยละ 9.92 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (%QoQ) และขยายตัวร้อยละ 1.49 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (%YoY) โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีการส่งออกขยายตัวสูงสุด ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์เส้นใยยาวเดี่ยว (HS 3916)
มูลค่าการนำเข้า
ในไตรมาส 3/2563 อุตสาหกรรมพลาสติกมีปริมาณการนำเข้ารวม 225,803 ตัน หดตัวร้อยละ 7.29 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (%QoQ) แต่ขยายตัวร้อยละ 0.61 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (%YoY) โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้าขยายตัวสูงสุด ได้แก่ กลุ่ม ผลิตภัณฑ์ใยยาวเดี่ยว (HS 3916)
ปริมาณการส่งออก – การนำเข้า (ตัน)
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
แนวโน้มอุตสาหกรรมพลาสติก ไตรมาสที่ 4 ปี 2563
อุตสาหกรรมพลาสติกไตรมาสที่ 4 ปี 2563 คาดว่าปริมาณการส่งออกและปริมาณการนำเข้าจะขยายตัว เนื่องจากความต้องการผลิตภัณฑ์พลาสติกในประเทศคู่ค้าหลักยังคงขยายตัว อย่างไรก็ตาม ต้องคำนึงถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม ทั้งจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด–19 ที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า และสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก