ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2566 เดือน มี.ค. ปรับลดลง 1.7% อยู่ในทิศทางลบครั้งแรกรอบ 26 เดือน
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสรุปรายงานดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไทย เดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 110.1 ลดลง 1.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลง 0.2% จากเดือนก่อนหน้า โดยราคาสินค้าผู้ผลิตมีทิศทางเป็นลบครั้งแรกในรอบ 26 เดือน หลังจากชะลอตัวต่อเนื่องมา 9 เดือน ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการลดลงของราคาสินค้า 2 หมวดหลัก ได้แก่ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และผลิตภัณฑ์จากเหมือง ซึ่งราคาเคลื่อนไหวตามตลาดโลก
ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) เดือนมีนาคม 2566 (ปี 2558 = 100) เท่ากับ 110.1 เทียบกับเดือนมีนาคม 2565 ลดลงร้อยละ 1.7 (YoY) เป็นผลมาจากการปรับตัวของราคาสินค้าผู้ผลิตทั้ง 3 หมวดหลัก ประกอบด้วย
- หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.7 จากกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี และโลหะขั้นมูลฐาน (เหล็ก)
- หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 6.5 จากกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ ปิโตรเลียมดิบและก๊าซธรรมชาติ และสินแร่โลหะ
- หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 0.5 เป็นผลจากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ข้าวเปลือก หัวมันสำปะหลังสด อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชผัก ผลไม้ ไก่/สุกรมีชีวิต ไข่ไก่ ไข่เป็ด และผลิตภัณฑ์จากการประมง
ขณะที่ ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) พบว่า ดัชนีราคาหมวดสินค้าสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.5 จากการสูงขึ้นของราคาในกลุ่มสินค้าบริโภค และกลุ่มสินค้าทุน ขณะที่หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) ลดลงร้อยละ 5.6 จากการลดลงของราคาในกลุ่มสินค้ากึ่งสำเร็จรูปสำหรับอุตสาหกรรม และหมวดสินค้าวัตถุดิบ ลดลงร้อยละ 1.7 จากการลดลงของราคาในกลุ่มสินค้าวัตถุดิบที่ไม่ใช่อาหาร
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม MPI ปี 2566 เดือน ก.พ. หดตัว 0.45% เทียบเดือนก่อน
- ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ สูงสุดรอบ 47 เดือน รับอานิสงส์ภาคการผลิตขยายตัวต่อเนื่อง
- ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2566 เดือน ก.พ. เพิ่มขึ้น 1.6% ภาพรวม 2 เดือนแรก เพิ่ม 2%
ดัชนีราคาผู้ผลิต 2566 เดือนมีนาคม เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) ลดลงร้อยละ 1.7 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้
-
หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.7 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 น้ำมันก๊าด ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และน้ำมันหล่อลื่น เนื่องจากราคาเคลื่อนไหวตามราคาในตลาดโลก กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแท่ง น้ำยางข้น ยางแผ่นรมควัน ถุงมือยาง แผ่นฟิล์มพลาสติก ท่อพลาสติก และข้อต่อพลาสติก เนื่องจากราคาวัตถุดิบปรับลดลง กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก โซดาไฟ และกรดเกลือ เนื่องจากราคาเคลื่อนไหวตามราคาอ้างอิงตลาดต่างประเทศ ประกอบกับความต้องการของตลาดชะลอตัว กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กเส้น เหล็กแผ่นรีดร้อน ท่อเหล็กกล้า เหล็กรูปตัวซี และเหล็กลวด เนื่องจากราคาวัตถุดิบในตลาดโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง
- หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 6.5 จากการลดลงของราคาสินค้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติน้ำมันปิโตรเลียมดิบ และแร่โลหะ (สังกะสี ดีบุก เหล็ก วุลแฟรม) ราคาเคลื่อนไหวตามทิศทางราคาตลาดโลกที่ลดลง
- หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 0.5 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกเหนียวเนื่องจากความต้องการในประเทศเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ประกอบกับการส่งออกข้าวไทยมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น หัวมันสำปะหลังสด เนื่องจากความต้องการของตลาดมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลัก อ้อย เนื่องจากความต้องการใช้ในการบริโภค และในอุตสาหกรรมต่างๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาปรับตัวในทิศทางบวกสอดคล้องกับราคาน้ำตาลในตลาดโลก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากมีความต้องการใช้เพื่อเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์อย่างต่อเนื่อง พืชผัก (มะนาว หน่อไม้ฝรั่ง พริกสด ถั่วฝักยาว กระเทียม แตงกวา หอมแดง มะเขือ ผักกวางตุ้ง กะหล่ำปลี ต้นหอม พริกชี้ฟ้าสด ผักบุ้ง แตงร้าน ผักกาดขาว บวบ) และผลไม้ (ลำไย สับปะรดโรงงาน มะละกอสุก กล้วยน้ำว้า มะพร้าวอ่อน กล้วยไข่ ส้มเขียวหวาน ฝรั่ง องุ่น มะม่วง) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากสภาพอากาศที่แปรปรวน กลุ่มสัตว์ ได้แก่ ไก่/สุกรมีชีวิต ไข่ไก่ และไข่เป็ด เนื่องจากมีความต้องการบริโภคอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ยังอยู่ในระดับสูง และกลุ่มผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ ปลาหมึกกล้วย ปูม้า ปลาทูสด หอยนางรม กุ้งทะเล ปลาลัง ปลาทรายแดง ปลาอินทรี ปลาจะละเม็ด ปลากะพง หอยแมลงภู่ ปลานิล ปลาดุก ปลาช่อน และปลาตะเพียน เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว สำหรับสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ผลปาล์มสด เนื่องจากผู้ประกอบการยังคงมีสต็อกน้ำมันปาล์มดิบอยู่ในระดับสูง ประกอบกับมีปริมาณผลผลิตปาล์มเข้าสู่ตลาดมากกว่าปีก่อน และยางพารา เนื่องจากความต้องการใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมยานยนต์และถุงมือยางชะลอตัว
ดัชนีราคาผู้ผลิต 2566 เดือนมีนาคม เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) ลดลงร้อยละ 0.2 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้
-
หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ ทองคำ ราคาปรับสูงขึ้นตามตลาดโลก โดยมีปัจจัยหนุนจากตลาดมีความกังวลกับวิกฤตภาคธนาคารในสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้ความต้องการลงทุนในทองคำเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทอ่อนค่าลง กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (ฮาร์ดดิสไดรฟ์) และ Integrated Circuit (IC) ราคาปรับสูงขึ้นตามค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในเดือนนี้ กลุ่มเคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติกและวัตถุดิบ ตามอุปทานที่ลดลงเนื่องจากผู้ผลิตบางรายหยุดการผลิตเพื่อซ่อมบำรุงโรงงาน นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอุตสาหกรรมหลายกลุ่มที่ราคาปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตทั้งราคาวัตถุดิบ และค่าไฟฟ้า รวมถึงสินค้าส่งออกซึ่งราคาปรับตามค่าเงินบาท ที่อ่อนค่าในเดือนนี้ โดยมีสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ มันเส้น น้ำตาลทราย น้ำมันปาล์ม ข้าวนึ่ง กุ้งแช่แข็ง น้ำสับปะรด ปลาทูน่ากระป๋อง และสับปะรดกระป๋อง กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแร่อโลหะ ได้แก่ เสาเข็มคอนกรีต แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป ท่อคอนกรีต และคอนกรีตผสมเสร็จ กลุ่มสิ่งทอ ได้แก่ ผ้าใยสังเคราะห์ ผ้าดิบ ผ้าฝ้าย ด้ายฝ้าย และด้ายใยสังเคราะห์ผสมฝ้าย กลุ่มเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ได้แก่ เสื้อยืด กางเกงสตรี ถุงเท้า และกางเกงชั้นในบุรุษและสตรี และกลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กลวด เหล็กเส้นกลมข้ออ้อย และเหล็กแผ่น
- หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 10.5 จากการลดลงของราคาสินค้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันปิโตรเลียมดิบ ตามทิศทางราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas : LNG) ในตลาดโลกที่ปรับลดลง เนื่องจากปริมาณก๊าซ LNG สำรองในหลายประเทศยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ความต้องการของตลาดชะลอตัว รวมทั้งแร่โลหะ (สังกะสี ดีบุก เหล็ก) ราคาปรับลดลงตามทิศทางราคาตลาดโลก
- หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 0.8 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า เนื่องจากความต้องการของตลาดมีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงสีบางรายต้องการข้าวเพื่อส่งมอบให้คู่ค้า หัวมันสำปะหลังสด เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ความต้องการใช้เพื่อเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมสุขอนามัย สุรา เคมีภัณฑ์ พลังงาน และอาหารสัตว์ยังมีอย่างต่อเนื่อง อ้อย เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง โดยมีโรงงานน้ำตาลทรายบางรายเริ่มทยอยปิดหีบ สับปะรดโรงงาน เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยไม่เพียงพอกับความต้องการของโรงงาน พืชผัก (มะนาว ผักกวางตุ้ง ต้นหอม พริกสด ผักคะน้า หอมแดง กะหล่ำปลี พริกชี้ฟ้าสด ผักชี) ผลไม้ (สับปะรดโรงงาน ลำไย ชมพู่ มะละกอสุก มะม่วง ส้มเขียวหวาน กล้วยน้ำว้า องุ่น) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยในการเพาะปลูก กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ผลปาล์มสด เนื่องจากยังมีความต้องการใช้อย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านพลังงาน การบริโภค และการส่งออก ยางพารา (น้ำยางสด ยางแผ่นดิบ) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง เพราะเป็นช่วงฤดูปิดกรีดยาง ขณะที่ผู้ประกอบการยังคงมีความต้องการยางเพื่อส่งมอบอย่างต่อเนื่อง และมะพร้าวผล เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยไม่เพียงพอกับความต้องการของโรงงานที่มีความต้องการอย่างต่อเนื่อง สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากโรงงานส่วนใหญ่มีสินค้าในสต็อกเพียงพอต่อความต้องการใช้ ส่งผลให้ราคาปรับลดลงเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในระดับสูง ข้าวเปลือกเหนียว เนื่องจากปริมาณผลผลิตมีเพียงพอกับความต้องการบริโภค ราคาจึงปรับลดลงเล็กน้อย กลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกร/ไก่มีชีวิต ไข่ไก่ และไข่เป็ด เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ราคาปรับลดลง และผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ กุ้งแวนนาไม หอยแครง ปลาลัง ปลาอินทรี ปลานิล และปลาช่อน เนื่องจากความต้องการบริโภคชะลอ
ดัชนีราคาผู้ผลิต 2566 ไตรมาส 1 (ม.ค.- มี.ค.) เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 0.7 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้
- หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.4
- หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 6.9
- หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 1.7
ดัชนีราคาผู้ผลิต 2566 ไตรมาส 1 (ม.ค.- มี.ค.) เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ลดลงร้อยละ 2.8 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้
- หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 2.3
- หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 18.9
- หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 1.7
แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต 2566 ไตรมาส 2
ดัชนีราคาผู้ผลิตไตรมาสที่ 2 ปี 2566 มีแนวโน้มลดลง ตามราคาพลังงานที่ต่ำกว่าปีก่อนค่อนข้างมาก ส่งผลให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องในหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดอุตสาหกรรมลดลงตาม นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง โดยเฉพาะในประเทศคู่ค้าสำคัญ ส่งผลให้อุปสงค์และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกลดลง ประกอบกับฐานราคาปี 2565 อยู่ในระดับสูง มีส่วนทำให้ดัชนีราคาผู้ผลิตปรับตัวลดลง
อย่างไรก็ตาม ความแปรปรวนของสภาพอากาศที่อาจส่งผลต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตรและประมง ต้นทุนการผลิตที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าจ้างขั้นต่ำ และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นมาแล้ว ความไม่แน่นอนของอุปทานน้ำมัน และอุปสงค์ภายในประเทศที่ได้รับแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน อาจส่งผลต่ออุปสงค์และอุปทานของสินค้าและบริการ ซึ่งจะกระทบต่อภาคการผลิตและดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไทยตามลำดับ ทั้งนี้ จะต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
#ดัชนีราคาผู้ผลิต 2566 #ดัชนีราคาผู้ผลิต ppi #ดัชนีราคาผู้ผลิต ย้อนหลัง #แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต #ดัชนีราคา #ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม #กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า #สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า #กระทรวงพาณิชย์
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- สรุปยอดขายรถยนต์ในไทย ปี 2565
- ครม. อนุมัติงบอุดหนุนรถ BEV 18,000 - 150,000 บาท/คัน
- ภาพรวมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของไทย
- 17 อุตสาหกรรมแนวโน้มเติบโตในปี 2566
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH