สถานการณ์การค้าต่างประเทศของไทย ไตรมาสที่ 3/2563

สถานการณ์การค้าต่างประเทศของไทย ไตรมาสที่ 3/2563

อัปเดตล่าสุด 1 ธ.ค. 2563
  • Share :
  • 750 Reads   

กองวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) รายงานสถานการณ์การค้าต่างประเทศของไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2563 มีมูลค่าทั้งสิ้น  107,383.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯคิดเป็นมูลค่าการส่งออก 58,653.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยหดตัวลง ร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมูลค่าการนำเข้า 48,730.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งหดตัวร้อยละ 19.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดุลการค้าไตรมาสที่ 3 ปี 2563 เกินดุล 9,922.73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

“มูลค่าการค้าต่างประเทศในไตรมาสที่ 3 ปี 2563 หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยภาพรวม ทิศทางการค้ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางฟื้นตัวที่ดี อย่างไรก็ตาม การค้ายังคงขยายตัวได้แบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากประเทศคู่ค้าหลักของไทยบางประเทศเผชิญกับการระบาดระลอกที่สอง ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเติบโตได้ในกรอบที่จำกัด”

โครงสร้างการส่งออกสินค้า

การส่งออก ในไตรมาสที่ 3 ปี 2563  มีมูลค่า 58,653.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งหดตัวลงร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหดตัวในหมวดสินค้าหลักทุกรายการ ดังนี้ สินค้าเกษตรกรรม มีมูลค่าการส่งออก 4,961.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 9.6 สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร มีมูลค่าการส่งออก 4,546.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 3.8 สินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่าการส่งออก 47,679.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 6.9 สินค้าแร่และเชื้อเพลิงมีมูลค่าการส่งออก 1,466.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 33.2 สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ที่หดตัวลงร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนนั้น 

สินคัาที่มีการส่งออกหดตัว ได้แก่  รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (มูลค่าการส่งออก 5,423.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 24.8) เม็ดพลาสติก(มูลค่าการส่งออก 1,988.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 13.8) แผงวงจรไฟฟ้า (มูลค่าการส่งออก 1,756.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 9.7) อย่างไรก็ดี สินค้าบางรายการยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ (มูลค่าการส่งออก 6,053.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 4.5) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (มูลค่าการส่งออก 4,842.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 3.7) ผลิตภัณฑ์ยาง (มูลค่าการส่งออก 3,209.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 15.7) เป็นต้น 

สถานการณ์การค้าต่างประเทศของไทย

ตลาดส่งออก ไตรมาสที่ 3 ปี 2563 มีเพียงสหรัฐอเมริกาที่การส่งออกมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ตลาดคู่ค้าหลักอื่น ๆ หดตัวลง ซึ่งสัดส่วนการส่งออก 5 ตลาด ได้แก่ อาเซียน (9 ประเทศ) สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (ไม่รวมสหราชอาณาจักร) รวมคิดเป็นร้อยละ 67.5 และการส่งออกไปยังตลาดอื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 32.5 ของการส่งออกทั้งหมด โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • ไทยมีสัดส่วนส่งออกไปจาก อาเซียน (9 ประเทศ) สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (ไม่รวมสหราชอาณาจักร) คิดเป็น ร้อยละ 22.6, 15.3, 12.9, 9.2 และ 7.6 ตามลำดับ
  • อัตราการขยายตัวของการส่งออกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนขยายตัวเพิ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกา ร้อยละ 17.5 ขณะที่การส่งออกไปอาเซียน (9 ประเทศ) จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (ไม่รวมสหราชอาณาจักร) หดตัวลงร้อยละ 15.2, 0.2, 12.2 และ 10.5 ตามลำดับ

สถานการณ์การค้าต่างประเทศของไทย

โครงสร้างการนำเข้าสินค้า

การนำเข้าในไตรมาสที่ 3 ปี 2563  มีมูลค่า 48,730.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยหดตัวร้อยละ 19.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหดตัวในหมวดสินค้าสำคัญเกือบทุกรายการ ดังนี้สินค้าเชื้อเพลิง มีมูลค่าการนำเข้า 6,788.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 28.7 สินค้าทุน มีมูลค่าการนำเข้า 13,546.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 14.8 สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป มีมูลค่าการนำเข้า 19,187.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 19.1 สินค้าอุปโภคบริโภคมีมูลค่าการนำเข้า 6,357.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 9.7 ยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง มีมูลค่าการนำเข้า 2,489.59 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 36.2 และสินค้าหมวดอาวุธยุทธปัจจัยและสินค้าอื่น ๆ มีมูลค่าการนำเข้า 360.84 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 221.7

สถานการณ์การค้าต่างประเทศของไทย

ตลาดนำเข้าสินค้า สัดส่วนการนำเข้าแยกตามตลาดนำเข้าสำคัญ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 อัตราการขยายตัวในตลาดนำเข้าสำคัญของไทยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหดตัวทุกตลาด ได้แก่ จีน อาเซียน (9 ประเทศ) ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (ไม่รวมสหราชอาณาจักร) และสหรัฐอเมริกา ซึ่งทั้ง 5 ตลาดมีสัดส่วนการนำเข้า รวมคิดเป็นร้อยละ 70.8 และการนำเข้าจากตลาดอื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 29.2 ของการนำเข้าทั้งหมด โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • ไทยมีสัดส่วนการนำเข้าจาก จีน อาเซียน (9 ประเทศ) ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (ไม่รวมสหราชอาณาจักร) และสหรัฐอเมริกา คิดเป็นร้อยละ 25.5, 19.6, 11.8, 7.7 และ 6.1 ตามลำดับ
  • อัตราการขยายตัวของการนำเข้าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากจีน อาเซียน (9 ประเทศ) ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (ไม่รวมสหราชอาณาจักร) และสหรัฐอเมริกา หดตัวร้อยละ 1.5, 19.9, 31.8, 26.6 และ 24.0 ตามลำดับ

สถานการณ์การค้าต่างประเทศของไทย

 

อ่านต่อ: