ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2565 เดือนธันวาคม และภาพรวมปี 2565 ม.ค. - ธ.ค.

ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2565 เดือน ธ.ค. เพิ่มขึ้น 4.9% และภาพรวมทั้งปีเพิ่ม 10.4%

อัปเดตล่าสุด 12 ม.ค. 2566
  • Share :
  • 1,073 Reads   

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสรุปรายงานดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไทย เดือนธันวาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 110.9 เพิ่มขึ้น 4.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ลดลง 2.5% จากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ภาพรวมตลอดทั้งปี ค่าดัชนีฯ เพิ่มขึ้น 10.4%

ดัชนีราคาผู้ผลิต​ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) เดือนธันวาคม 2565 (ปี 2558 = 100) เท่ากับ 110.9 เทียบกับเดือนธันวาคม 2564 สูงขึ้นร้อยละ 4.9 (YoY) เป็นผลมาจากการปรับสูงขึ้นของราคาสินค้าผู้ผลิตทั้ง 3 หมวดหลัก ประกอบด้วย

Advertisement

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 3.6 ตามต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นทั้งราคาวัตถุดิบ พลังงาน และบรรจุภัณฑ์ แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในทิศทางชะลอลงติดต่อกัน เป็นเดือนที่ 6 โดยกลุ่มสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ
  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 33.3 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันปิโตรเลียมดิบ 
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 4.8 เป็นผลจากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ข้าวเปลือก หัวมันสำปะหลังสด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชผัก ผลไม้ สุกรมีชีวิต ไก่มีชีวิต ไข่ไก่ ไข่เป็ด และผลิตภัณฑ์จากการประมง

ขณะที่ ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) พบว่า ดัชนีหมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 2.8 4.6 และ 17.7 ตามลำดับ โดยมีสินค้าสำคัญในห่วงโซ่อุปทานที่ราคาปรับสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า -> ข้าวสารเจ้า/ข้าวนึ่ง/ปลายข้าว -> แป้งข้าวเจ้า และหัวมันสำปะหลังสด -> มันเส้น/มันอัดเม็ด/แป้งมันสำปะหลัง เนื่องจากมีความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ อ้อย -> น้ำตาลทรายดิบ -> น้ำตาลทรายขาว เนื่องจากราคาเคลื่อนไหวตามภาวะตลาดโลก

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 เดือนธันวาคม เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 4.9 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 3.6 จากการสูงขึ้นของสินค้าสำคัญ ประกอบด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 น้ำมันก๊าด และน้ำมันเตา ซึ่งทิศทางของราคาน้ำมันเคลื่อนไหวตามตลาดโลก กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ เนื้อสุกร ไก่สด ข้าวสารเจ้า มันเส้น ปลาทูน่ากระป๋อง ข้าวนึ่ง น้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ อาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูป และน้ำสับปะรด เนื่องจากในปีนี้ต้นทุนการผลิตทยอยปรับสูงขึ้น ขณะที่ความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศยังมีอย่างต่อเนื่อง และน้ำตาลทราย ราคาเคลื่อนไหวตามภาวะราคาตลาดโลก กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) เนื่องจากเป็นสินค้าที่ผลิตเพื่อส่งออก ราคาจึงเคลื่อนไหวตามเงินบาทที่อ่อนค่าลงกว่าปีก่อน กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ทองคำ เนื่องจากราคาปรับตัวตามตลาดโลก

  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 33.3 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันปิโตรเลียมดิบ ตามทิศทางราคาตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น หินก่อสร้าง และทราย เนื่องจากต้นทุนการผลิตด้านพลังงานปรับสูงขึ้น
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 4.8 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกเหนียว เนื่องจากความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศยังมีอย่างต่อเนื่อง จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวหลังจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย หัวมันสำปะหลังสด เนื่องจากตลาดยังมีความต้องการเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะประเทศจีน เพื่อใช้สำหรับเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมเอทานอล ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากความต้องการใช้เพื่อเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น พืชผัก (ต้นหอม พริกแห้ง ผักกวางตุ้ง หน่อไม้ฝรั่ง ผักชี ผักคะน้า พริกสด ผักกาดหอม ข้าวโพดฝักอ่อน ผักบุ้ง บวบ แตงกวา มะระจีน แตงร้าน กะหล่ำดอก) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาบางพื้นที่ประสบกับอุทกภัยน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูก ผลไม้ (สับปะรดโรงงาน ลำไย ส้มเขียวหวาน กล้วยน้ำว้า ลองกอง มะละกอสุก ชมพู่ กล้วยไข่) เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น กลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกรมีชีวิต ไก่มีชีวิต ไข่ไก่ และไข่เป็ด เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ ปลาหมึกกล้วย ปูม้า ปลาลัง ปลาทรายแดง หอยนางรม หอยแมลงภู่ เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ปลานิล ปลาดุก ปลาตะเพียน และปลาช่อน เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น สำหรับสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ผลปาล์มสด ยางพาราและมะพร้าวผล

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 เดือนธันวาคม เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) ลดลงร้อยละ 2.5 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 2.2 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, 95 น้ำมันเตา น้ำมันเครื่องบิน และน้ำมันก๊าด ราคาปรับลดลงตามตลาดโลก เนื่องจากความกังวลของตลาดต่อภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย สถานการณ์พายุหิมะในสหรัฐฯ ต้นทุนราคาพลังงานที่สูงขึ้นในยุโรป และจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในจีนที่ยังเพิ่มขึ้น เป็นแรงกดดันให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) Integrated Circuit (IC) และหน่วยรับข้อมูล/แสดงผล เนื่องจากเป็นสินค้าที่ผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งราคาปรับลดลงตามค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก เนื่องจากความต้องการใช้ลดลง เป็นผลจากความกังวลของผู้ประกอบการต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและการใช้มาตรการ ล็อกดาวน์ของประเทศจีน รวมทั้งผู้ผลิตในจีนมีการส่งออกมากขึ้นเพื่อระบายสินค้าในสต็อก กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ เนื้อสุกร มันเส้น และน้ำมันปาล์ม เนื่องจากปริมาณผลผลิตการเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบออกสู่ตลาดมากขึ้น

  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 11.5 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากปริมาณก๊าซสำรองในหลายภูมิภาคยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับมีการใช้พลังงานอื่นทดแทน (ถ่านหิน ก๊าซ LPG)
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ลดลงร้อยละ 0.8 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการของตลาดชะลอตัวจากสต็อกข้าวเปลือกของโรงสีบางแห่งเต็ม โรงสีจึงหยุดรับซื้อ พืชผัก (ต้นหอม มะนาว กะหล่ำปลี แตงกวา พริกสด ผักกาดขาว กะหล่ำดอก หน่อไม้ฝรั่ง ผักบุ้ง ฟักทอง มะเขือเทศ แตงร้าน) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ผลปาล์มสด เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ประกอบกับราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ของโลกลดลง ยางพารา เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ประกอบกับความต้องการใช้ยางของจีนลดลงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกรมีชีวิต และไข่ไก่ ราคาปรับลดลงเล็กน้อย เนื่องจากปริมาณผลผลิตสอดรับกับความต้องการบริโภค สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ หัวมันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลไม้ (สับปะรดโรงงาน ลำไย องุ่น ส้มโอ กล้วยหอม มะละกอ) ผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ กุ้งแวนนาไม ปลาทรายแดง ปูม้า ปลาลัง หอยนางรม ปลาอินทรี ปลานิล ปลาตะเพียน และปลาช่อน

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 เฉลี่ยทั้งปี (ม.ค.- ธ.ค.) เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 10.4 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม​ สูงขึ้นร้อยละ 7.5 
  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 62.7
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 8.8

ดัชนีราคาผู้ผลิต ปี 2565 ขยายตัวต่อเนื่องตลอดทั้งปีในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองที่ขยายตัวในอัตราที่สูงที่ร้อยละ 62.7 และหมวดอุตสาหกรรมที่ร้อยละ 8.8 ตามราคาพลังงานในตลาดโลกที่ส่งผลให้สินค้าในกลุ่มปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องขยายตัวในระดับสูง

นอกจากนี้ เงินบาทที่อ่อนค่า การปรับขึ้นค่ากระแสไฟฟ้า ค่าแรงขั้นต่ำ และอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น อีกทั้งอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามสถานการณ์โควิด-19 ที่ปรับตัวดีขึ้นในหลายประเทศ และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวของไทย ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการอยู่ในเกณฑ์ดี อาทิ อ้อย ข้าวเปลือกเจ้า หัวมันสำปะหลังสด และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ล้วนส่งผลให้ดัชนีราคาผู้ผลิตขยายตัวตลอดปีที่ผ่านมา

แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิตในปี 2566

ดัชนีราคาผู้ผลิตปี 2566 มีแนวโน้มชะลอตัว เมื่อเทียบกับปี 2565 จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญที่มีแนวโน้มถดถอย ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกลดลง โดยเฉพาะราคาพลังงานที่คาดว่าจะต่ำกว่าช่วงปีที่ผ่านมา จะส่งผลให้หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดอุตสาหกรรม ขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง นอกจากนี้ ฐานราคาที่สูงตลอดช่วงปี 2565 มีส่วนทำให้ดัชนีราคาผู้ผลิตในปี 2566 ชะลอตัว

อย่างไรก็ตาม ความแปรปรวนของสภาพอากาศที่อาจจะส่งผลต่อปริมาณและราคาสินค้าเกษตรกรรมและการประมง อุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ระดับสูง รวมทั้งความไม่แน่นอนของอุปทานน้ำมัน และการเปิดประเทศของจีน อาจส่งผลต่ออุปสงค์และอุปทานของสินค้าและบริการ ซึ่งจะกระทบต่อภาคการผลิตและดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไทยตามลำดับ ทั้งนี้ จะต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

 

#ดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 #ดัชนีราคาผู้ผลิต ppi #ดัชนีราคาผู้ผลิต ย้อนหลัง #แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต #ดัชนีราคา #ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม #กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า #สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า #กระทรวงพาณิชย์

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH