ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) กุมภาพันธ์ 2563
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกุมภาพันธ์ 2563 หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.19 โดยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและภัยแล้ง แต่สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้บางอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารเกือบทุกประเภท ยกเว้นน้ำตาลทรายและแป้งมันที่ขาดวัตถุดิบในการผลิต ในขณะที่ฝั่งผู้ผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญได้ชะลอการผลิตลงเพื่อรอดูสถานการณ์คำสั่งซื้อที่จะมีเพิ่มขึ้น
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกุมภาพันธ์ 2563 หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.19 ผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและภัยแล้ง ในขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 65.33 สำหรับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมในบางกลุ่มกลับมาขยายตัว และมีการใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น โดยดัชนีแรงงานได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 102.08 มาอยู่ที่ระดับ 102.63 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.88 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารเกือบทุกประเภทที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น ยกเว้นอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งจึงมีปริมาณอ้อยเข้าโรงงานลดลง โดยมีดัชนีผลผลิตหดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 36.56 และอุตสาหกรรมแป้งมันที่เกิดโรคระบาดจึงขาดวัตถุดิบในการผลิต
นายทองชัย กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนี MPI เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์ จากผลกระทบสงครามการค้า และน้ำตาลจากภาวะภัยแล้ง สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือนกุมภาพันธ์ ได้แก่
เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 40.37 จากผลิตภัณฑ์เกือบทุกรายการสินค้า (ยกเว้นยาผง) เนื่องจากผู้ผลิตบางรายขาดวัตถุดิบเพื่อผลิตในเดือนก่อนจึงเร่งผลิตและส่งมอบให้ลูกค้าในเดือนนี้แทน รวมถึงปัญหาเครื่องจักรชำรุดและปัญหาคุณภาพน้ำในปีก่อนที่ทำให้ผลิตได้น้อยกว่าปกติ
อาหารทะเลแช่แข็ง ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 26.55 ปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกผลิตภัณฑ์จากความต้องการภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้ โดยเฉพาะปลาแช่แข็ง และเนื้อปลาบด จากความกังวลต่อสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการและสำรองสินค้าเพิ่มขึ้น
ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.60 เนื่องจากตลาดโลกเริ่มมีความต้องการชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์เพิ่มขึ้นจากปีก่อน หลังจากผ่านช่วงตกต่ำของอุตสาหกรรมมาหลายปี โดยเฉพาะแผ่นวงจรพิมพ์ (PCBA/PWB) ซึ่งอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น
เบียร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.29 จากการเร่งผลิตเพื่อสต็อคสินค้าไว้ตามแผนและเพื่อรองรับคำสั่งซื้อจากตัวแทนที่เข้ามามากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการบางรายเร่งผลิตสินค้าไว้ก่อนหากไม่สามารถผลิตได้ในอนาคต
อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.35 เนื่องจากการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายของผู้ผลิต รวมทั้งมีการขยายฐานลูกค้าจากเกษตรกรรายย่อยจนถึงฟาร์มเลี้ยงขนาดใหญ่ รวมถึงขยายตลาดส่งออกได้เพิ่มขึ้น
"สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลให้การจำหน่ายสินค้ากลับมาขยายตัวขึ้น โดยดัชนีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคมที่ระดับ 95.05 ขึ้นมาที่ระดับ 99.80 ในเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้สินค้าคงคลังปรับตัวลดลง โดยดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังได้ลดลงจากเดือนมกราคมที่ระดับ 145.51 มาที่ระดับ 136.80 ในเดือนกุมภาพันธ์ ภาพรวมการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ และอากาศยาน) หดตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.10 หดตัวลงน้อยกว่าการส่งออกรวมที่หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.47 ซึ่งในขณะนี้ทางฝั่งผู้ผลิตได้ชะลอการผลิตลงเพื่อรอดูสถานการณ์ แต่ยังมีกำลังการผลิตเหลือมากพอรองรับความต้องการสินค้าหากมีเพิ่มขึ้น" นายทองชัย กล่าวปิดท้าย
อ่านต่อ:
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มกราคม 2563