ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2565 เดือนกุมภาพันธ์

ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2565 เดือน ก.พ. เพิ่มขึ้น 9.4%

อัปเดตล่าสุด 4 มี.ค. 2565
  • Share :
  • 1,375 Reads   

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสรุปรายงานดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2565 อยู่ที่ระดับ 108.6 เพิ่มขึ้น 9.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ดัชนีราคาผู้ผลิต​ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) เดือนกุมภาพันธ์ 2565 (ปี 2558 = 100) เท่ากับ 108.6 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2564 สูงขึ้นร้อยละ 9.4 (YoY) เป็นผลจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าทั้ง 3 หมวดหลัก ประกอบด้วย

Advertisement

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 8.0 ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการปรับสูงขึ้นของราคาวัตถุดิบและราคาตลาดโลก สำหรับกลุ่มสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ
  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 63.9 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และกลุ่มแร่ ตามภาวะตลาดโลก 
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 6.1 เป็นผลจากสินค้าสำคัญ อาทิ ยางพารา อ้อย ผลปาล์มสด หัวมันสำปะหลังสด และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากความต้องการใช้ในภาคอุตสาหกรรมยังมีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสุกรมีชีวิต และสัตว์น้ำทะเล เนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลง ขณะที่ความต้องการบริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้น

ขณะที่ ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) พบว่าดัชนีหมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 4.3 15.0 และ 24.5 ตามลำดับ โดยมีสินค้าสำคัญในห่วงโซ่อุปทานที่ราคาปรับสูงขึ้นตามวัตถุดิบ ได้แก่ ผลปาล์มสด น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ มันสำปะหลังสด มันเส้น/มันอัดเม็ด/แป้งมันสำปะหลัง และ อ้อย น้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาว เนื่องจากความต้องการของตลาดยังคงมีอย่างต่อเนื่อง

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 เดือนกุมภาพันธ์ เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 9.4 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 8.0 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, 95 น้ำมันเตา และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เนื่องจากราคาปรับตัวตามทิศทางราคาในตลาดโลก กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก โซดาไฟ ปุ๋ยเคมีผสม กรดเกลือ และคลอรีน เนื่องจากมีความต้องการใช้ในภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาวัตถุดิบสูงขึ้น ตามราคาอ้างอิงกับตลาดต่างประเทศ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ เนื้อสุกร และไก่สด เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณผลผลิตไม่เพียงพอ ประกอบกับมีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร น้ำมันปาล์ม เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากมาตรการภาครัฐในการกระตุ้นการใช้ในประเทศและการส่งออกเพื่อลดผลผลิตส่วนเกินในปีที่ผ่านมา น้ำตาลทราย ราคาปรับตัวตามราคาและสถานการณ์ในตลาดโลก มันเส้น มันอัดเม็ด แป้งมันสำปะหลัง และน้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ เนื่องจากวัตถุดิบสินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) เนื่องจากผู้ผลิตบางรายมีการปรับโครงสร้างต้นทุนสินค้าใหม่ กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ทองคำ ราคาปรับตัวตามทิศทางราคาในตลาดโลก กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแผ่น ท่อเหล็ก เหล็กเส้น เหล็กฉาก ลวดเหล็ก และเหล็กรูปตัวซี เนื่องจากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแท่ง ท่อพลาสติก ถุงพลาสติก แผ่นฟิล์มพลาสติก และบรรจุภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ จากความต้องการของตลาดที่มีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้น กลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ได้แก่ รถยนต์นั่ง รถบรรทุกขนาดเล็ก และตัวถังรถยนต์ เนื่องจากราคาชิ้นส่วนนำเข้าปรับสูงขึ้น ประกอบกับมีการปรับโฉมรถใหม่   

  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง​ สูงขึ้นร้อยละ 63.9 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และกลุ่มแร่ (สังกะสี ดีบุก และแร่เหล็ก) ตามภาวะตลาดโลก
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 6.1 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ผลปาล์มสด เนื่องจากยังคงมีความต้องการใช้ในภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ยางพารา เนื่องจากความต้องการใช้ยางที่เพิ่มขึ้นมากกว่าปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาด ส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ อ้อย เนื่องจากความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหาร มันสำปะหลังสด เนื่องจากความต้องการจากทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากความต้องการใช้เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดไม่เพียงพอกับความต้องการ กลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกรมีชีวิต เนื่องจากผลผลิตมีน้อยกว่าความต้องการบริโภคจากผลกระทบของโรคระบาดในสุกร ไก่มีชีวิต ไข่ไก่ และไข่เป็ด เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น พืชผัก ได้แก่ ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง มะนาว กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว ต้นหอม มะเขือ ผักชี ผักขึ้นฉ่าย และกะหล่ำดอก เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง กลุ่มผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ กุ้งแวนนาไม ปลาหมึกกล้วย และกุ้งทะเล เนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลง ขณะที่ความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ สำหรับสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกเหนียว เนื่องจากความต้องการของตลาดชะลอตัวจากการแข่งขันด้านราคาส่งออกกับประเทศคู่ค้า ผลไม้ (ลำไย ส้มเขียวหวาน กล้วยน้ำว้า สับปะรด และกล้วยไข่) เนื่องจากความต้องการของตลาดชะลอตัว ประกอบกับสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 เดือนกุมภาพันธ์ เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 1.1 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.5 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, 95 และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) โดยราคาเคลื่อนไหวตามภาวะตลาดโลก เนื่องจากความกังวลของตลาดต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งสถานการณ์ตึงเครียดในประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบโลกมีทิศทางปรับสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ น้ำยางข้น ยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน และถุงพลาสติก จากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น กลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ได้แก่ รถยนต์นั่ง เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และผู้ผลิตบางรายมีการปรับโฉมรถใหม่ (Minor Change) กลุ่มสิ่งทอ ได้แก่ ผ้าดิบ เส้นใยสังเคราะห์ ผ้าฝ้าย และผ้าใยสังเคราะห์ เนื่องจากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น กลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ได้แก่ ไม้ไฟเบอร์บอร์ด จากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น และไม้ยางพารา จากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ประกอบกับปริมาณผลผลิตมีน้อย เนื่องจากฝนตกชุกในพื้นที่ปลูกยางพารา ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการผลิตและขนส่ง กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ ทองคำ ราคาปรับตามตลาดโลก และกลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กเส้น เหล็กแผ่น และเหล็กลวด จากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น ขณะที่สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ เนื้อสุกร เนื่องจากมีปริมาณสุกรเริ่มเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ทำให้ระดับราคาปรับลดลง น้ำมันปาล์มดิบ จากราคาวัตถุดิบสินค้าเกษตรปรับลดลง

  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 11.9 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ และแร่โลหะ (แร่ดีบุก สังกะสี และวุลแฟรม) ตามภาวะตลาดโลก
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 2.2 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกเหนียว เนื่องจากเป็นช่วงปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ขณะที่ผู้ประกอบการโรงสีมีความต้องการเพิ่มขึ้น อ้อย เนื่องจากความต้องการเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย หัวมันสำปะหลังสด เนื่องจากความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น พืชผัก ได้แก่ มะนาว ผักคะน้า พริกสด ต้นหอม ผักชี ผักกวางตุ้ง ผักกาดหอม และบวบ เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ผลไม้ ได้แก่ สับปะรดโรงงาน/บริโภค ลำไย ชมพู่ มะม่วง กล้วยน้ำว้า ส้มเขียวหวาน และมะละกอสุก เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ยางพารา เนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลง เพราะเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลปิดกรีดยาง ประกอบกับมีการระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ ในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออก กลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกรมีชีวิต เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากปัญหาการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร สำหรับไข่ไก่ ไข่เป็ด และผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ ปลาหมึกกล้วย กุ้งแวนนาไม ปลานิล ปลาดุก กุ้งทะเล และปลาตะเพียน เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ขณะที่สินค้าสำคัญที่ราคาปรับลดลง ได้แก่ ผลปาล์มสด เนื่องจากเป็นช่วงผลผลิตปาล์มรอบใหม่เริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้น

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2564 เฉลี่ย 2 เดือน (ม.ค.- ก.พ.) เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 9.0 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 8.0 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 น้ำมันเตา และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก โซดาไฟ และปุ๋ยเคมีผสม กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ เนื้อสุกร ไก่สดแช่เย็นหรือแช่แข็ง น้ำมันปาล์มดิบ น้ำตาลทรายดิบ/บริสุทธิ์ มันเส้น ปลาทูน่ากระป๋อง น้ำสับปะรด และน้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (ฮาร์ดดิสไดร์ฟ) กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ ทองคำ กลุ่มเหล็กและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เหล็กแผ่น ท่อเหล็ก เหล็กเส้น เหล็กฉาก เหล็กรูปตัวซี และลวดเหล็ก กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแท่ง ท่อ ข้อต่อ แผ่นฟิล์มพลาสติก และถุงมือยาง กลุ่มเครื่องจักรและเครื่องมือ ได้แก่ เครื่องสูบน้ำ กลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ได้แก่ รถยนต์นั่ง และรถบรรทุก
  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 57.6 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันปิโตรเลียมดิบ
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 5.0 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ได้แก่ ผลปาล์มสด อ้อย ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สุกร/ ไก่มีชีวิต ไข่ไก่ และผักสด (ผักกวางตุ้ง กะหล่ำปลี ผักคะน้า ถั่วฝักยาว หน่อไม้ฝรั่ง มะเขือ ข้าวโพดฝักอ่อน และผักชี) และกลุ่มผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ กุ้งแวนนาไม ปลาหมึก ปลาสีกุน และหอยแครง

 

แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 เดือนมีนาคม

ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมีนาคม ปี 2565 ยังมีแนวโน้มขยายตัว จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามราคาในตลาดโลก ซึ่งส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อดัชนีราคาผู้ผลิต โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มปิโตรเลียมดิบและก๊าซธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง รวมทั้งการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานการผลิต จากการขาดแคลนวัตถุดิบ การขาดแคลนแรงงาน และต้นทุนการขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมไปถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่อาจส่งผลให้การผลิตสินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ และราคาปรับสูงขึ้นตามกลไกตลาด

นอกจากนี้ ราคาผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมงมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากภัยธรรมชาติ ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดลดลง ขณะที่ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมมีอย่างต่อเนื่อง (อาทิ ผลปาล์มสด ยางพารา และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบ ทั้งราคาน้ำมัน ปุ๋ย และอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น ล้วนส่งผลให้ดัชนีราคาผู้ผลิตยังคงขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีผู้ติดเชื้อรายวันเป็นจำนวนมาก อาจส่งผลต่อภาคการผลิตของไทยในระยะต่อไป และทำให้ดัชนีราคาผู้ผลิตปรับขึ้นในท้ายที่สุด ทั้งนี้ จะต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

 

#ดัชนีราคาผู้ผลิต 2564 #ดัชนีราคาผู้ผลิต ppi #ดัชนีราคาผู้ผลิต ย้อนหลัง #แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต #ดัชนีราคา #ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม #กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า #สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า #กระทรวงพาณิชย์

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH