ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2566 เดือน ม.ค. เพิ่มขึ้น 2.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสรุปรายงานดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไทย เดือนมกราคม 2566 อยู่ที่ระดับ 110.0 เพิ่มขึ้น 2.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ลดลง 0.8% จากเดือนก่อนหน้า โดยค่าดัชนีฯปรับสูงขึ้นในทิศทางชะลอลง 7 เดือนติด
ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) เดือนมกราคม 2566 (ปี 2558 = 100) เท่ากับ 110.0 เทียบกับเดือนมกราคม 2565 สูงขึ้นร้อยละ 2.4 (YoY) เป็นผลมาจากการปรับสูงขึ้นของราคาสินค้าผู้ผลิตทั้ง 3 หมวดหลัก ประกอบด้วย
Advertisement | |
- หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.7 ตามต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นทั้งราคาวัตถุดิบ พลังงาน และบรรจุภัณฑ์ โดยกลุ่มสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ และยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์
- หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 17.7 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันปิโตรเลียมดิบ
- หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 2.7 เป็นผลจากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ข้าวเปลือก หัวมันสำปะหลังสด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชผัก ผลไม้ สุกรมีชีวิต ไก่มีชีวิต ไข่ไก่ ไข่เป็ด และผลิตภัณฑ์จากการประมง
ขณะที่ ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) พบว่า ดัชนีหมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 1.9 1.5 และ 8.2 ตามลำดับ โดยมีสินค้าสำคัญในห่วงโซ่อุปทานที่ราคาปรับสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า -> ข้าวสารเจ้า/ข้าวนึ่ง/ปลายข้าว -> แป้งข้าวเจ้า และหัวมันสำปะหลังสด -> มันเส้น/มันอัดเม็ด/แป้งมันสำปะหลัง เนื่องจากมีความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ อ้อย -> น้ำตาลทรายดิบ -> น้ำตาลทรายขาว เนื่องจากราคาเคลื่อนไหวตามภาวะตลาดโลก
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม MPI ปี 2565 ขยายตัว 0.62% รับเศรษฐกิจ-การท่องเที่ยวฟื้น
- ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2565 เดือน ธ.ค. เพิ่มขึ้น 4.9% และภาพรวมทั้งปีเพิ่ม 10.4%
- ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ธ.ค. 65 ปรับลดลงครั้งแรกรอบ 7 เดือน แนะรัฐดูแลภาคส่งออกจากเงินบาทผันผวน
ดัชนีราคาผู้ผลิต 2566 เดือนมกราคม เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 2.4 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้
-
หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.7 จากการสูงขึ้นของสินค้าสำคัญ ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, 95 น้ำมันก๊าด และยางมะตอย ราคาเคลื่อนไหวตามทิศทางราคาตลาดโลก กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ไก่สด มันเส้น ข้าวนึ่ง ปลาทูน่ากระป๋อง น้ำตาลทราย น้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ ขนมปังปอนด์ เนื้อปลาสดแช่แข็ง อาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูป ข้าวสารเหนียว นมพร้อมดื่ม และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เนื่องจากต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้น อาทิ ราคาวัตถุดิบ ราคาบรรจุภัณฑ์ และค่าขนส่งวัตถุดิบ ประกอบกับปริมาณวัตถุดิบมีน้อย ขณะที่ความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศอยู่ในระดับสูง รวมทั้งในช่วงก่อนหน้านี้ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่อง ส่งผลให้สินค้าส่งออกมีราคาสูงขึ้น กลุ่มเครื่องดื่ม ได้แก่ สุรากลั่น เครื่องดื่มบำรุงกำลัง น้ำอัดลม นมถั่วเหลือง และน้ำดื่ม เนื่องจากต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ทองคำ เนื่องจากราคาปรับตามตลาดโลก นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอุตสาหกรรมอีกหลายกลุ่มที่ปรับราคาตามต้นทุนราคาวัตถุดิบและพลังงานที่สูงขึ้น ประกอบด้วย กลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ได้แก่ รถยนต์นั่ง รถบรรทุก และตัวถังรถยนต์ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแร่อโลหะ ได้แก่ กระเบื้องปูพื้น-บุผนัง โถส้วม เสาเข็มคอนกรีต ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารที่ทำจากเซรามิก อ่างล้างหน้า กระเบื้อง-มุงหลังคาไฟเบอร์ซีเมนต์ แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป และคอนกรีตผสมเสร็จ กลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ เยื่อกระดาษ กล่องกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน และกระดาษคร๊าฟท์ และกลุ่มสิ่งทอ ได้แก่ ผ้าดิบ ผ้าฝ้าย และสิ่งทอจากใยสังเคราะห์ (เส้นใย/ด้าย/ผ้า)
- หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 17.7 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันปิโตรเลียมดิบ ตามทิศทางราคาตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น หินก่อสร้าง และทราย เนื่องจากต้นทุนการผลิตด้านพลังงานปรับสูงขึ้น
- หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 2.7 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกเหนียว เนื่องจากความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศยังมีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี หัวมันสำปะหลังสด เนื่องจากผลผลิตมันสำปะหลังของไทยเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีน เพื่อใช้สำหรับเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมเอทานอล ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากความต้องการใช้เพื่อเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาอยู่ในเกณฑ์ดี พืชผัก (มะนาว ต้นหอม พริกสด ผักคะน้า พริกแห้ง กระเทียม มะเขือ ผักชี หน่อไม้ฝรั่ง ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว ผักบุ้ง แตงกวา พริกชี้ฟ้าสด) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ผลไม้ (สับปะรดโรงงาน ลำไย ส้มเขียวหวาน มะละกอสุก กล้วยไข่ ชมพู่ กล้วยน้ำว้า ส้มโอ องุ่น) เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น กลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกรมีชีวิต เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ประกอบกับต้นทุนการเลี้ยงเพิ่มขึ้นตามวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น ไก่มีชีวิต ไข่ไก่ และไข่เป็ด เนื่องจากต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น และกลุ่มผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ ปลาหมึกกล้วย ปูม้า ปลาลัง หอยนางรม กุ้งทะเล ปลาทรายแดง หอยแมลงภู่ ปลานิล ปลาดุก และปลาช่อน เนื่องจากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง สำหรับสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ผลปาล์มสด เนื่องจากปริมาณผลผลิตปาล์มเข้าสู่ตลาดมากขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ยางพารา เนื่องจากความต้องการใช้ยาง ในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และมะพร้าวผล เนื่องจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการของตลาดชะลอตัว
ดัชนีราคาผู้ผลิต 2566 เดือนมกราคม เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) ลดลงร้อยละ 0.8 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้
-
หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.6 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันดีเซล ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) น้ำมันหล่อลื่น และน้ำมันเตา เนื่องจากความกังวลของตลาดต่อภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ประกอบกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในจีนที่อยู่ในระดับสูง เป็นแรงกดดันให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) Integrated Circuit (IC) และหน่วยรับข้อมูล/แสดงผล เนื่องจากเป็นสินค้าส่งออก ซึ่งราคาปรับลดลงตามค่าเงินบาทที่แข็งค่า กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก ยางสังเคราะห์ กรดกำมะถัน โซดาไฟ และปุ๋ยเคมีผสม เนื่องจากราคาวัตถุดิบลดลง ประกอบกับความต้องการใช้ชะลอตัวทั้งในประเทศและต่างประเทศ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ ไก่สด น้ำมันปาล์ม และเนื้อสุกร เนื่องจากราคาวัตถุดิบสินค้าเกษตรปรับลดลง น้ำสับปะรด กุ้งแช่แข็ง ปลาทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง ปลาหมึกแช่แข็ง และอาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูป เนื่องจากราคาปรับตามค่าเงินบาทที่แข็งค่า นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอุตสาหกรรมที่ราคาปรับลดลงตามราคาวัตถุดิบและค่าเงินบาทที่แข็งค่า ประกอบด้วย กลุ่มสิ่งทอ ได้แก่ ผ้าฝ้าย ผ้าดิบ ด้ายฝ้าย และสิ่งทอจากใยสังเคราะห์ (เส้นใย/ด้าย/ผ้า) และกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแท่ง ถุงพลาสติก บรรจุภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ และถุงยางอนามัย
- หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 8.1 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และแร่โลหะ (แร่เหล็ก สังกะสี) ตามทิศทางราคาตลาดโลก ที่ปรับตัวลดลง
- หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 1.0 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกเหนียว เนื่องจากสต็อกข้าวเปลือกของผู้ประกอบการลดลง ประกอบกับเกษตรกรนำผลผลิตออกจำหน่ายน้อยลง เนื่องจากเก็บข้าวไว้รอเข้าร่วมโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ขณะที่ตลาดปลายทาง มีคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง มันสำปะหลังสด เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ขณะที่ความต้องการใช้ทั้งในและต่างประเทศยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกไปจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยในช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยว ขณะที่ความต้องการใช้เพื่อเป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ยังมีอย่างต่อเนื่อง และผลไม้ (ส้มเขียวหวาน ลำไย มะละกอสุก ฝรั่ง กล้วยไข่ องุ่น สับปะรด ชมพู่ กล้วยหอม) เนื่องจากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ยางพารา (น้ำยางสด เศษยาง) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง เพราะประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติส่วนใหญ่เริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูปิดกรีดยาง ผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ กุ้งแวนนาไม ปลาหมึกกล้วย ปลาลัง ปลาสีกุน ปลาโอ ปลาช่อน ปลาดุก ปลากะพง ปูม้า และกุ้งทะเล เนื่องจากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของธุรกิจการท่องเที่ยวและเทศกาลปีใหม่ สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง พืชผัก (ต้นหอม ผักกวางตุ้ง ผักชี ผักคะน้า ผักกาดหอม ถั่วฝักยาว ผักขึ้นฉ่าย ข้าวโพดฝักอ่อน ผักกาดหัว มะระจีน) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ประกอบกับหลังเทศกาลปีใหม่ราคาผักบางชนิดเริ่มปรับตัวลดลงเป็นไปตามกลไกตลาด ผลปาล์มสด เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดเข้าสู่โรงงานและลานเทเป็นจำนวนมาก บางรายต้องชะลอการรับซื้อเพื่อระบายผลปาล์มเดิมที่ตกค้าง ประกอบกับปริมาณน้ำมันปาล์มดิบในสต็อกอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ราคาปาล์มสดปรับตัวลดลง และกลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกร/ไก่มีชีวิต เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นสอดรับการบริโภค ราคาจึงปรับลดลงเล็กน้อย
แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต 2566 เดือนกุมภาพันธ์
ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีแนวโน้มชะลอตัวลง จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญที่มีแนวโน้มถดถอย ซึ่งส่งผลให้ความต้องการและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกลดลง นอกจากนี้ ราคาพลังงานที่ต่ำกว่าปีก่อนค่อนข้างมาก จะส่งผลให้หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดอุตสาหกรรม ขยายตัวในอัตราที่ลดลง ประกอบกับฐานราคาปี 2565 ที่อยู่ในระดับสูง จะมีส่วนทำให้ดัชนีราคาผู้ผลิตชะลอตัว
อย่างไรก็ตาม ความแปรปรวนของสภาพอากาศที่อาจส่งผลต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตรและประมง ต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง ความไม่แน่นอนของอุปทานน้ำมัน และอุปสงค์ภายในประเทศที่ได้รับแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อาจส่งผลต่ออุปสงค์และอุปทานของสินค้าและบริการ ซึ่งจะกระทบต่อภาคการผลิตและดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไทยตามลำดับ ทั้งนี้ จะต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
#ดัชนีราคาผู้ผลิต 2566 #ดัชนีราคาผู้ผลิต ppi #ดัชนีราคาผู้ผลิต ย้อนหลัง #แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต #ดัชนีราคา #ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม #กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า #สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า #กระทรวงพาณิชย์
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- สรุปยอดขายรถยนต์ ครึ่งปีแรก 2022
- ภาพรวมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของไทย
- สถานการณ์ชิปขาดตลาด 2022 จะสิ้นสุดเมื่อไหร่?
- 12 เทรนด์เทคโนโลยีมาแรงแห่งปี 2022
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH