ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2564 เดือนสิงหาคม

ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2564 เดือน ส.ค. ปรับตัวดีต่อเนื่อง หวัง "มาตรการผ่อนปรน" ช่วยฟื้นการบริโภคในประเทศ

อัปเดตล่าสุด 8 ก.ย. 2564
  • Share :
  • 580 Reads   

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสรุปรายงานดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไทย เดือนสิงหาคม 2564 เพิ่มขึ้น 4.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เฉลี่ย 8 เดือน (ม.ค.- ส.ค.) เพิ่มขึ้น 3.5%

ดัชนีราคาผู้ผลิต​ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) เดือนสิงหาคม 2564 (ปี 2558 = 100) เท่ากับ 102.7 เทียบกับเดือนสิงหาคม 2563 สูงขึ้นร้อยละ 4.9 (YoY) เป็นผลจากการสูงขึ้นของราคาสินค้า ประกอบด้วย

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 5.5 โดยมีสาเหตุหลักจากราคาวัตถุดิบและราคาตลาดโลกสูงขึ้น ขณะที่การส่งออกยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง และค่าเงินบาทอ่อนค่า ประกอบกับโรงงานหลายแห่งต้องหยุดผลิต เนื่องจากแรงงานติดเชื้อโควิด-19 สำหรับกลุ่มสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก โลหะขั้นมูลฐาน ผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์
  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 18.7 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และสินแร่โลหะ ตามภาวะตลาดโลก 
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ลดลงร้อยละ 3.8 เป็นผลจากสินค้าเกษตรกรรมเป็นสำคัญ อาทิ ข้าวเปลือก พืชผักและไม้ผล เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าปีก่อน ขณะที่ความต้องการของตลาดชะลอตัวอันเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกอบกับมีมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้มีปัญหาและอุปสรรคในการขนส่งสินค้า

ขณะที่ ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) พบว่าดัชนีหมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 0.9 12.5 และ 5.5 ตามลำดับ โดยมีสินค้าสำคัญในห่วงโซ่อุปทานที่ราคาปรับสูงขึ้นตามวัตถุดิบ ได้แก่ ผลปาล์มสด – น้ำมันปาล์มดิบ – น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ น้ำยางสด/ยางแผ่นดิบ – ยางแผ่นรมควัน/ยางแท่ง มันสำปะหลังสด – มันเส้น/มันอัดเม็ด/แป้งมันสำปะหลัง เนื่องจากความต้องการของตลาดที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2564 เดือนสิงหาคม เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 4.9 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 5.5 จากสินค้าสำคัญกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, 95 น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเตา ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เนื่องจากราคาปรับตามตลาดโลก กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ โซดาไฟ เม็ดพลาสติก เอทิลีน โพรพิลีน เบนซีน โทลูอีน จากความต้องการของตลาดที่มีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้น ปุ๋ยเคมีผสม จากราคาวัตถุดิบนำเข้าสูงขึ้น (แม่ปุ๋ย) กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ น้ำมันปาล์ม จากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ประกอบกับมาตรการของภาครัฐที่มีการขยายระยะเวลาส่งออกน้ำมันปาล์มดิบเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน มันเส้น มันอัดเม็ด แป้งมันสำปะหลัง จากวัตถุดิบสินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้น น้ำตาลทราย กากน้ำตาล ราคาปรับตัวตามภาวะตลาดโลก กุ้งแช่แข็ง สับปะรดกระป๋อง น้ำสับปะรด จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน ถุงมือยาง ถุงพลาสติก แผ่นฟิล์มพลาสติก จากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแผ่น ท่อเหล็กกล้า เหล็กเส้น เหล็กฉาก ลวดเหล็ก กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ ได้แก่ ประตูเหล็ก ตะปู/สกรู/น็อต จากราคาวัตถุดิบสูงขึ้นตามตลาดโลก กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) จากค่าเงินบาทอ่อนค่า ประกอบกับมีการปรับโครงสร้างต้นทุนใหม่   
  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง​ หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 18.7 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และกลุ่มแร่ (แร่เหล็ก ดีบุก สังกะสี วุลแฟรม) ตามภาวะตลาดโลก 
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ลดลงร้อยละ 3.8 จากการลดลงของสินค้าสำคัญที่เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการแข่งขันด้านราคา การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และค่าขนส่งยังอยู่ในระดับสูง กลุ่มพืชผัก ได้แก่ กะหล่ำปลี ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักกาดหอม ต้นหอม ผักชี ผักขึ้นฉ่าย กะหล่ำดอก มะนาว แตงกวา มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว พริกชี้ฟ้าสด ฟักทอง และแตงร้าน กลุ่มไม้ผล ได้แก่ สับปะรด ทุเรียน มะม่วง กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า มังคุด ลองกอง และเงาะ กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ มะพร้าวผล เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่ความต้องการของตลาดชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงมีปัญหาด้านการขนส่ง กลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกร/ไก่มีชีวิต เนื่องจากความต้องการบริโภคชะลอตัว สำหรับสินค้าที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ หัวมันสำปะหลังสด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากความต้องการของตลาดยังมีอย่างต่อเนื่อง ผลปาล์มสด เนื่องจากความต้องการใช้ด้านพลังงานเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปีก่อน ยางพารา (น้ำยางสด ยางแผ่นดิบ เศษยาง) เนื่องจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพิ่มขึ้นทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์และถุงมือยางทางการแพทย์ จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กลุ่มผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ ปลาทูสด ปลาลัง ปลาทรายแดง ปลาสีกุน และปลาหมึก เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2564 เดือนสิงหาคม เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.5 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.4 จากสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง น้ำยางข้น ถุงพลาสติก กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ โพลีเอทิลีน โพลีโพรพิลีน เอทิลีน โพรพิลีน เบนซีน ปุ๋ยเคมีผสม กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันเครื่องบิน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กเส้น เหล็กรูปตัวซี เหล็กฉาก ลวดแรงดึงสูง จากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ประกอบกับการปรับโครงสร้างต้นทุนใหม่ กลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ได้แก่ รถยนต์นั่ง ต่ำกว่า 1,800 ซีซี เนื่องจากราคานำเข้าชิ้นส่วนของรถยนต์ปรับสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ทองคำ ตามภาวะตลาดโลก กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ น้ำมันปาล์ม จากราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้น ประกอบกับมาตรการภาครัฐเพื่อลดปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกินและรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มในประเทศ น้ำตาลทราย ราคาปรับสูงขึ้นตามตลาดโลก กุ้งแช่แข็ง สับปะรดกระป๋อง น้ำสับปะรด ปลาทูน่ากระป๋อง จากค่าเงินบาทอ่อนค่า ข้าวโพดหวานกระป๋อง ปลาหมึกแช่แข็ง จากราคาวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ปรับสูงขึ้น กลุ่มสิ่งทอ ได้แก่ ผ้าฝ้าย ผ้าเช็ดตัว ผ้าดิบ ผ้าใยสังเคราะห์ กลุ่มเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ได้แก่ เสื้อยืด กางเกงสตรี เนื่องจากราคาวัตถุดิบนำเข้าสูงขึ้น (ด้ายฝ้าย) ประกอบกับค่าเงินบาทอ่อนค่า
  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 6.2 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และกลุ่มแร่ (แร่สังกะสี วุลแฟรม) ตามภาวะตลาดโลก
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ลดลงร้อยละ 1.3 จากการลดลงของสินค้าสำคัญผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว เนื่องจากความต้องการของตลาดชะลอตัว ประกอบกับปริมาณข้าวในสต็อกอยู่ในระดับสูง พืชผัก (ผักคะน้า ผักกาดหอม ต้นหอม ผักชี ผักขึ้นฉ่าย มะนาว แตงกวา บวบ ถั่วฝักยาว ผักกาดหัว) เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยในการเพาะปลูกส่งผลให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น กลุ่มไม้ผล ได้แก่ (องุ่น ทุเรียน ลำไย กล้วยน้ำว้า มังคุด เงาะ มะละกอสุก ลองกอง) เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาล ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ มะพร้าวผล เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการของตลาดชะลอตัว กลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกรมีชีวิต กลุ่มผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ ปลาทูสด ปลาอินทรี ปลากะพง กุ้งทะเล และกุ้งแวนนาไม เนื่องจากความต้องการบริโภคชะลอตัว จากการใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อาทิ ห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้าน โรงเรียนและสถาบันศึกษามีการเรียนการสอนแบบออนไลน์ สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ มันฝรั่ง หัวมันสำปะหลังสด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรด ผลปาล์มสด และยางพารา เนื่องจากความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ประกอบกับปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ไข่ไก่และไข่เป็ด เนื่องจากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น รวมถึงปัญหาการขนส่งเพื่อกระจายผลผลิตไม่สะดวกมากนัก 

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2564 เฉลี่ย 8 เดือน (ม.ค.- ส.ค.) เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 3.5 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 3.6 จากสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ได้แก่ ยางพารา ผลปาล์มสด หัวมันสำปะหลังสด อ้อย ถั่วเขียว มะนาว พริกแห้ง พริกสด กระเทียม ผักกวางตุ้ง ถั่วฝักยาว ผักกาดหัว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ องุ่น ลำไย กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ กล้วยหอม ฝรั่ง ชมพู่ สุกรมีชีวิต โคมีชีวิต ไข่ไก่และไข่เป็ด กลุ่มผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ ปลาหมึก กุ้งแวนนาไม ปลาทูสด ปลาทรายแดง ปลาสีกุน หอยแครง และหอยแมลงภู่
  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 3.6 จากสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ เนื้อสุกร เนื้อโค ไก่สด/เป็ดสด แช่เย็นหรือแช่แข็ง น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ มันเส้น น้ำตาลทราย กากน้ำตาล มันอัดเม็ด แป้งมันสำปะหลัง ปลายข้าว แป้งข้าวเจ้า ขนมปังปอนด์ ขนมเค้กเส้นก๋วยเตี๋ยว กุ้งแช่แข็ง ปลาป่น และกะทิ กลุ่มเครื่องดื่ม ได้แก่ สุรากลั่น กลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ เยื่อกระดาษ กล่องกระดาษ และกระดาษแข็ง กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 น้ำมันเตา น้ำมันก๊าด ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) น้ำมันหล่อลื่น และยางมะตอย กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก เอทานอล และปุ๋ยเคมีผสม กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง น้ำยางข้น และถุงมือยาง กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแผ่น เหล็กเส้น เหล็กฉาก เหล็กรูปตัวซี และเหล็กลวด กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ ได้แก่ ประตูเหล็ก ตะปู/สกรู /น๊อต ถังแก๊ส ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป กลุ่มยานยนต์ ได้แก่ รถยนต์นั่งต่ำกว่า 1,800 ซีซี รถบรรทุกขนาดเล็ก และตัวถังรถยนต์ กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ทองคำ และเครื่องประดับเทียม
  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 1.2 จากสินค้าสำคัญ กลุ่มปิโตรเลียมดิบและก๊าซธรรมชาติ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ (NG)     

แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนกันยายน 2564

ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนกันยายน 2564 ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาในระดับที่ไม่สูงมากนัก โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ซึ่งส่งผลให้สินค้าในกลุ่มปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น อีกทั้งอุตสาหกรรมหลายสาขามีแนวโน้มขยายตัวตามการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้า และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง อาทิ อุตสาหกรรมพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์อาหาร และผลิตภัณฑ์ยางพารา ประกอบกับโรงงานหลายแห่งยังประสบปัญหาน้ำท่วม

อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาผู้ผลิตได้รับแรงกดดันจากราคาสินค้าเกษตรที่ลดลงในหลายสินค้า อาทิ ข้าวเปลือก พืชผักและผลไม้บางชนิด เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังคงชะลอตัว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด -19 ทั้งนี้ คาดหวังว่านโยบายผ่อนปรนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ที่จะเริ่มในช่วงเดือนกันยายนนี้ จะสามารถกระตุ้นการบริโภคในประเทศให้มากขึ้น และส่งผลให้ดัชนีราคาผู้ผลิตยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อไป

 

#ดัชนีราคาผู้ผลิต 2564 #ดัชนีราคาผู้ผลิต ppi #ดัชนีราคาผู้ผลิต ย้อนหลัง #แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต #ดัชนีราคา #ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม #กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า #สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า #กระทรวงพาณิชย์

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH