ส่งออกไทย 2566 เดือนพฤษภาคม (พ.ค.) กระทรวงพาณิชย์

ส่งออกไทย 2566 เดือน พ.ค. หดตัว 4.6% ต่อเนื่องเดือนที่ 8

อัปเดตล่าสุด 8 ก.ค. 2566
  • Share :

สถานการณ์ส่งออกในเดือนพฤษภาคม 2566 ไทยทำตัวเลขส่งออกอยู่ที่ระดับ 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 4.6% เมี่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8

วันที่ 27 มิถุนายน 2566 นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขการส่งออกเดือนพฤษภาคม 2566 มีมูลค่า 24,340.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (830,448ล ล้านบาท) หดตัวร้อยละ 4.6 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัวร้อยละ 1.4 จากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ยังมีความไม่แน่นอน แม้ว่าภาคการผลิตอุตสาหกรรมโลกเร่งตัวขึ้นจากการผ่อนคลายปัญหาห่วงโซ่การผลิต แต่คำสั่งซื้อใหม่สำหรับการส่งออกไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคควบคุมการใช้จ่ายมากขึ้น

อย่างไรก็ดีการส่งออกของไทยหดตัวน้อยลงกว่าเดือนก่อนหน้า และทำมูลค่าสูงกว่ามูลค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังของเดือนพฤษภาคม (21,658.8 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยได้แรงหนุนจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวในรอบ 8 เดือน จากกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (เช่น อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ หม้อแปลงไฟฟ้าฯ) ยานพาหนะและส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้า (เช่น เครื่องปรับอากาศ) ขณะที่ตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ อาเซียน(5) และสหภาพยุโรป กลับมาขยายตัวอีกครั้ง ทั้งนี้ การส่งออกไทย 5 เดือนแรกหดตัวร้อยละ 5.1 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัวร้อยละ 2.1

สรุปมูลค่าการค้ารวม

มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนพฤษภาคม 2566 การส่งออก มีมูลค่า24,340.9ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 4.6 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า26,190.2ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 3.4 ดุลการค้า ขาดดุล 1,849.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวม 5 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 116,344.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 5.1 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 122,709.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 2.5 ดุลการค้า 5 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 6,365.3 ล้านเหรียญสหรัฐ

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 16.3 (YoY) หดตัวในรอบ 4 เดือน หดตัวจากสินค้าเกษตรสูงถึงร้อยละ 27.0 ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 0.6 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน แต่ยังมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 44.3 กลับมาขยายตัว หลังจากหดตัวเมื่อเดือนก่อนหน้า (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย) ข้าว ขยายตัวร้อยละ 84.6ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย อิรัก แอฟริกาใต้สหรัฐฯและญี่ปุ่น) เครื่องดื่ม ขยายตัวร้อยละ 10.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดเวียดนาม จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ) ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง ขยายตัวร้อยละ 55.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ และสิงคโปร์) ผักกระป๋องและผักแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 28.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ ไต้หวัน เกาหลีใต้ และจีน)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง หดตัวร้อยละ 54.8 หดตัวในรอบ 7 เดือน (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ฮ่องกง เวียดนาม และญี่ปุ่น แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และแคนาดา) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 41.7 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดจีน ไต้หวัน สหรัฐฯ เกาหลีใต้และอินโดนีเซีย แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น อินเดีย เวียดนาม ลาว และบังกลาเทศ) ยางพารา หดตัวร้อยละ 37.2 หดตัวต่อเนื่อง 10 เดือน (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้แต่ขยายตัวในตลาดเยอรมนี) อาหารสัตว์เลี้ยง หดตัวร้อยละ 23.8 หดตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย อิตาลี และฟิลิปปินส์แต่ขยายตัวในตลาดลาว กัมพูชา เมียนมา นิวซีแลนด์ และบังกลาเทศ) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ หดตัวร้อยละ 63.0 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดอินเดีย มาเลเซีย กัมพูชา ญี่ปุ่น และเวียดนาม แต่ขยายตัวในตลาดเมียนมา เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง และเนเธอร์แลนด์) ทั้งนี้ 5 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 1.3

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 1.5 (YoY) กลับมาขยายตัวในรอบ 8 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 8.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น และซาอุดีอาระเบีย) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบขยายตัวร้อยละ 10.2 กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวเมื่อเดือนก่อนหน้า (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เวียดนาม อินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขยายตัวร้อยละ 87.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 11 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เวียดนาม อินเดีย จีน และเกาหลีใต้) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 53.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 19 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ เม็กซิโก อิตาลีและมาเลเซีย) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 22.9 กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวเมื่อเดือนก่อนหน้า (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น เบลเยียม สหรัฐฯ บราซิล และออสเตรเลีย)

 

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวร้อยละ 26.8 หดตัวต่อเนื่อง 10 เดือน (หดตัวในตลาดจีน กัมพูชาอินเดียเวียดนาม และสิงคโปร์แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอียิปต์) เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 4.8 หดตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์และญี่ปุ่น แต่ขยายตัวในตลาดสิงคโปร์ มาเลเซีย ออสเตรเลีย เยอรมนีและอินเดีย) ผลิตภัณฑ์ยาง หดตัวร้อยละ 6.0 หดตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย อินเดีย และบราซิล) เครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์ หดตัวร้อยละ 34.7 หดตัวในรอบ 4 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ เมียนมา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และฮ่องกง แต่ขยายตัวในตลาดแคนาดา กัมพูชา สหราชอาณาจักร อินเดีย และเกาหลีใต้) ทองแดงและของทำด้วยทองแดง หดตัวร้อยละ 21.2 หดตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม สหรัฐฯ และไต้หวัน แต่ขยายตัวในตลาดอินเดีย เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ตุรกี และออสเตรเลีย) ทั้งนี้ 5 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 5.4

ตลาดส่งออกสำคัญ

การส่งออกไปยังตลาดสำคัญส่วนใหญ่กลับมาขยายตัว อาทิ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และอาเซียน (5) สะท้อนอุปสงค์จากประเทศคู่ค้าที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าหลายประเทศจะยังเผชิญกับความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอย จากแรงกดดันจากอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนส่งผลให้การส่งออกไปตลาดจีนกลับมาหดตัว

ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก หดตัวร้อยละ 6.0 โดยกลับมาหดตัวในตลาดจีน ร้อยละ 24.0 และหดตัวต่อเนื่องในตลาดญี่ปุ่น ร้อยละ 1.8 และ CLMVร้อยละ 17.3 ขณะที่ตลาดสหรัฐฯ อาเซียน (5) และสหภาพยุโรป (27) กลับมาขยายตัวร้อยละ 4.2 ร้อยละ 0.1 และร้อยละ 9.5 ตามลำดับ (2) ตลาดรอง หดตัวร้อยละ 4.5 โดยหดตัวในตลาดเอเชียใต้ร้อยละ 25.2 และลาตินอเมริกา ร้อยละ 7.0 แต่ขยายตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย ร้อยละ 11.4 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 11.2แอฟริกา ร้อยละ 7.9 รัสเซียและกลุ่ม CIS ร้อยละ 97.7 และสหราชอาณาจักร ร้อยละ 5.9 (3) ตลาดอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 226.0 อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัวร้อยละ 330.2

แนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป

สำหรับแนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่า ไทยกำลังเผชิญปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกจาก (1) ภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าที่อาจลุกลามไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรป (2) สภาพอากาศแปรปรวน อาจส่งผลต่อปริมาณสินค้าเกษตรที่ผลิตได้ในปีนี้ (3) แรงกดดันของอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่ส่งผลกระทบต่อการบริโภค และภาคการผลิตสินค้า (4) การเปลี่ยนแปลงแนวทางนโยบายการค้าของคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะนโยบายการพึ่งพาตนเองของจีน ขณะที่ปัจจัยบวกต่อการส่งออกของไทยได้แก่ (1) การดำเนินนโยบายในเชิงรุกและเชิงลึกของกระทรวงพาณิชย์ที่มุ่งรักษาตลาดเดิม เจาะตลาดใหม่ เพื่อขยายโอกาสของผู้ประกอบการส่งออกไทย (2) แนวโน้มการชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจช่วยลดแรงกดดันต่อภาคการบริโภคและการลงทุน (3) ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ อาจเป็นโอกาสที่ดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH