ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม MPI เดือนกันยายน และไตรมาส 3 ปี 2563

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม MPI เดือนกันยายน และไตรมาส 3 ปี 2563

อัปเดตล่าสุด 28 ต.ค. 2563
  • Share :

กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกันยายน 2563 ขยายตัวร้อยละ 3.25 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 อีกทั้งอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 เช่นกัน โดยอยู่ที่ระดับ 63.07 สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นใกล้กับระดับในช่วงก่อนหน้าสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกที่สองในต่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องหันมาให้ความสำคัญการบริโภคภายในประเทศและใช้จุดเด่นในการควบคุมโรคเพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จัดทำดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกันยายน 2563 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 3.25 โดยขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 รวมถึงอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนกันยายนขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนอยู่ที่ระดับ 63.07 จากเดิมที่ระดับ 60.86 ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3 ปี 2563 อยู่ที่ระดับ 91.22 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ที่ร้อยละ 13.73 สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นใกล้กับระดับในช่วงก่อนหน้าสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคและบริโภค เช่น อุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) หลายตัวยังคงขยายตัวดี เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมยารักษาโรคที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน

“ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี ภาคการผลิตอุตสาหกรรมกลับมาฟื้นตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงก่อนเกิดสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในขณะที่ต่างประเทศยังคงน่ากังวลอันเนื่องจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 รอบที่สองโดยเฉพาะในโซนยุโรป ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องหันมาให้ความสำคัญกับการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น โดยภาครัฐได้เตรียมดำเนินนโยบายกระตุ้นการบริโภคภายประเทศผ่านโครงการคนละครึ่ง โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการช้อปดีมีคืนเพื่อสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในประเทศในช่วงสิ้นปี ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 4 ขยายตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่การออกวีซ่าพิเศษให้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเป็นการดึงให้นักลงทุนสามารถเข้ามายังประเทศไทยได้ นับเป็นโอกาสที่ประเทศไทยมีจุดเด่นทั้งทางด้านสาธารณสุขและโครงสร้างพื้นฐานในเขตเศรษฐกิจพิเศษดึงดูดให้เกิดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ซึ่งจะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคตและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ทั่วโลก” นายสุริยะ กล่าว

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมไทยค่อย ๆ ฟื้นตัวหลังจากที่ภาครัฐมีการคลายล็อกกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบทั้งหมดให้สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้ ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนกันยายนขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 63.07 สอดคล้องกันกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ทยอยฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ต่างประเทศยังคงประสบปัญหาในการควบคุมการแพร่ระบาดอยู่ อันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้นภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการบริโภคภายในประเทศ ประกอบกับใช้จุดเด่นที่ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ดีเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศในการยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าไทย

นายทองชัย กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมหลักที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมอุปโภคบริโภคเป็นหลัก อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.40 อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.50 หลังรัฐบาลออกมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์ โควิด-19 ทั้งมาตรการด้านการเงินและการคลังเพื่อช่วยเหลือประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบการ  ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมหลักๆ ได้เริ่มฟื้นกลับมาโดยเพิ่มกำลังการผลิตอีกครั้ง เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ได้เพิ่มกำลังการผลิตในเดือนกันยายนมาอยู่ที่ระดับ 76.98 จากระดับ 59.81 ในเดือนก่อน โดยมีความต้องการเพิ่มขึ้นจากทั้งตลาดในประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคมที่ร้อยละ 13.10 และตลาดส่งออกขยายตัวร้อยละ 11.40 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือนกันยายน ได้แก่

เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 30.20 เนื่องจากในปีก่อนได้มีการหยุดผลิตเพื่อย้ายโรงงาน ประกอบกับได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดในประเทศและต่างประเทศ

เครื่องใช้ในครัวเรือน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 34.07 จากผลิตภัณฑ์ตู้เย็นและเครื่องซักผ้า โดยตู้เย็น มีความต้องการเพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับได้มีผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตมาจากประเทศจีนตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 ในขณะที่เครื่องซักผ้าได้มีการเปิดช่องทางการตลาดใหม่ ทำให้มีคำสั่งซื้อจากตลาดในประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงการส่งออกเพิ่มขึ้น ไปยังประเทศมาเลเซียและญี่ปุ่น

แปรรูปและถนอมผลไม้และผัก ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 27.03 จากผลิตภัณฑ์สับปะรดกระป๋อง ผลไม้กระป๋อง และข้าวโพดหวานเป็นหลัก เนื่องจากปีนี้มีการปลูกสับปะรดในหลายพื้นที่ทำให้ยังมีผลผลิตในการเก็บเกี่ยวนอกฤดูกาล รวมถึงการขยายพื้นที่เพาะปลูกของข้าวโพดของเกษตรกร

เฟอร์นิเจอร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.13 จากผลิตภัณฑ์เครื่องเรือนทำด้วยไม้และที่นอน เนื่องจากผู้ผลิตได้เร่งผลิตให้ทันส่งมอบตามคำสั่งซื้อจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นจากการกักตัวอยู่บ้านในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในขณะที่สินค้าที่นอนได้มีการเพิ่มช่องทางจำหน่ายออนไลน์

อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.18 จากผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูปและอาหารปลา เนื่องจากความต้องการมีการเติบโตขึ้นต่อเนื่องในตลาดต่างประเทศ ประกอบกับในปีก่อนเกิดภาวะภัยแล้งทำให้มีการเลี้ยงปลาน้อยกว่าในปีนี้

 

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและการใช้กำลังการผลิต (รายเดือน)

MPI ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม กันยายน 2563

ที่มา : กองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ข้อมูล ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2563

 

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและการใช้กำลังการผลิต (รายไตรมาส)

MPI-02-ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม-กันยายน-2563-รายไตรมาส-3

 

ที่มา : กองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ข้อมูล ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2563

 

อ่านต่อ: