ดัชนีนวัตกรรมโลก ไทยอันดับ 44 แต่โดดโด่นอันดับ 1 ในดัชนีชี้วัดย่อย ด้านการลงทุน R&D ของเอกชน

ดัชนีนวัตกรรมโลก ไทยอันดับ 44 แต่โดดเด่นอันดับ 1 ในดัชนีชี้วัดย่อย ด้านการลงทุน R&D ของเอกชน

อัปเดตล่าสุด 4 ก.ย. 2563
  • Share :

ผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index: GII) ประจำปี 2563 โดย 5 อันดับแรก ได้แก่ สวิสเซอร์แลนด์ สวีเดน สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์ สำหรับประเทศไทยอยู่อันดับที่ 44 จาก 131 ประเทศทั่วโลก 

เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2563 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือ NIA เผยผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก Global Innovation Index: GII) ประจำปี 2563 ภายใต้ธีมใครจะจ่ายเงินทำนวัตกรรม : Who Will Finance Innovation? ซึ่งจัดโดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (WIPO) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยคอร์เนล และ The Business School for the World (INSEAD) เพื่อวัดระดับความสามารถทางด้านนวัตกรรมเสมือนมาตรวัดเปรียบเทียบเชิงเวลาและการเปรียบเทียบเชิงแข่งขันทางด้านนวัตกรรมของแต่ละประเทศกว่า 131 ประเทศทั่วโลก โดยในปีนี้ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 44 ในขณะที่ปัจจัยค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศสำหรับการวิจัยและพัฒนาซึ่งลงทุนโดยองค์กรธุรกิจต่าง ๆ และปัจจัยการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ ถูกจัดเป็นอันดับ 1 ของโลก

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) กล่าวว่า “การประกาศผลการจัดอันดับ GII ในปี 2020 นี้ จัดขึ้นเป็นปีที่ 13 ภายใต้ธีมใครจะจ่ายเงินทำนวัตกรรม หรือ Who Will Finance Innovation? ที่บ่งชี้สถานะความสามารถทางด้านนวัตกรรมโดยเฉพาะการเงินนวัตกรรมที่ต้องเผชิญกับความท้าทายจากสภาพบริบทของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ถือเป็นประเด็นสำคัญทางธุรกิจและการขับเคลื่อนนโยบายในภาวะที่การแข่งขันในด้านการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศมีความรุนแรงมากขึ้นส่งผลต่อขีดความสามารถของภาคเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า -19 (COVID-19) ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและภัยพิบัติทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง”


ผลการจัดอันดับความสามารถทางด้านนวัตกรรมในปีนี้ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 44 จากทั้งหมด 131 ประเทศ โดยในปีนี้ปัจจัยเข้าทางนวัตกรรม (Innovation input sub-index) อยู่อันดับที่ 48 และปัจจัยย่อยผลผลิตทางนวัตกรรม (Innovation output sub-index) อยู่อันดับที่ 44 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางระดับบน (upper middle-income economies) ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 4 จากจำนวน 37 ประเทศ รองจากรองจากประเทศจีน  มาเลเซีย และบัลแกเรีย    ประเทศไทยยังมีอันดับที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยในทุกปัจจัย ยกเว้นปัจจัยด้านทุนมนุษย์และการวิจัย แต่หากเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกและโอเชียเนีย ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 10 จากจำนวน 17 ประเทศ

สำหรับอันดับปัจจัยชี้วัดความสามารถด้านนวัตกรรมแบ่งออกเป็น 7 มิติ ได้แก่ 1) สถาบัน 2) ทุนมนุษย์และการวิจัย 3) โครงสร้างพื้นฐาน 4) ระบบตลาด และ 5) ระบบธุรกิจ 6) ผลผลิตจากองค์ความรู้และเทคโนโลยี และ 7) ผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์ โดยของประเทศไทยปรับตัวดีขึ้นถึง 4 มิติ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน (อันดับ 67 เดิม 77) ระบบตลาด (อันดับ 22 เดิม 32) และระบบธุรกิจ (อันดับ 36 เดิม 60) และผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์ (อันดับ 52 เดิม 54) โดยในรายดัชนีชี้วัดย่อย ประเทศไทยทำอันดับได้ดี ในด้านค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศสำหรับการวิจัยและพัฒนาซึ่งลงทุนโดยองค์กรธุรกิจต่างๆ (อันดับ 1) ซึ่งสะท้อนให้เห็นการลงทุนของภาคเอกชนในประเทศไทยมุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจด้วยการพัฒนานวัตกรรมมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีมิติด้านผลผลิตทางนวัตกรรมทั้งในส่วนของผลผลิตจากองค์ความรู้และเทคโลยี และผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์ถูกจัดอันดับดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะดัชนีชี้วัดย่อย การส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ ถูกจัดเป็นอันดับ 1 ของโลกที่มีการสินส่งสินค้าประเภทนี้มากที่สุด แต่อุปสรรคสำคัญในการสร้างขีดความสามารถนวัตกรรมที่ยังเป็นข้อด้อยของประเทศ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่างปัจจัยเข้าทางนวัตกรรม เช่น สภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบและข้อบังคับต่างๆ อัตราส่วนของครูและนักเรียน และการบริการนำเข้าเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การบริการส่งออกเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นต้น

 
“จากการจัดอันดับความสามารถทางด้านนวัตกรรมของประเทศไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมาจะเห็นได้แนวโน้มคะแนนอันดับความสามารถทางนวัตกรรมโดยรวมสูงขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปสลับขึ้นลงในอันดับที่ไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก แม้ว่าในปีนี้อันดับดัชนีนวัตกรรมจะลดลง แต่ในด้านโครงสร้างพื้นฐานทั่วไป จำนวนบุคลากรที่มีความรู้ในประเทศ การดูดซับองค์ความรู้ และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เป็นฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และยกระดับความเป็นอยู่ของคนในประเทศมีอันดับที่ดีขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีการพัฒนาที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในด้านต่างๆ เพียงเร่งเสริมมาตรการที่เป็นจุดด้อยให้ตรงจุดโดยเฉพาะการพัฒนาทุนมนุษย์และการวิจัย และการเชื่อมโยงต่อยอดการสร้างนวัตกรรมที่มีอยู่แล้วในสร้างการไต่ระดับพัฒนาการทางนวัตกรรมที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศต่อไป” ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติม