ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม 2566 ธันวาคม

ดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯ ธ.ค. 66 ปรับตัวลดลง จากกำลังการผลิตชะลอช่วงปีใหม่

อัปเดตล่าสุด 17 ม.ค. 2567
  • Share :
  • 24,680 Reads   

ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม เดือนธันวาคม 2566 อยู่ที่ 88.8 เพิ่มขึ้นจากระดับ 90.9 ในเดือนพฤศจิกายน ค่าดัชนีฯปรับตัวลดลงจากกำลังการผลิตที่ชะลอช่วงปีใหม่ โดยลดลงเกือบทุกองค์ประกอบ - หนุน Easy E-Receipt กระตุ้นเศรษฐกิจ

วันที่ 17 มกราคม 2567 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมเปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ประจำเดือนธันวาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 88.8 ปรับตัวลดลง จาก 90.9 ในเดือนพฤศจิกายน เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของค่าดัชนีฯ พบว่าปรับตัวลดลงเกือบทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ขณะที่ดัชนีฯ ต้นทุนประกอบการปรับเพิ่มขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงมีปัจจัยเสี่ยงจากภาคการผลิตชะลอลง เนื่องจากวันทำงานน้อยและวันหยุดต่อเนื่องในเทศกาลปีใหม่ ประกอบกับผู้ผลิตได้เร่งการผลิตในช่วงก่อนหน้า ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคยังฟื้นตัวไม่เต็มที่จากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังทรงตัวในระดับสูง ขณะเดียวกันยังมีปัญหาการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง นอกจากนี้ภาคการก่อสร้างชะลอตัวลงโดยเฉพาะโครงการก่อสร้างของภาครัฐ ส่งผลให้ความต้องการใช้สินค้าวัสดุก่อสร้างลดลง ด้านการส่งออกประสบปัญหาอัตราค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้น จากกรณีกลุ่มฮูตีในเยเมนโจมตีเรือขนส่งสินค้าพาณิชย์ที่แล่นผ่านทะเลแดง ส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะระหว่างทวีปเอเชียและยุโรป

แต่อย่างไรก็ตามในเดือนธันวาคมยังมีปัจจัยบวกจากความต้องการสินค้าสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าแฟชั่น ที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ และอานิสงค์การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ขณะที่ภาคการส่งออกมีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่องจากอุปสงค์จากประเทศคู่ค้าทยอยฟื้นตัว นอกจากนี้มาตรการอุดหนุนราคาพลังงานของภาครัฐ โดยการปรับลดราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้า ช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ 

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,309 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนธันวาคม 2566 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจโลก ร้อยละ 81.1 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 72.2 อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 45.2 ตามลำดับ ปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน ร้อยละ 48.5 เศรษฐกิจในประเทศ ร้อยละ 43.0 สถานการณ์การเมืองในประเทศ ร้อยละ 38.5 ตามลำดับ 

ขณะที่ดัชนีฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 96.2 ปรับตัวลดลง จาก 97.3 ในเดือนพฤศจิกายน โดยมีปัจจัยกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่กระทบต่อต้นทุนประกอบการ ตลอดจนความไม่แน่นอนของปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (commodities) ปรับตัวสูงขึ้นทั้งราคาพลังงานและวัตถุดิบ แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการ Easy E-Receipt ซึ่งเป็นมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับปี 2567 ช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศในช่วงวันที่ 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2567

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 

1) สนับสนุนกระทรวงพลังงานในการดำเนินการปรับโครงสร้างพลังงานทุกประเภทให้มีความเป็นธรรมต่อผู้ใช้งาน และควรเปิดให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมให้ความเห็นผ่าน กรอ.พลังงาน
2) เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาผลจากปัญหาค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปัญหาความไม่สงบบริเวณทะเลแดง โดยเฉพาะสายเรือขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ในเส้นทางระหว่างเอเชียและยุโรป 
3) ขอให้กรมสรรพากรเร่งประชาสัมพันธ์และอำนวยความสะดวกร้านค้าขนาดกลางและขนาดเล็ก ในการยื่นคำขอออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (E-Tax) เพื่อให้สามารถเข้าร่วมโครงการ Easy E-Receipt ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสในการขายสินค้าและบริการ

ทั้งนี้ ส.อ.ท. ได้ทำการรวบรวมข้อมูลผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม และข้อมูลตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมจากหน่วยงานต่างๆ ย้อนหลัง 3 ปี จัดทำเป็น Dashboard เผยแพร่ในเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม Industry Data Space (iDS) ของ ส.อ.ท. เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ โดยสามารถเข้าไปใช้บริการข้อมูลดังกล่าวได้ที่ www.fti.or.th/ids 

 

 

อ่านต่อ:

 

#ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม #ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม #อุตสาหกรรมไทย #SME #สถานประกอบการ #สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH