ส่งออกไทย 2564 ภายใต้ “การรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง” รวมกว่า 1.9 พันล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 38%
ในปี 2564 ยอดส่งออกไทยภายใต้รูปแบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (Self-Certification) มีมูลค่ารวม 1,901.07 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 38.19% ซึ่งการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองช่วยประหยัดเวลา ลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในยุค New Normal
วันที่ 1 เมษายน 2565 นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในการส่งออกเพื่อขอใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า ผู้ส่งออกจำเป็นต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อรับรองว่าสินค้านั้นมีสัญชาติไทย ซึ่งในปัจจุบันผู้ส่งออกสามารถเลือกรูปแบบการรับรองสัญชาติสินค้าได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ การให้กรมการค้าต่างประเทศรับรอง และการรับรองตัวเอง ทั้งนี้รูปแบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 ยอดส่งออกผ่านการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1,901.07 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนถึงร้อยละ 38.19 โดยเป็นการส่งออกไปยังประเทศสมาชิกอาเซียนภายใต้กรอบความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Wide Self-Certification หรือ ระบบ AWSC) มูลค่า 1,592.41 ล้านเหรียญสหรัฐ และส่งออกไปสวิตเซอร์แลนด์และนอร์เวย์ ภายใต้การใช้สิทธิ GSP (Registered Exporter หรือระบบ REX) มูลค่า 308.66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
การส่งออกไปอาเซียนภายใต้ระบบ AWSC ยังเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาเลเซียที่ถือเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญและมีศักยภาพ ซึ่งในปี 2564 มีมูลค่าการส่งออกรวมกว่า 933.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 58.59 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดภายใต้ระบบ AWSC นอกจากนี้เวียดนามยังเป็นตลาดที่น่าจับตามองเช่นกัน เนื่องจากมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2563 สูงถึงร้อยละ 143.73 ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องปั่นแห้ง ตู้เย็น ตู้แช่ และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
- พร้อมรับ RCEP กรมการค้าฯ เปิดระบบออนไลน์ "ขึ้นทะเบียนผู้ส่งออก-ใบรับรองสินค้า" 16 ธ.ค. 64 นี้
- ส่งออกไทย 2565 เดือน ก.พ. ขยายตัว 16% เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
- ภาพรวมส่งออกไทยใช้สิทธิ FTA ปี'64 พุ่ง 31% ทะลุ 7.6 หมื่นล้านเหรียญ สูงสุดในรอบ 6 ปี
สำหรับการส่งออกภายใต้ระบบ REX ตลาดหลักได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ มีสัดส่วนร้อยละ 89.00 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดภายใต้ระบบ REX สินค้าส่งออกสำคัญเป็นสินค้าอุปโภคและบริโภค ได้แก่ สารปรุงแต่งที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม กระเป๋าหนัง เนื้อปลาปรุงแต่ง นาฬิกาและส่วนประกอบ และข้าว
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกรอบความตกลง RCEP ที่เริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ผู้ส่งออกไทยก็สามารถเลือกใช้รูปแบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองสำหรับการส่งออกไปอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้เช่นกัน สำหรับวิธีการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองภายใต้ 3 ระบบดังกล่าว ผู้ส่งออกสามารถขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิดังกล่าวกับกรมการค้าต่างประเทศผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งมีขั้นตอนที่ง่าย สะดวกรวดเร็ว และไม่มีค่าใช้จ่าย ณ สิ้นเดือนมกราคม 2565 มีผู้ส่งออกได้รับการขึ้นทะเบียนที่สามารถรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองได้แล้ว จำนวน 783 ราย
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองได้ที่เว็บไซต์ http://self-cert.dft.go.th/self-cert/home/login2.aspx หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ 1385 หรือกองบริหารการนำเข้าและรับรองถิ่นกำเนิด กรมการค้าต่างประเทศ โทร. 02-5474808 และ 02-5475132
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- เทรนด์การทำงานในอนาคต หลังไทยติดโควิด นานเกือบสองปี!
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH