ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2565 เดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น 12.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสรุปรายงานดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไทย เดือนเมษายน 2565 อยู่ที่ระดับ 114.0 เพิ่มขึ้น 12.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) เดือนเมษายน 2565 (ปี 2558 = 100) เท่ากับ 114.0 เทียบกับเดือนเมษายน 2564 สูงขึ้นร้อยละ 12.8 (YoY) เป็นผลจากปัจจัยด้านราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก และต้นทุนการผลิตอื่น ๆ ที่ปรับสูงขึ้น รวมถึงความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และการบริโภคที่เพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยราคามีการปรับขึ้นทั้ง 3 หมวดหลัก ประกอบด้วย
Advertisement | |
- หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 11.4 จากกลุ่มสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ผลิตภัณฑ์อาหาร และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ
- หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 74.3 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และแร่โลหะ
- หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 6.5 เป็นผลจากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ยางพารา อ้อย ผลปาล์มสด หัวมันสำปะหลังสด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชผัก สุกรมีชีวิต ไก่มีชีวิต ไข่ไก่ และสัตว์น้ำทะเล
ขณะที่ ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) พบว่าดัชนีหมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 5.4 22.1 และ 30.1 ตามลำดับ โดยมีสินค้าสำคัญในห่วงโซ่อุปทานที่ราคาปรับสูงขึ้นตามวัตถุดิบ ได้แก่ ผลปาล์มสด น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ มันสำปะหลังสด มันเส้น/มันอัดเม็ด/แป้งมันสำปะหลัง และ อ้อย น้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาว เนื่องจากความต้องการของตลาดยังคงมีอย่างต่อเนื่อง
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม MPI ปี 2565 เดือน มี.ค. เพิ่มขึ้น 7.49% ภาพรวมไตรมาสแรกขยายตัว
- ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2565 เดือน มี.ค. เพิ่มขึ้น 11.4% เทียบปีก่อน
- ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรกลญี่ปุ่น 2565 เดือนมีนาคม ติดลมบนสูงสุดอันดับ 2 นับแต่บันทึกสถิติ
ดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 เดือนเมษายน เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 12.8 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้
-
หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 11.4 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, 95 น้ำมันเตา และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เนื่องจากราคาเคลื่อนไหวตามทิศทางราคาน้ำมันและก๊าซในตลาดโลกที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตร ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนของอุปทานในตลาด กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก ปุ๋ยเคมีผสม และโซดาไฟ เนื่องจากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ เนื้อสุกร และไก่สด เนื่องจากปริมาณผลผลิตไม่เพียงพอ ขณะที่ความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น น้ำมันปาล์ม และมันเส้น เนื่องจากวัตถุดิบสินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้น น้ำตาลทราย ตามภาวะตลาดโลก ปลาทูน่ากระป๋อง น้ำสับปะรด และสับปะรดกระป๋อง เนื่องจากวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตมีราคาสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ทองคำ เนื่องจากราคาปรับตามตลาดโลก และเครื่องประดับเทียม ราคาปรับสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบและเงินบาทที่อ่อนค่า กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) เนื่องจากผู้ผลิตบางรายมีการปรับโครงสร้างต้นทุนสินค้าใหม่และเงินบาทที่อ่อนค่า นอกจากนี้ ยังมีหลายกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแท่ง ถุงพลาสติก ยางแผ่นรมควัน และท่อพลาสติก กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแผ่น เหล็กเส้น ท่อเหล็ก และเหล็กลวด กลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ได้แก่ รถยนต์นั่ง รถบรรทุก และชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับรถยนต์
- หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ74.3 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และกลุ่มแร่ (แร่สังกะสี เหล็ก ดีบุก และวุลแฟรม) ตามภาวะตลาดโลก
- หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 6.5 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วยกลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ผลปาล์มสด เนื่องจากความต้องการใช้เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับทิศทางของราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณผลผลิตของประเทศผู้ผลิตรายสำคัญออกสู่ตลาดลดลง ยางพารา เนื่องจากความต้องการใช้ยางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศผู้ใช้ยางรายใหญ่ของโลก ประกอบกับสต็อกยางในตลาดโลกลดลง กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ อ้อย และหัวมันสำปะหลังสด เนื่องจากความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากความต้องการใช้เพื่อเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและผลผลิตไม่เพียงพอ พืชผัก (พริกสด หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโพดฝักอ่อน กะหล่ำปลี มะเขือ กระเทียม หอมแดง มะระจีน และมะเขือเทศ) เนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน กลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกรมีชีวิต เนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลงจากผลกระทบของโรคระบาดในสุกรช่วงที่ผ่านมา ไก่มีชีวิต ไข่ไก่ และไข่เป็ด เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น ประกอบกับต้นทุนค่าอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้น และผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ ปลาหมึกกล้วย และกุ้งแวนนาไม เนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลง ขณะที่ความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาว
ดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 เดือนเมษายน เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 1.8 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้
-
หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.5 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเตา และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) โดยราคาเคลื่อนไหวตามภาวะตลาดโลก เนื่องจากความกังวลของตลาดต่อผลกระทบของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครน รวมทั้งมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตร ซึ่งส่งผลให้อุปทานน้ำมันโลกลดลง กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก โซดาไฟ เอทานอล และปุ๋ยเคมีผสม เนื่องจากราคาวัตถุดิบสูงขึ้นตามภาวะราคาตลาดโลก กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ เนื้อสุกร น้ำมันปาล์มดิบ ข้าวนึ่ง ปลายข้าว แป้งมันสำปะหลัง และน้ำมันรำข้าวบริสุทธิ์ เนื่องจากวัตถุดิบสินค้าเกษตรปรับราคาสูงขึ้น น้ำตาลทราย ตามภาวะตลาดโลก กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ ทองคำ ซึ่งราคาปรับตามทิศทางราคาในตลาดโลกที่สูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) ราคาปรับสูงขึ้นตามค่าเงินบาทที่อ่อนค่า สำหรับสินค้าที่ปรับราคาสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ ประกอบด้วย กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กลวด เหล็กเส้น เหล็กแผ่น และท่อเหล็ก กลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ เยื่อกระดาษ และกระดาษอนามัย กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ บรรจุภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ ยางแผ่นรมควัน และถุงพลาสติก กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ ได้แก่ กระป๋อง และตะปู/สกรู/น๊อต
- หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 4.4 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติเหลว และแร่โลหะ (แร่สังกะสี และวุลแฟรม) ตามภาวะตลาดโลก
- หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 2.4 จากการสูงขึ้นของสินค้าสำคัญผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า เนื่องจากเป็นช่วงที่ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ผู้ประกอบการโรงสีมีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นจึงรับซื้อในราคาที่สูงกว่าเดิม พืชผัก ได้แก่ มะนาว ผักกวางตุ้ง ผักขึ้นฉ่าย ต้นหอม ผักกาดขาว กะหล่ำดอก และมะระจีน เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง จากสภาพอากาศแปรปรวน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ผู้ประกอบการมีความต้องการเพิ่มขึ้น หัวมันสำปะหลังสด เนื่องจากความต้องการของตลาดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อ้อย เนื่องจากหมดฤดูกาล ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ผลปาล์มสด เนื่องจากความต้องการใช้ในกลุ่มพลังงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ยางพารา เนื่องจากยังอยู่ในช่วงฤดูปิดกรีดยาง จึงมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง กลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกรมีชีวิต และไข่ไก่ เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประกอบกับต้นทุนค่าอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์จากการประมงปรับราคาลดลง ได้แก่ กุ้งแวนนาไม กุ้งทะเล ปลาสำลี และปลานิล เนื่องจากปริมาณผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาปรับตัวลงเล็กน้อย
ดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 เฉลี่ย 4 เดือน (ม.ค.- เม.ย.) เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 10.6 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้
- หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 9.5 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, 95 น้ำมันเตา และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก โซดาไฟ และปุ๋ยเคมีผสม กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ เนื้อสุกร ไก่สด น้ำมันปาล์มดิบ น้ำตาลทราย มันเส้น ปลาทูน่ากระป๋อง น้ำสับปะรด และน้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (ฮาร์ดดิสไดร์ฟ) กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ ทองคำ กลุ่มเหล็กและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เหล็กแผ่น ท่อเหล็ก เหล็กเส้น เหล็กฉาก เหล็กรูปตัวซี และลวดเหล็ก กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแท่ง ถุงพลาสติก ท่อ แผ่นฟิล์มพลาสติก ข้อต่อ ยางแผ่นรมควัน และถุงมือยาง กลุ่มเครื่องจักรและเครื่องมือ ได้แก่ เครื่องสูบน้ำ กลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ได้แก่ รถยนต์นั่ง และรถบรรทุก กลุ่มสิ่งทอ ได้แก่ ผ้าฝ้าย ผ้าใยสังเคราะห์ ผ้าดิบ และผ้าเช็ดตัว กลุ่มเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ได้แก่ เครื่องแบบนักเรียนชาย/หญิง กางเกงสตรี/บุรุษ เสื้อยืด และถุงเท้า กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ ได้แก่ ประตูเหล็ก ตะปู/สกรู/น๊อต กุญแจ ถังแก๊ส และถังเก็บน้ำ
- หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 64.8 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันปิโตรเลียมดิบ
- หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 5.1 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ได้แก่ ผลปาล์มสด อ้อย ยางพารา มันสำปะหลังสด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สุกร/ไก่มีชีวิต ไข่ไก่ และผักสด (กะหล่ำปลี ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง มะเขือ หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโพดฝักอ่อน ต้นหอม และผักชี) และกลุ่มผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ กุ้งแวนนาไม ปลาหมึก ปลาสีกุน และหอยแครง
แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 เดือนพฤษภาคม
ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนพฤษภาคม 2565 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น จากหลายปัจจัย ได้แก่ 1) ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสินค้าในกลุ่มปิโตรเลียมดิบและก๊าซธรรมชาติ รวมถึง ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง 2) ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตร ส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานการผลิต ทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าได้เพียงพอต่อความต้องการและราคาปรับสูงขึ้น 3) การผ่อนคลายมาตรการในการเดินทางเข้าประเทศ และการเปิดเทอมในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม น่าจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมกลับมาดำเนินการได้ใกล้เคียงกับสภาวะปกติมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย 4) ราคาผลิตภัณฑ์เกษตรกรรม มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่มีอย่างต่อเนื่อง (อาทิ ผลปาล์มสด ยางพารา และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) และ 5) ต้นทุนวัตถุดิบ ทั้งราคาน้ำมัน ปุ๋ย อาหารสัตว์ และค่าขนส่งที่สูงขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ดัชนีราคาผู้ผลิตยังคงขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม การล็อกดาวน์ในประเทศจีน และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่ผู้ติดเชื้อรายวันยังอยู่ในระดับสูง อาจส่งผลต่อความต้องการสินค้า และภาคการผลิตของไทย ซึ่งจะส่งผลต่อดัชนีราคาผู้ผลิตในท้ายที่สุด ทั้งนี้ จะต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
#ดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 #ดัชนีราคาผู้ผลิต ppi #ดัชนีราคาผู้ผลิต ย้อนหลัง #แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต #ดัชนีราคา #ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม #กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า #สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า #กระทรวงพาณิชย์
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- เทรนด์การทำงานในอนาคต หลังไทยติดโควิด นานเกือบสองปี!
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH