ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม MPI ตุลาคม 2565

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม MPI ปี 2565 เดือน ต.ค. หดตัว 3.71% ภาพรวม 10 เดือน ยังขยายตัวได้ 2.2%

อัปเดตล่าสุด 1 ธ.ค. 2565
  • Share :
  • 1,029 Reads   

ดัชนี MPI ต.ค. 65 อยู่ที่ระดับ 93.89 ลดลง 3.7% (YoY) สาเหตุจากการปิดซ่อมบำรุงใหญ่โรงกลั่นน้ำมันและโรงงานอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติก แต่ภาพรวม 10 เดือน ยังเพิ่มขึ้น 2.20%

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) 10 เดือนแรก ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 2.20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตอบรับการบริโภคในประเทศฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง หลังเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวขยายตัว รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น และมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ ด้านสศอ. เผยประมาณการ MPI ปี 2566 คาดขยายตัวร้อยละ 2.5 – 3.5 และ GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 2.5 – 3.5

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) 10 เดือนแรก ปี 2565 อยู่ที่ 99.06 ขยายตัวร้อยละ 2.20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิต 10 เดือนแรกของปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 63.06 เป็นผลจากการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและการท่องเที่ยวที่กลับมาดีขึ้น สะท้อนจากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การผลิตในอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมเครื่องดื่มขยายตัวร้อยละ 2.7 และร้อยละ 2.6 ตามลำดับ รวมถึงการผลิตน้ำมันเครื่องบินที่ขยายตัวร้อยละ 108.2

ทั้งนี้ สศอ. ได้ประมาณการ MPI และ GDP ภาคอุตสาหกรรม ปี 2565 และ ปี 2566 โดยปี 2565 คาดว่า MPI ขยายตัวร้อยละ 1.9 และ GDP ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 2.0 ในขณะที่ประมาณการ ปี 2566 คาดว่า MPI ขยายตัวร้อยละ 2.5 – 3.5 และ GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 2.5 – 3.5

ด้าน นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนตุลาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 93.89 หดตัวร้อยละ 3.71 เนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ของโรงงานในอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมและอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติก ซึ่งจะกลับมาผลิตเป็นปกติอีกครั้งในเดือนหน้า โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกในเดือนตุลาคม 2565 ได้แก่ ยานยนต์ จากรถบรรทุกปิกอัพและรถยนต์นั่งขนาดกลางที่สามารถผลิตได้ต่อเนื่อง น้ำมันปาล์ม ขยายตัวจากความต้องการสินค้ามากขึ้นในภาคอุตสาหกรรมและภาคพลังงาน รวมถึงมีผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก และชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวตามการเติบโตของตลาดโลกยุคดิจิทัล ทั้งนี้ ในเดือนพฤศจิกายน 2565 คาดว่าดัชนี MPI จะขยายตัวจากโรงกลั่นกลับมาดำเนินการตามปกติ รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม อุปสงค์สินค้าในตลาดโลกเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามใกล้ชิด ด้วยปัจจัยลบจากตลาดส่งออกสำคัญมีแนวโน้มจะเข้าสู่เศรษฐกิจถดถอย และนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีน                     

ทั้งนี้ สศอ.ได้คาดการณ์ดัชนี MPI ปี 2565 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.9 มาจากแนวโน้มเศรษฐกิจ ในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังและติดตาม ได้แก่ ทิศทางราคาพลังงานทั้งภายในและต่างประเทศ ความผันผวนของราคาน้ำมันทำให้ต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น การปรับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มจากการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น และทิศทางเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก รวมถึงการเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ สหรัฐฯ จีน และ ญี่ปุ่น และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ การกีดกันและย้ายฐานการผลิตทางเทคโนโลยีกระทบต่อการส่งออกของไทย

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตในเดือนตุลาคม 2565 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

ยานยนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.88 จากรถบรรทุกปิกอัพและรถยนต์นั่งขนาดกลางเป็นหลัก ทั้งตลาดในประเทศและการส่งออก หลังปัญหาขาดแคลนชิปคลี่คลายมากขึ้น ผลบวกจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรและผลผลิตต่าง ๆ อยู่ในระดับที่ดี และสามารถผลิตได้ต่อเนื่อง

น้ำมันปาล์ม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 31.82 จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เป็นหลัก เนื่องจากมีความต้องการสินค้ามากขึ้นในภาคอุตสาหกรรมและภาคพลังงาน และการปรับการใช้น้ำมันจาก B5 เป็น B7 รวมถึงมีผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก

ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.47 ตามการขยายตัวของตลาดโลกในยุคดิจิทัลที่ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 21

อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.63 เนื่องจากเกษตรกรมีการเลี้ยงไก่เพิ่มขึ้น เพื่อสนองความต้องการบริโภคเนื้อไก่ที่ขยายตัวมากขึ้น รวมถึงความนิยมการเลี้ยงสัตว์ที่ขยายตัวต่อเนื่อง

ผลิตภัณฑ์คอนกรีต ปูนซีเมนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.76 จากเสาเข็ม คอนกรีตผสมเสร็จ และพื้นสำเร็จรูป เป็นหลัก โดยปีนี้สถานการณ์การก่อสร้างคลี่คลายเป็นปกติ และมีการก่อสร้างมากขึ้น

 

#ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 2565 #ดัชนี mpi 2565 #ผลผลิตอุตสาหกรรม industrial production #การส่งออกอุตสาหกรรม #อุตสาหกรรมไทย #สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม #สศอ.

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH