ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2564 เดือน ก.ย. ปรับขึ้นยกแผง คาดไตรมาส 4 ขยายตัวดีต่อเนื่อง
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสรุปรายงานดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไทย เดือนกันยายน 2564 เพิ่มขึ้น 5.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค.- ก.ย.) เพิ่มขึ้น 3.8%
ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) เดือนกันยายน 2564 (ปี 2558 = 100) เท่ากับ 103.0 เทียบกับเดือนกันยายน 2563 สูงขึ้นร้อยละ 5.3 (YoY) เป็นผลจากการสูงขึ้นของราคาสินค้า ประกอบด้วย
- หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 6.1 โดยมีสาเหตุหลักจากราคาวัตถุดิบและราคาตลาดโลกสูงขึ้น รวมถึงการส่งออกยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง นอกจากนี้โรงงานหลายแห่งต้องหยุดผลิต เนื่องจากแรงงานติดเชื้อโควิด-19 สำหรับกลุ่มสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ผลิตภัณฑ์อาหาร โลหะขั้นมูลฐาน ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์
- หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 21.1 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และสินแร่โลหะ ตามภาวะตลาดโลก
- หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ลดลงร้อยละ 4.8 เป็นผลจากสินค้าเกษตรกรรมเป็นสำคัญ อาทิ ข้าวเปลือก พืชผัก ไม้ผล สุกร/ไก่มีชีวิต เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าปีก่อน ขณะที่ความต้องการของตลาดชะลอตัว อันเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ขณะที่ ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) พบว่าดัชนีหมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 1.2 13.5 และ 4.5 ตามลำดับ โดยมีสินค้าสำคัญในห่วงโซ่อุปทานที่ราคาปรับสูงขึ้นตามวัตถุดิบ ได้แก่ ผลปาล์มสด – น้ำมันปาล์มดิบ – น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ มันสำปะหลังสด – มันเส้น/มันอัดเม็ด/แป้งมันสำปะหลัง เนื่องจากความต้องการของตลาดที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2564 เดือน ก.ค. เพิ่มขึ้น 5%
- ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2564 เดือน ส.ค. ปรับตัวดีต่อเนื่อง หวัง "มาตรการผ่อนปรน" ช่วยฟื้นการบริโภคในประเทศ
- ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2564 เดือน มิ.ย. และไตรมาส 2
ดัชนีราคาผู้ผลิต 2564 เดือนกันยายน เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 5.3 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้
- หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 6.1 จากสินค้าสำคัญ ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์ ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, 95 น้ำมันเตา น้ำมันเครื่องบิน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เนื่องจากราคาปรับตามตลาดโลก กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก โซดาไฟ จากความต้องการใช้ที่มีอย่างต่อเนื่องและอ้างอิงกับราคาตลาดต่างประเทศ ปุ๋ยเคมีผสม จากราคาวัตถุดิบนำเข้า (แม่ปุ๋ย) ปรับสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ น้ำมันปาล์ม จากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ประกอบกับมาตรการของภาครัฐในการกระตุ้นการใช้ในประเทศและส่งออก น้ำตาลทราย กากน้ำตาล ตามภาวะตลาดโลก มันเส้น มันอัดเม็ด แป้งมันสำปะหลัง จากวัตถุดิบสินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้น กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแผ่น ท่อเหล็ก เหล็กเส้น เหล็กฉาก เหล็กรูปตัวซี เหล็กลวด ลวดเหล็ก และลวดแรงดึงสูง จากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ จากเงินบาทอ่อนค่า ประกอบกับมีการปรับโครงสร้างต้นทุนสินค้าใหม่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแท่ง ถุงมือยาง ถุงพลาสติก แผ่นฟิล์มพลาสติก และบรรจุภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ จากความต้องการของตลาดที่มีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้น กลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ได้แก่ รถยนต์นั่ง รถบรรทุกขนาดเล็ก จากราคาชิ้นส่วนนำเข้าปรับสูงขึ้น ประกอบกับมีการปรับรูปโฉมใหม่
- หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 21.1 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติและกลุ่มแร่ (แร่เหล็ก ดีบุก สังกะสี วุลแฟรม) ตามภาวะตลาดโลก
- หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ลดลงร้อยละ 4.8 จากการลดลงของสินค้าสำคัญ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ขณะที่ตลาดทั้งในประเทศและส่งออกชะลอตัว ประกอบกับมีการแข่งขันด้านราคา กลุ่มพืชผัก ได้แก่ กะหล่ำปลี ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักกาดหอม ต้นหอม ผักชี ผักขึ้นฉ่าย กะหล่ำดอก มะนาว มะเขือเทศ พริกชี้ฟ้าสด ถั่วฝักยาว และฟักทอง กลุ่มไม้ผล ได้แก่ สับปะรด ทุเรียน มะม่วง กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า มังคุด ลองกอง และเงาะ กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ มะพร้าวผล เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่ความต้องการของตลาดชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกร/ไก่มีชีวิต เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความต้องการบริโภคทั้งในประเทศและส่งออกชะลอตัว สำหรับสินค้าที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ หัวมันสำปะหลังสด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากความต้องการของตลาดเพื่อเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพิ่มขึ้น ผลปาล์มสด เนื่องจากความต้องการใช้ด้านพลังงานในการสนับสนุนการใช้ไบโอดีเซล รวมทั้งการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน ยางพารา (น้ำยางสด ยางแผ่นดิบ เศษยาง) เนื่องจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพิ่มขึ้นทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์และถุงมือยางทางการแพทย์ จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กลุ่มผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ ปลาลัง ปลาทรายแดง ปลาสีกุน ปลาหมึก และหอยแครง เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง
ดัชนีราคาผู้ผลิต 2564 เดือนกันยายน เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.3 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้
- หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 0.3 โดยหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากการสูงขึ้นของสินค้าสำคัญผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ พืชผัก (กะหล่ำปลี ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักกาดหอม ผักบุ้ง ต้นหอม ผักชี ผักขึ้นฉ่าย กะหล่ำดอก ผักกวางตุ้ง แตงกวา ฟักทอง บวบ แตงร้าน ผักกาดหัว) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง จากภาวะฝนตกชุกในพื้นที่เพาะปลูก หัวมันสำปะหลังสด เนื่องจากความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศและตลาดส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยจากภาวะฝนตก ขณะที่ความต้องการของตลาดมีอย่างต่อเนื่อง กลุ่มไม้ผล ได้แก่ องุ่น สับปะรด มะละกอสุก ชมพู่ เนื่องจากผลไม้บางชนิดหมดฤดูกาล กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ผลปาล์มสด เนื่องจากการส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลและการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกินในระบบ มะพร้าวผล เนื่องจากความต้องการบริโภคเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ กลุ่มผลิตภัณฑ์จากประมง ได้แก่ ปลาลัง ปลากะพง ปลาสีกุน กุ้งทะเล และปลาหมึก เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย จากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย สำหรับสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว เนื่องจากความต้องการของตลาดชะลอตัว ประกอบกับปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ยางพารา (น้ำยางสด ยางแผ่น เศษยาง) เนื่องจากสต็อกยางโดยรวมยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ความต้องการของตลาดชะลอตัว กลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกร/ไก่มีชีวิต เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การบริโภคชะลอตัวจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
- หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 1.0 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ และแร่สังกะสี ตามภาวะตลาดโลก
- หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากสินค้าสำคัญ ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันก๊าด น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, 95 ราคาเคลื่อนไหวตามภาวะตลาดโลก เนื่องจากตลาดมีความกังวลต่อกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ลดลง จากเหตุการณ์พายุเฮอริเคนในอ่าวเม็กซิโก รวมทั้งความต้องการใช้น้ำมันในเอเชียฟื้นตัว เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในหลายประเทศเริ่มปรับตัวลดลง ส่งผลให้มีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ตามราคาอ้างอิงจากสิงคโปร์ กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ โซดาไฟ เอทิลีน โพรพิลีน โทลูอีน จากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพิ่มขึ้น ปุ๋ยเคมีผสม ยางสังเคราะห์ จากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น กลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ได้แก่ รถบรรทุกขนาดเล็ก เนื่องจากเป็นรุ่นปรับปรุงใหม่ จากการปรับโฉมและเพิ่มอุปกรณ์ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแร่อโลหะ ได้แก่ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เนื่องจากปรับส่วนลดให้กับลูกค้าในอัตราที่น้อยลง แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป ท่อคอนกรีต จากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กฉาก เหล็กเส้น ลวดแรงดึงสูง ท่อเหล็ก ลวดเหล็ก และกลุ่มสิ่งทอ ได้แก่ เส้นใยสังเคราะห์ ผ้าใยสังเคราะห์ จากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น
ดัชนีราคาผู้ผลิต 2564 เฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค.- ก.ย.) เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 3.8 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้
- หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 2.7 จากสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ได้แก่ ยางพารา ผลปาล์มสด อ้อย หัวมันสำปะหลังสด พริกแห้ง พริกสด กระเทียม มะนาว ผักกวางตุ้ง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลำไย องุ่น กล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม ฝรั่ง ชมพู่ สุกรมีชีวิต โคมีชีวิต ไข่ไก่ และไข่เป็ด กลุ่มผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ ปลาหมึก กุ้งแวนนาไม ปลาสีกุน ปลาทรายแดง ปลาทูสด และหอยแครง
- หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 3.9 จากสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, 95 น้ำมันเตา ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก โพรพิลีน เบนซีน กรดเกลือ และปุ๋ยเคมีผสม กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ น้ำมันปาล์ม น้ำตาลทราย มันเส้น มันอัดเม็ด แป้งมันสำปะหลัง เนื้อสุกร ไก่สด เนื้อโค และน้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน น้ำยางข้น ถุงมือยาง แผ่นฟิล์มพลาสติก ถุงพลาสติก และบรรจุภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแผ่น ท่อเหล็ก เหล็กเส้น เหล็กฉาก เหล็กรูปตัวซี และเหล็กลวด กลุ่มผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ ทองคำ และเครื่องประดับเทียม กลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ได้แก่ รถยนต์ต่ำกว่า 1,800 ซีซี รถบรรทุกขนาดเล็ก และตัวถังรถยนต์ กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ ได้แก่ ประตูเหล็ก ตะปู/สกรู/น๊อต ถังแก๊ส ถังเก็บน้ำ และตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป กลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ เยื่อกระดาษ กล่องกระดาษ กระดาษคร๊าฟท์ และกระดาษพิมพ์เขียน
- หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 1.1 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติเหลว(คอนเดนเสท)และกลุ่มแร่ (แร่เหล็ก ดีบุก สังกะสี วุลแฟรม)ตามภาวะตลาดโลก
แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต 2564 ไตรมาส 4
ดัชนีราคาผู้ผลิตไตรมาสที่ 4 ปี 2564 คาดว่ายังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า โดยปัจจัยบวกสำคัญยังคงเป็นราคาน้ำมันดิบที่ทรงตัวในระดับสูง ซึ่งส่งผลต่อราคาสินค้าในหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองและหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม อีกทั้งการส่งออกในไตรมาสที่ 4 คาดว่ายังคงขยายตัวเช่นเดียวกัน ตามการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้า ส่งผลให้ราคาสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรสำคัญยังคงเพิ่มสูงขึ้น อาทิ ยางพารา มันสำปะหลัง ยานยนต์ เภสัชภัณฑ์ เหล็กและเหล็กกล้า และเม็ดพลาสติก สำหรับปัจจัยลบที่สำคัญยังคงมาจากราคาสินค้าเกษตร ที่ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่ความต้องการในประเทศยังไม่กลับมาเป็นปกติ แลละฐานราคาในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีก่อนอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ สินค้าเกษตรของไทยยังประสบปัญหาด้านการส่งออก ทั้งต้นทุนการขนส่งที่สูงขึ้น และการแข่งขันด้านราคาค่อนข้างสูง
#ดัชนีราคาผู้ผลิต 2564 #ดัชนีราคาผู้ผลิต ppi #ดัชนีราคาผู้ผลิต ย้อนหลัง #แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต #ดัชนีราคา #ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม #กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า #สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า #กระทรวงพาณิชย์
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- บทเรียน 'หมิงตี้ เคมีคอล' สู่มาตรการป้องกันไฟไหม้โรงงาน ระยะสั้น-ยาว
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- อุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ไทย ปี 2564
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- อุตสาหกรรม 4.0 การผลิตแห่งอนาคต
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH