ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2565 เดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 13.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสรุปรายงานดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไทย เดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 115.1 เพิ่มขึ้น 13.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) เดือนพฤษภาคม 2565 (ปี 2558 = 100) เท่ากับ 115.1 เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2564 สูงขึ้นร้อยละ 13.3 (YoY) เป็นผลมาจากปัจจัยด้านต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น อาทิ ราคาวัตถุดิบทั้งในประเทศและนำเข้า บรรจุภัณฑ์ และพลังงาน รวมถึงความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยราคามีการปรับสูงขึ้นทั้ง 3 หมวดหลัก ประกอบด้วย
Advertisement | |
- หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 11.8 จากกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์อาหาร เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ
- หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 76.7 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และแร่โลหะ
- หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 7.5 เป็นผลจากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ผลปาล์มสด ยางพารา อ้อย หัวมันสำปะหลังสด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวเปลือกเจ้า สุกรมีชีวิต ไก่มีชีวิต ไข่ไก่ และผลิตภัณฑ์จากการประมง
ขณะที่ ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) พบว่าดัชนีหมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 5.9 22.1 และ 32.8 ตามลำดับ โดยมีสินค้าสำคัญในห่วงโซ่อุปทานที่ราคาปรับสูงขึ้นตามวัตถุดิบ ได้แก่ ผลปาล์มสด น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ มันสำปะหลังสด มันเส้น/ มันอัดเม็ด/แป้งมันสำปะหลัง อ้อย น้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาว และ น้ำยางสด/ยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควัน/ยางแท่ง ยางล้อ/ยางรัดของ เนื่องจากความต้องการของตลาดยังคงมีอย่างต่อเนื่อง
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม MPI ปี 2565 เม.ย. หดตัวจากเดือนก่อน ภาพรวม 4 เดือนแรกขยายตัว 1.37%
- ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2565 เดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น 12.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรกลญี่ปุ่น 2565 เดือนเมษายน โตทั่วโลก 25% ไม่เจอชิ้นส่วนขาด-ล็อกดาวน์จีน
ดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 เดือนพฤษภาคม เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 13.3 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้
-
หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 11.8 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, 95 น้ำมันเตา และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เนื่องจากราคาเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันและก๊าซในตลาดโลก กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ เนื้อสุกร ไก่สด น้ำมันปาล์ม มันเส้น ปลาทูน่ากระป๋อง น้ำสับปะรด และน้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ เนื่องจากราคาวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งค่าขนส่งวัตถุดิบปรับสูงขึ้น ประกอบกับปริมาณวัตถุดิบมีน้อย ขณะที่ความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศอยู่ในระดับสูง น้ำตาลทราย ราคาสูงขึ้นในทิศทางเดียวกับราคาตลาดโลก กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก และปุ๋ยเคมีผสม จากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) จากการปรับโครงสร้างต้นทุนสินค้าใหม่ และเงินบาทที่อ่อนค่า กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ทองคำ ซึ่งราคาปรับสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก กลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ได้แก่ รถยนต์นั่ง รถบรรทุก และชิ้นส่วนรถยนต์ เนื่องจากผู้ผลิตบางรายมีการปรับโครงสร้างต้นทุนสินค้าใหม่ ประกอบกับเงินบาทอ่อนค่าลง สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับราคาสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแท่ง ถุงพลาสติก และบรรจุภัณฑ์พลาสติกอื่น ๆ
- หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 76.7 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และกลุ่มแร่ (แร่สังกะสี เหล็ก ดีบุก และวุลแฟรม) ตามภาวะตลาดโลก
- หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 7.5 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ผลปาล์มสด เนื่องจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดยังมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาตลาดโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ยางพารา เนื่องจากความต้องการใช้ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์และการผลิตถุงมือยาง กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ อ้อย ปรับราคาสูงขึ้นในทิศทางเดียวกับราคาตลาดโลก หัวมันสำปะหลังสด เนื่องจากความต้องการของตลาดต่างประเทศยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลง ขณะที่ความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นด้วย และข้าวเปลือกเจ้า เนื่องจากความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้นจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่เริ่มฟื้นตัว กลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกรมีชีวิต เนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลงจากผลกระทบของโรคระบาดในสุกร ประกอบกับต้นทุนการเลี้ยงปรับตัวสูงขึ้น ไก่มีชีวิต ไข่ไก่ และไข่เป็ด เนื่องจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับสูงขึ้น และผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ ปลาหมึกกล้วย กุ้งแวนนาไม กุ้งทะเล ปูม้า ปลาช่อน และปลาดุก เนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลง ขณะที่ความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการ
ดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 เดือนพฤษภาคม เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 1.0 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้
-
หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.1 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, 95 และน้ำมันเครื่องบิน ราคาเคลื่อนไหวตามภาวะตลาดโลก เนื่องจากความกังวลของตลาดต่อผลกระทบของมาตรการคว่ำบาตรประเทศรัสเซีย ซึ่งจะส่งผลให้อุปทานน้ำมันโลกมีแนวโน้มตึงตัว กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ เนื้อสุกร มันเส้น ข้าวสารเจ้า ข้าวนึ่ง และไก่สด เนื่องจากวัตถุดิบมีปริมาณน้อย ขณะที่ความต้องการของตลาดยังมีอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์อาหารอีกหลายรายการที่ปรับสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ และพลังงาน ซึ่งเป็นต้นทุนในการผลิต ได้แก่ ปลาทูน่ากระป๋อง น้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ น้ำสับปะรด น้ำมันปาล์ม และอาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูป กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) ราคาปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและค่าเงินบาทที่อ่อนค่า กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแร่อโลหะ ได้แก่ เสาเข็มคอนกรีต โถส้วม กระเบื้องปูพื้น-บุผนัง คอนกรีตผสมเสร็จ และแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป กลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ กระดาษคร๊าฟท์ กล่องกระดาษ และกระดาษพิมพ์เขียน เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบและราคาพลังงานปรับสูงขึ้น กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ วัตถุดิบในการผลิตเม็ดพลาสติก กรดกำมะถัน โซดาไฟ และปุ๋ยเคมีผสม เนื่องจากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น ประกอบกับความต้องการใช้ยังมีอย่างต่อเนื่อง
- หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 3.9 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันปิโตรเลียมดิบ ตามภาวะตลาดโลก
- หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ลดลงร้อยละ 0.9 จากการลดลงของสินค้าสำคัญผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มพืชล้มลุก พืชผัก (มะนาว พริกสด ผักกาดขาว ผักคะน้า ต้นหอม และกะหล่ำปลี) ผลไม้ (ทุเรียน สับปะรดโรงงาน/บริโภค ฝรั่ง ชมพู่ และองุ่น) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมาก จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ผลปาล์มสด เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ขณะที่ราคายังอยู่ในระดับสูง และมะพร้าวผล เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ กุ้งแวนนาไม ปลาลัง และหอยแครง เนื่องจากปริมาณผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ขณะการบริโภคยังทรงตัวส่งผลให้ราคาปรับตัวลดลงเล็กน้อย สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกเหนียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หัวมันสำปะหลังสด ยางพารา และกลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกรมีชีวิต ไก่มีชีวิต และไข่ไก่
ดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 เฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค.- พ.ค.) เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 11.1 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้
- หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 9.9 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, 95 น้ำมันเตา และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก โซดาไฟ และปุ๋ยเคมีผสม กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ เนื้อสุกร ไก่สด น้ำมันปาล์มดิบ น้ำตาลทราย มันเส้น ปลาทูน่ากระป๋อง น้ำสับปะรด และน้ำมันถั่วเหลือง/น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (ฮาร์ดดิสไดร์ฟ) กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ ทองคำ กลุ่มเหล็กและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เหล็กแผ่น ท่อเหล็ก เหล็กเส้น เหล็กฉาก เหล็กรูปตัวซี และลวดเหล็ก กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแท่ง ถุงพลาสติก ท่อ แผ่นฟิล์มพลาสติก ข้อต่อ ยางแผ่นรมควัน และถุงมือยาง กลุ่มเครื่องจักรและเครื่องมือ ได้แก่ เครื่องสูบน้ำ กลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ได้แก่ รถยนต์นั่ง และรถบรรทุก กลุ่มสิ่งทอ ได้แก่ ผ้าฝ้าย ผ้าดิบ ผ้าใยสังเคราะห์ และผ้าเช็ดตัว กลุ่มเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ได้แก่ เครื่องแบบนักเรียนชาย/หญิง กางเกงสตรี/บุรุษ เสื้อยืด และถุงเท้า กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ ได้แก่ ประตูเหล็ก ตะปู/สกรู/น๊อต กุญแจ ถังแก๊ส ถังเก็บน้ำ และกระป๋อง กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแร่อโลหะ ได้แก่ ปูนเม็ด ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ คอนกรีตผสมเสร็จ กระเบื้องปูพื้น-บุผนัง และเสาเข็มคอนกรีต กลุ่มผลิตภัณฑ์ยาสูบ ได้แก่ บุหรี่ กลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ได้แก่ ไม้ไฟเบอร์บอร์ด กรอบไม้ และไม้ยางพารา กลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ กระดาษคร๊าฟท์ กล่องกระดาษ และเยื่อกระดาษ และกลุ่มเครื่องดื่ม ได้แก่ เบียร์ และเครื่องดื่มบำรุงกำลัง
- หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 67.3 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันปิโตรเลียมดิบ
- หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 5.7 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ได้แก่ ผลปาล์มสด อ้อย ยางพารา มันสำปะหลังสด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สุกร/ไก่มีชีวิต ไข่ไก่ และผักสด (กะหล่ำปลี ผักกวางตุ้ง มะเขือ คะน้า หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโพดฝักอ่อน ต้นหอม ผักชี) และกลุ่มผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ กุ้งแวนนาไม ปลาหมึกกล้วย ปลาสีกุน และหอยแครง
แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 เดือนมิถุนายน
ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมิถุนายน 2565 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น จากหลายปัจจัย ได้แก่ 1) ราคาน้ำมันดิบที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสินค้าในกลุ่มปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง 2) ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ยังคงยืดเยื้อ และมาตรการคว่ำบาตรของประเทศต่างๆ ที่มีต่อรัสเซีย ส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานการผลิต ทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าได้เพียงพอต่อความต้องการ 3) การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าเพิ่มมากขึ้น 4) ราคาสินค้าเกษตร มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่มีอย่างต่อเนื่อง อาทิ ผลปาล์มสด ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าวสาลี ประกอบกับหลายประเทศมีการจำกัดการส่งออกสินค้า 5) ต้นทุนการผลิต ทั้งราคาน้ำมัน ปุ๋ย อาหารสัตว์ และค่าขนส่งที่สูงขึ้น 6) การส่งออกที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ดัชนีราคาผู้ผลิตยังคงขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม การเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในเมืองสำคัญของจีน และการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงที่พบในหลายประเทศ โดยเฉพาะในแถบยุโรป อาจส่งผลต่อความต้องการและราคาสินค้า ซึ่งจะกระทบต่อภาคการผลิตและดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไทยตามลำดับ ทั้งนี้ จะต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
#ดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 #ดัชนีราคาผู้ผลิต ppi #ดัชนีราคาผู้ผลิต ย้อนหลัง #แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต #ดัชนีราคา #ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม #กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า #สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า #กระทรวงพาณิชย์
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- เทรนด์การทำงานในอนาคต หลังไทยติดโควิด นานเกือบสองปี!
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH