ยอดขายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 2566 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) แถลงผลการดำเนินงาน

กนอ. โชว์ยอดขาย/เช่าที่ดินปี’66 กว่า 5,600 ไร่ พุ่ง 182% เกินเป้าทุกโครงการ!

อัปเดตล่าสุด 5 ต.ค. 2566
  • Share :
  • 1,139 Reads   

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดตัวเลขผลการดำเนินงานปี'66 แรงไม่หยุด ยอดขาย/เช่าพื้นที่พุ่ง 182 % หลังลุยทั้งเชิงรุกและเชิงลึก แย้มปี’67 เดินหน้าดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ควบคู่กับการขับเคลื่อนตามแนวนโยบายของ “พิมพ์ภัทรา” เพื่อความยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมไทย

วันที่ 5 ตุลาคม 2566 นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) แถลงผลการดำเนินงานในรอบปีงบประมาณ 2566 ว่า ปีงบประมาณ 2566 (กันยายน 2565 – ตุลาคม 2566) กนอ.มียอดขาย/เช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จำนวน 5,693 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 182 % เกินกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ โดยเป็นพื้นที่ขาย/เช่าในอีอีซี 4,753 ไร่ และนอกพื้นที่อีอีซี 939 ไร่ ปัจจุบัน กนอ. มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ประมาณ  190,150 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง ประมาณ 42,034 ไร่ และพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน ประมาณ 148,117 ไร่ มีพื้นที่ขายและให้เช่า ประมาณ 127,719 ไร่ เป็นพื้นที่ขาย/ให้เช่าแล้ว ประมาณ 101,975 ไร่ และมีพื้นที่คงเหลือสำหรับขาย/ให้เช่าอีกประมาณ 25,744 ไร่ มูลค่าการลงทุนสะสม ประมาณ 10.88 ล้านล้านบาท มีโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมประมาณ 4,828 โรง และมีการจ้างงานรวมทั้งสิ้น ประมาณ 994,696 คน

โดยกลุ่มอุตสาหกรรม 6 อันดับแรก ได้แก่ 1.กิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรม 57.33 % 2.อุตสาหกรรมผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์ รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ 11.82 % 3.อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ 8.66 % 4.อุตสาหกรรมยางเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี 7.61 % 5.อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 7.52 % และ 6.อุตสาหกรรมพลาสติก 7.06 % ทั้งนี้ นักลงทุนจากญี่ปุ่นยังครองแชมป์สนใจลงทุนมากเป็นอันดับหนึ่งถึง 30 % รองลงมา คือ นักลงทุนจากจีน 12 % นักลงทุนจากสิงคโปร์ 8 % นักลงทุนจากอเมริกา 6 % นักลงทุนจากไต้หวัน 5 % และนักลงทุนจากประเทศอื่นๆ 39 %

สำหรับภาพรวมการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมทั้งนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน ปัจจุบันจำนวนทั้งสิ้น 68 แห่ง และท่าเรืออุตสาหกรรม 1 แห่ง ใน 16 จังหวัด เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง 15 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน 53 แห่ง

ขณะเดียวกัน กนอ.ยังดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐบาลในโครงการสำคัญ ได้แก่  1.โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่1) ล่าสุดความคืบหน้าการก่อสร้างอยู่ที่ 65.09 % และ 2.โครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค บนพื้นที่โครงการ 1,384 ไร่ ตั้งเป้าระยะเวลาก่อสร้างโครงการ 36 เดือน (ตั้งแต่ 30 ก.ย. 64 – 14 ก.ย. 67) ความคืบหน้าการก่อสร้างอยู่ที่ 70.02 % คาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2567 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการพัฒนาและให้บริการระบบสาธารณูปโภคที่ดินของนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) 

ส่วนความคืบหน้าการดำเนินโครงการตามวิสัยทัศน์ของ กนอ. ได้แก่ 1.โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาคร บนพื้นที่ 4,131 ไร่ ล่าสุดอยู่ระหว่างให้บริษัทฯ ที่เป็นผู้รับดำเนินการขอแก้ไขการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดคล้องกับการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมและประกอบอุตสาหกรรม รวมทั้งให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสมุทรสาคร พิจารณากำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้าหรือเขตสีม่วง เพื่อเอกชนและ กนอ. จะได้ดำเนินการตามขั้นตอนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมต่อไป 2.โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแนวดิ่ง ได้จัดทำข้อบังคับคณะกรรมการ กนอ.ว่าด้วยมาตรฐานระบบสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวก และบริการสำหรับนิคมอุตสาหกรรมแนวดิ่ง พ.ศ. 2566 ซึ่งมีผลบังคับใช้ 9 สิงหาคม 2566 

3.โครงการ Digital Twin ดำเนินโครงการนำร่องที่นิคมฯ สมุทรสาคร แล้วเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 โดยจะขยายผลไปยังนิคมที่ กนอ. ดำเนินการเองอีก 13 แห่ง ซึ่งจะช่วยให้เกิดการบูรณาการเทคโนโลยีต่างๆ และเชื่อมโยงข้อมูลเข้าด้วยกันอย่างรวดเร็ว พร้อมกับแสดงผลในรูปแบบแดชบอร์ด (Dashboard) ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริหารสามารถบริหารจัดการนิคมฯ ได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น และ 4.โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs) ซึ่งผลการดำเนินงานพบว่า สามารถลด GHGs ในภาพรวมอยู่ที่ 1,231,270 tCO2e  สร้างโรงงานเครือข่ายลด GHGs จำนวน 31 โรงงาน โดย กนอ.สนับสนุนให้มีผู้เชี่ยวชาญเข้าให้คำปรึกษาด้านการอนุรักษ์พลังงาน เพิ่มการใช้พลังงานทดแทน และประเมินศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจกให้กับโรงงาน เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 สอดรับกับเป้าหมายประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นอกจากนี้ กนอ. ยังดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำ และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการ โดยจัดหาแหล่งน้ำสำรองเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการในนิคมฯ รวมถึงรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการในนิคมฯ ได้

“ปัจจุบันการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเริ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คาดว่าเป็นผลจากโครงการวีซ่าพำนักระยะยาว ( LTR Visa) ที่ใช้อย่างเป็นทางการ ทำให้มูลค่าการลงทุนเพิ่มสูงขึ้น เห็นได้จากยอดขาย/เช่าที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ซึ่งปีที่ผ่านมา กนอ.ตั้งเป้ายอดขาย/เช่าพื้นที่ไว้ที่ 2,500 ไร่เท่านั้น แต่ผู้พัฒนานิคมฯ และ กนอ. กลับสร้างยอดขาย/เช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมได้ถึง 5,693 ไร่ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง โดยปัจจัยหลักเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ทิศทางการเคลื่อนย้ายการลงทุนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ประกอบกับแนวทางการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. ได้รับความสนใจทั้งจากผู้ประกอบการและภาคเอกชนในการร่วมจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2567 กนอ.ได้ประมาณการณ์ยอดขาย/เช่าที่ดิน ไว้ที่ 3,000 ไร่ เป็นพื้นที่ในอีอีซี 2,700 ไร่ และนอกอีอีซี 300 ไร่” นายวีริศ กล่าว

สำหรับทิศทางการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2567 กนอ. ยังคงใช้หลัก “INSPIRE” แรงบันดาลใจ เพื่อให้ หัว และ ใจ นำพาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย มุ่งสู่สากล ดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุน ขณะเดียวกัน จะดำเนินการตามนโยบายของนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อย่างเคร่งครัด อาทิ การขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจไปสู่ 4 ภาค การยกระดับการให้บริการอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว และการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อความยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรม

 

#ยอดขายพื้นที่นิคมฯ #นิคมอุตสาหกรรม #EEC #Investment #กนอ. #การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย #การลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม #ต่างชาติลงทุนในไทย #LTR Visa #การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ 2566  

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH