ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย ไตรมาสที่ 1/2563

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย ไตรมาสที่ 1/2563

อัปเดตล่าสุด 10 มิ.ย. 2563
  • Share :
  • 1,308 Reads   

กองวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 1/2563 พิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 6.6 โดยปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวรวมถึงผลกระทบจาก สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 

อุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัวในไตรมาสที่ 1/2563 อาทิ การผลิตรถยนต์ ภาวะการผลิตลดลงเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ปัจจัยหลักจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศและการส่งออก รวมถึงผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้งานแสดงรถยนต์ในเดือนเมษายน เลื่อนออกไปส่งผลกระทบต่อยอดขายในประเทศ การผลิตน้ำตาล เนื่องจากปีนี้โรงงานปิดหีบเร็ว เกษตรกรลดพ้ืนที่ เพาะปลูกและสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยทำให้ผลผลิตอ้อยเฉลี่ยต่อไร่ลดลง การผลิตน้ำมันปาล์ม การผลิตลดลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวตั้งแต่ปีก่อนและยังคงยืดเยื้อมาถึงปัจจุบัน 

อุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวดี ในไตรมาสที่ 1/2563 อาทิ เครื่องปรับอากาศ จากปริมาณการจำหน่ายในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากสินค้าเครื่องปรับอากาศประเภทอินเวอร์เตอร์ และสามารถกรองฝุ่นและเชื้อโรคหรือสิ่งปนเปื้อนในอากาศได้ รวมถึงสภาพอากาศที่ร้อนทั่วประเทศเช่นเดียวกับปริมาณการส่งออกที่ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากกลุ่มประเทศอาเซียน และออสเตรเลียจากวิกฤตไฟป่า Hard Disk Drive ภาวการณ์ผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยได้รับปัจจัยบวกหลังการปิดฐานการผลิตที่มาเลเซียและย้ายฐานจากฟิลิปปินส์ 

ภาพรวมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย ไตรมาสที่ 1 ปี 2563 

GDP หดตัวร้อยละ 1.8 (%YoY) ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 หดตัวร้อยละ 1.8 โดย ชะลอตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 และชะลอตัวจากไตรมาสที่ผ่านมาที่มีการขยายตัวร้อยละ 1.5 

ผลผลิตมวลรวมของภาคอุตสาหกรรม ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 เป็นการชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า และชะลอตัวลงต่อเนื่องกันสามไตรมาส สอดคล้องกับการลดลงของการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ชะลอตัวลงมาก และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ไปทั่วโลก ส่งผลทำให้การผลิตรวมทั้งการส่งออกชะลอตัว

GDP ภาคอุตสาหกรรม ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 หดตัวร้อยละ 2.7 (%YoY) ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ที่มีการหดตัวร้อยละ 2.2 และชะลอตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.2 โดยชะลอตัวลงตามการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกและเพื่อบริโภคในประเทศ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นสำคัญ 

ดัชนีอุตสาหกรรมที่สำคัญ

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 อยู่ที่ระดับ 102.55 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (97.46) ร้อยละ 5.2 แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2562 (109.83) ร้อยละ 6.6 อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตน้ำตาล การผลิตเครื่องปรับอากาศ และการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม เป็นต้น สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิต อุตสาหกรรมลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2562 ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตน้ำตาล และการผลิต น้ำมันปาล์ม เป็นต้น

ดัชนีการส่งสินค้า ในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 อยู่ที่ระดับ 100.07 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (99.48) ร้อยละ 0.6 แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2562 (105.70) ร้อยละ 5.33 อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตเครื่องปรับอากาศ การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม และการผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีต ปูนซีเมนต์และปูนปลาสเตอร์ เป็นต้น สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้า ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2562 ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตน้ำมันปาล์ม และการผลิตพลาสติก และยางสังเคราะห์ขั้นต้น เป็นต้น

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง ในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 อยู่ที่ระดับ 139.85 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (135.03) ร้อยละ 3.57 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกัน ของปี 2562 (138.67) ร้อยละ 0.85 อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่การผลิตน้ำตาล การ ผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง และการผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ เป็นต้น สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2562 ได้แก่ การผลิตยานยนต์การผลิตของที่ทำจากลวด โซ่ สปริง สลักเกลียว ตะปูควง และการผลิตเนื้อสัตว์ปีกสดแช่เย็นและแช่แข็ง เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต ในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 อยู่ที่ระดับร้อยละ 66.68 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (ร้อยละ 63.33) แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 (ร้อยละ 70.82) อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิต เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตน้ำตาล การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม และการผลิตเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2562 ได้แก่ การผลิตยานยนต์การผลิตน้ำตาล และการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม เป็นต้น 

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 มีค่าดัชนีอยู่ที่ 90.13 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (91.73) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2562 (95.23) ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ล่วงหน้า 3 เดือน อยู่ที่ระดับ 97.83 ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2562 (104.57) ปัจจัยลบที่ส่งผลต่อการปรับตัวลดลงของความ เชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในช่วงไตรมาส 1 ปี2563 ยังเป็นผลจากการระบาดของการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่รุนแรงขึ้น รวมทั้งกำลังซื้อและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศลดลงจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และความเข้มงวดในการควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ภาคธุรกิจประสบปัญหาการผลิตและจำหน่ายสินค้าลดลง รวมทั้งปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้ผลผลิตด้านเกษตรลดลง นอกจากนี้ยังมีผลมาจากความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ทำให้การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐชะลอตัว

 

อ่านต่อ: ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เมษายน 2563 ผู้ประกอบการปรับแผนผลิตรับ New Normal