ภาพรวมอุตสาหกรรมอาหาร 2566, แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทยปี 2566, ส่งออกอาหารไทย

ส่งออกอาหารปี'66 ไตรมาสแรก มูลค่า 3.46 แสนล้าน โต 10% ลุ้นทั้งปีทำนิวไฮ

อัปเดตล่าสุด 10 พ.ค. 2566
  • Share :
  • 18,538 Reads   

สภาหอการค้าฯ – สภาอุตสาหกรรม – สถาบันอาหาร เผยส่งออกอาหารไตรมาสแรกปี'66 ทำรายได้เข้าประเทศ 3.46 แสนล้านบาท โต 10.0% ลุ้นปี 66 ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจในตลาดประเทศพัฒนา ภาวะเงินเฟ้อ ค่าเงินผันผวน ต้นทุนการผลิตสูง และภัยแล้ง ทำนิวไฮต่อเนื่อง 1.50 ล้านล้านบาท โต 2.1%

วันที่ 10 พฤษภาคม 2566 - 3 องค์กรด้านอุตสาหกรรมอาหารเผยไตรมาสแรกปี 2566 การส่งออกสินค้าอาหารของไทยมีมูลค่า 346,379 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้าอาหารในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น จากการที่เศรษฐกิจหลายประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเข้าสู่ภาวะฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด-19 นอกจากนี้ ความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหาร ภัยสงคราม สภาพอากาศร้อนและความแห้งแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก จีนเปิดประเทศและยกเลิกมาตรการ Zero-COVID ได้เกื้อหนุนการส่งออกอาหารไทยให้ขยายตัว คาดปี 2566 ส่งออกอาหารไทยยังแข็งแกร่งฝ่าวิกฤติรอบด้าน ลุ้นทำนิวไฮต่อเนื่อง

การแถลงข่าวร่วม 3 องค์กรเศรษฐกิจด้านธุรกิจเกษตรและอาหาร โดย สภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ และสถาบันอาหาร เผยข้อมูลอุตสาหกรรมอาหารของไทยไตรมาสแรกและแนวโน้มปี 2566 มีตัวแทนหลักของทั้ง 3 องค์กร ประกอบด้วย ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายเจริญ แก้วสุกใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมให้รายละเอียด 

นางอนงค์  ไพจิตรประภาภรณ์  ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในการประสานความร่วมมือของ 3 องค์กร ในส่วนของสถาบันอาหารจะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร โดยมีสภาหอการค้าฯ และสภาอุตสาหกรรมฯ ร่วมบูรณาการข้อมูล พบว่าในไตรมาสแรกปี 2566 การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น ก่อนที่คาดว่าการส่งออกจะหดตัวในไตรมาสที่ 2 และกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในครึ่งปีหลัง 

สำหรับการส่งออกสินค้าอาหารของไทยในไตรมาสแรกปี 2566 มีมูลค่า 346,379 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้าอาหารในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น จากการที่เศรษฐกิจหลายประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเข้าสู่ภาวะฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด-19 นอกจากนี้ ความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหาร ภัยสงคราม สภาพอากาศร้อนและความแห้งแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงการที่จีนเปิดประเทศและยกเลิกมาตรการ Zero-COVID ได้เกื้อหนุนการส่งออกอาหารไทยให้ขยายตัว

กลุ่มสินค้าที่การส่งออกขยายตัวดีในช่วงไตรมาสแรกปี 2566 อาทิ น้ำตาลทราย ข้าว ไก่ ผลไม้สด โดยการส่งออกน้ำตาลทรายมีมูลค่า 40,310 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.3% เนื่องจากหลายประเทศกังวลปัญหาขาดแคลนอาหาร จึงสต็อกสินค้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อย่างอินเดียได้ต่ออายุมาตรการจำกัดการส่งออกน้ำตาลออกไปอีก 1 ปี ทำให้ไทยได้รับอานิสงส์ดังกล่าว การส่งออกข้าวมีมูลค่า 38,066 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.2 เนื่องจากผลผลิตข้าวที่มีจำกัดในประเทศผู้ผลิตและส่งออกสำคัญและความกังวลขาดแคลนอาหาร ทำให้ประเทศผู้บริโภคเสริมสต็อกข้าวเพิ่มขึ้น การส่งออกไก่มีมูลค่า 36,215 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.7 โดยเป็นไก่สดแช่แข็งที่ส่งออกไปจีนเป็นหลัก ส่วนไก่แปรรูปขยายตัวดีในสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป ขณะที่การส่งออกผลไม้สด มีมูลค่า 27,477 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.4 จากการส่งออกไปตลาดจีนเป็นหลัก หลังจีนยกเลิกมาตรการ Zero-COVID ทำให้ระยะเวลาขนส่งสินค้าสั้นลง ปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าส่งออกหลักหลายรายการหดตัวลง ส่วนใหญ่ประสบปัญหา 2 ด้าน คือ 1) วัตถุดิบมีปริมาณลดลง ราคาปรับตัวสูงขึ้น เช่น แป้งมันสำปะหลัง กุ้ง สับปะรด และ 2) ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในกลุ่มประเทศพัฒนาอย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ส่งผลทำให้สินค้าที่พึ่งพิงตลาดหลักดังกล่าวหดตัวลง เช่น อาหารสัตว์เลี้ยง เครื่องปรุงรส เป็นต้น นอกจากนี้ เงินเยนญี่ปุ่นที่อ่อนค่าต่อเนื่อง กระทบความสามารถในการนำเข้าของญี่ปุ่น ส่งผลทำให้สินค้าอาหารส่งออกของไทยไปยังประเทศญี่ปุ่นหลายรายการหดตัวลงค่อนข้างมาก อาทิ ไก่ (-6%), กุ้ง (-20%), สับปะรด (-40%), เครื่องปรุงรส (-40%) เป็นต้น แม้ว่าการส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป จะหดตัวลงจากความกังวลปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงเงินเยนอ่อนค่ากรณีตลาดญี่ปุ่น แต่การส่งออกสินค้าไปยังตลาดตลาดรองหรือตลาดใหม่ เช่น เอเชียใต้ กลุ่มประเทศอ่าว (GCC) ละตินอเมริกา และกลุ่มประเทศประชาคมรัฐเอกราช (CIS) ขยายตัวในระดับสูง รอการรุกตลาดและเพิ่มพูนปริมาณการค้าอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต

นางอนงค์ ได้ประเมินแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี 2566 ว่า “การส่งออกสินค้าอาหารจะหดตัวลงในไตรมาสที่ 2 จากฐานการส่งออกที่สูงในปีก่อน แต่จะฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 หรือในครึ่งปีหลังของปี 2566 โดยในช่วงครึ่งปีแรกคาดว่าไทยจะส่งออกสินค้าอาหารมูลค่า 734,459 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.0 และกลับมาขยายตัวได้ร้อยละ 5.2 ในครึ่งปีหลัง มูลค่าส่งออก 765,541 ล้านบาท ภาพรวมการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2566 คาดว่าจะมีมูลค่า 1,500,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 ซึ่งหากเป็นไปตามคาดจะเป็นสถิติส่งออกสูงสุดครั้งใหม่ (New high) ของการส่งออกอาหาร โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจาก (1) ภาครัฐมีนโยบายฟื้นฟูและการเปิดประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งภาคอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร ท่องเที่ยว บริการ  การค้าและการลงทุน (2) การขาดแคลนอาหารตลอด Supply Chain ทำให้มีความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มสูงขึ้นในตลาดประเทศกำลังพัฒนาและตลาดในภูมิภาคตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด-19 (3) ความกังวลเรื่องความมั่นคงอาหาร (Food Safety) 

ทำให้หลายประเทศและผู้บริโภคมีความต้องการสำรองอาหารเพิ่มมากขึ้น (4ป ผลิตภัณฑ์อาหารของไทยมีคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัย ตลอดจนสามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มา ซึ่งเป็นที่ยอมรับของตลาดผู้นำเข้าทั่วโลก และ (5) จีนเปิดประเทศและยกเลิกมาตรการ Zero-COVID ทำให้ปริมาณการค้าเพิ่มสูงขึ้น ระยะเวลาในการขนส่งสั้นลง โดยเฉพาะสินค้าที่มีตลาดทางตอนใต้ของจีน เช่น ไก่แช่แข็ง เป็นไปด้วยความสะดวกมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม คาดว่ายังมีอีกหลายปัจจัยที่จะทำให้การส่งออกไม่เป็นไปตามคาดการณ์ ได้แก่ (1) ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากราคาพลังงาน อาทิ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ค่าแก๊ส เป็นต้น (2) ความกังวลของเศรษฐกิจไทยอันเนื่องมาจากความผันผวนของค่าเงิน (3) ความกังวลภาวะเศรษฐกิจและปัญหาภาคธนาคารของสหรัฐฯ กระทบกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (4) เงินเยนญี่ปุ่นอ่อนค่าต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของคนญี่ปุ่น และความสามารถในการนำเข้าสินค้าจากภายนอก (5) ภาวะเงินเฟ้อยังคงกดดันกำลังซื้อของกลุ่มผู้บริโภคทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาที่เป็นตลาดหลักของไทย เช่น สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และ (6) ผลผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบสำคัญลดปริมาณลง และราคาปรับตัวสูง เช่น สับปะรดโรงงาน หัวมันสำปะหลัง กุ้ง ปลาทูน่า เป็นต้น

ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า อุตสาหกรรมอาหารคือรากฐานและเป็น Soft power ของประเทศ หากได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและเกิดการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนฐานราก ท้ายที่สุดจะช่วยยกระดับประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มรายได้สูง (High-income countries) ดังนั้น จึงฝากข้อเสนอสำหรับรัฐบาลใหม่ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ โดยเน้นเป้าประสงค์ 3 ข้อ 
พร้อมมาตรการสนับสนุน ดังนี้

1) ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขัน มีภูมิคุ้มกันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงโลก 

  • สนับสนุนการทำเกษตรแบบรวมผลิต รวมจำหน่าย (เกษตรแปลงใหญ่หรือสหกรณ์) 
  • สนับสนุนเกษตรกรและผู้ประกอบการให้เข้าถึงนวัตกรรม เทคโนโลยี แหล่งเงินทุน และมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่ยั่งยืน ด้วยต้นทุนที่แข่งขันได้
  • สนับสนุนแหล่งเงินทุนเพื่อผลักดันผู้ประกอบการ SMEs เข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตยั่งยืน และเป็นแกนกลางสำคัญในการขยายเครือข่ายความร่วมมือไปสู่ระดับการผลิตต้นน้ำในระดับฐานราก

2) สร้างระบบการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่ยั่งยืน ภายใต้ BCG โมเดล

  • สนับสนุนนโยบายการดำเนินธุรกิจภายใต้โมเดล BCG & ESG ให้สามารถเปลี่ยนถ่ายได้โดยไม่ได้มีต้นทุนที่สูง
  • ประสานความร่วมมือในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในห่วงโซ่อาหารเพื่อมุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)
  • ส่งเสริมการพัฒนาการประกอบธุรกิจ โดยคำนึงถึงการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า (Circular economy)

3) ประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มรายได้สูงด้วยอุตสาหกรรมอาหาร (High-income countries) 

  • สนับสนุนผู้ประกอบการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี ในการยกระดับสินค้าพื้นฐาน (Basic food) ไปสู่อาหารอนาคต (Future food) 
  • มาตรการผลักดันการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง จากการที่ไทยมีอาหารเป็น Soft power พร้อมจัดทำแผนงานและงบประมาณสนับสนุน
  • จัดตั้งหน่วยงานหลักและสนับสนุนงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย

 

#แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทยปี 2566 #ส่งออกอาหารไทย #ภาพรวมอุตสาหกรรมอาหาร 2566 #ส่งออกสินค้าอาหารของไทย 2566

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH