แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ทิศทางตลาดโลกโต 2 เท่าใน 2 ปี ไทยพร้อมแค่ไหน

แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ทิศทางตลาดโลกโต 2 เท่าใน 2 ปี ไทยพร้อมแค่ไหน

อัปเดตล่าสุด 4 ก.พ. 2564
  • Share :
  • 2,299 Reads   

♦ แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ตลาดทั่วโลกในปี 2024 จะมีมูลค่าสูงถึง 90.6 หมื่นล้านเหรียญ  
♦ ดีมานด์หลักอยู่ที่รถยนต์ไฟฟ้า สัดส่วน 50% ตามด้วยเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
♦ ไทยตอบรับอย่างไร และคืบหน้าแค่ไหน  

สำนักวิเคราะห์ด้านอุตสาหกรรมจากญี่ปุ่น Fuji Keizai จัดทำรายงานคาดการณ์ตลาดแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนฉบับล่าสุดซึ่งรวมปัจจัยผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เผยตัวเลขเบื้องต้นของมูลค่าตลาดแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนทั่วโลกในปี 2020 จะปิดที่ 4,741,000 ล้านเยน หรือราว 45,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น1.2% จากปี 2019 และคาดว่าจะเติบโต 2 เท่า โดยมูลค่าจะขึ้นไปอยู่ที่ราว 9,520,300 ล้านเยน หรือราว 90,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2024 จากแนวโน้มความต้องการใน 3 กลุ่มหลัก ดังนี้

แบตฯ ลิเธียมไอออนในอุตสาหกรรมยานยนต์

ปัจจุบันแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนถูกนำไปใช้งานในรถยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด และรถไฮบริดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมจากสหภาพยุโรป (EU) ทำให้ความต้องการแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนในอุตสาหกรรมยานยนต์มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด นำมาซึ่งการเพิ่มกำลังผลิตรถยนต์ไฟฟ้าครั้งใหญ่จากผู้เล่นรายหลักอย่างเทสล่า (Tesla) ซึ่งในปี 2020 มูลค่าตลาดแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ เบื้องต้นปิดที่ 2,591,600 ล้านเยน หรือคิดเป็นสัดส่วนราวครึ่งหนึ่งของตลาด โดยคาดการณ์ว่าจะเติบโต 2.6 เท่าในปี 2024

สำหรับประเทศจีน ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าและฐานการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนขนาดใหญ่ พร้อมด้วยมาตรการสนับสนุนรถยนต์พลังงานใหม่ (NEV) จากรัฐบาลจีน ซึ่งเดิมทีมีกำหนดการสิ้นสุดภายในปลายปี 2020 อย่างไรก็ตาม การประกาศยืดอายุโครงการออกไปถึงปลายปี 2022 และขยายขอบเขตโครงการให้ครอบคลุมรถไฮบริดด้วย ทำให้คาดหวังได้ว่าความต้องการแบตเตอรี่ในจีนจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในสหรัฐอเมริกา โครงการ Zero Emission Vehicle (ZEV) กดดันให้ค่ายรถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมามากขึ้น และมีบทลงโทษสำหรับผู้ผลิตที่มีสัดส่วนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไม่เป็นไปตามเป้าหมาย นโยบายเช่นนี้จะเป็นอีกแรงที่ช่วยกระตุ้นความต้องการแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนให้สูงขึ้น

ฝั่งยุโรปนั้น ได้ออกมาตรการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของภาคอุตสาหกรรม และมีบทลงโทษเช่นเดียวกับสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ยุโรปไม่ได้บังคับว่าจะต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าประเภทใดในสัดส่วนเท่าไร ทำให้ผู้ผลิตสามารถเลือกผลิตรถได้ตามความเชี่ยวชาญของบริษัท

แบตฯ ลิเธียมไอออนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ไม่ใช่เพียงแค่อุตสาหกรรมยานยนต์เท่านั้นที่ต้องการแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนมากขึ้น แต่อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เองก็เช่นเดียวกัน โดยปัจจุบัน แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนขนาดเล็กเป็นส่วนประกอบสำคัญของโน๊ตบุ๊ค คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และ Wearble Device อีกทั้งยังมีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่เริ่มต้องการแบตเตอรี่ชนิดนี้มากขึ้น เช่น เครื่องมือช่าง และเครื่องมือทำสวนไฟฟ้า ซึ่งในปี 2020 มูลค่าตลาดแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ เบื้องต้นปิดที่ 1,715,400 ล้านเยน และคาดว่าจะเติบโต 15.9% ในปี 2024

สำหรับแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนขนาดเล็กนั้นมีหลายชนิด ทั้งแบบวงกลม แบบเหลี่ยม หรือแบบลามิเนต ทำให้ความต้องการต่างกันไปตามแต่ชนิดผลิตภัณฑ์ ซึ่งในปีที่ผ่านมา ประเภทที่มีการเติบโตของยอดขายสูงสุดคือแบตเตอรี่สำหรับโน๊ตบุ๊คซึ่งเป็นผลจากการระบาดของโควิด

แบตฯ ลิเธียมไอออนในอุตสาหกรรมอื่น

สุดท้ายคือการนำไปใช้ในรูปแบบอื่น ๆ ด้วยแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนมีขนาดเล็ก อายุการใช้งานยาวนาน จึงเหมาะกับการนำมาใช้ในระบบจัดเก็บพลังงาน, เครื่องสำรองไฟ, สถานีฐาน (Base Station) สำหรับโทรศัพท์มือถือ, และอื่น ๆ โดยในปี 2020 ตัวเลขเบื้องต้นของตลาดแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสำหรับอุตสาหกรรมอื่นจะมีมูลค่าอยู่ที่ 4,434,000 ล้านเยน ซึ่งมีสัดส่วนน้อยที่สุด

อย่างไรก็ตาม การใช้งานในรูปแบบเหล่านี้มีแนวโน้มการเติบโตสูงมากถึง 2.2 เท่าในปี 2024 เนื่องจากแนวโน้มการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นทุกปี รวมถึงการใช้พลังงานทดแทนจากโซลาร์เซลล์ สถานีชาร์จไฟรถยนต์ไฟฟ้า และเทคโนโลยีเครือข่าย 5G ที่จะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ส่งผลให้มีความต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะในจีน ยุโรป และอเมริกาเหนือ 

แบตฯ ลิเธียมไอออนในไทยคืบหน้าแค่ไหน  

จากแนวโน้มการบริโภคพลังงานไฟฟ้าทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งรวมถึงประเทศไทย โดยกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า นอกจากพลังงานไฟฟ้าในครัวเรือนแล้ว พลังงานไฟฟ้าจะยังถูกนำมาใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง และการเติบโตของระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทำให้เทคโนโลยีกักเก็บพลังงานอย่างแบตเตอรี่ได้รับการพิจารณาให้เป็นหนึ่งแนวทางในการรักษาเสถียรภาพและคุณภาพของระบบไฟฟ้า แม้ในปัจจุบัน การใช้งานแบตเตอรี่เพื่อกักเก็บพลังงานไฟฟ้าในไทยยังเป็นเพียงการเริ่มต้น โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการนำร่องซึ่งนำเข้าแบตเตอรี่มาจากต่างประเทศทั้งหมด 

การผลิตแบตเตอรี่ในประเทศแทนการนำเข้าจึงสามารถช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคการผลิตได้ แม้ว่าไทยจะไม่มีทรัพยากรต้นน้ำ แต่มูลค่าเพิ่มของการผลิตแบตเตอรี่สามารถเกิดขึ้นได้ในการผลิตขั้นกลางน้ำและปลายน้ำ ซึ่งงานศึกษาของ Clean Energy Manufacturing Analysis Center (CEMAC) พบว่าการผลิตเซลล์ และประกอบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึง 60% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ ซึ่งประเทศไทยเริ่มตื่นตัวทั้งในด้านการพัฒนาการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมรวมถึงการรีไซเคิล ไม่ว่าจะเป็นโครงการแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนจากบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ (EA) ร่วมบริษัทในเครือ อมิตา เทคโนโลยี ซึ่งดำเนินโครงการโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนในประเทศไทย ที่นิคมอุตสาหกรรม บลูเทค ซิตี้ จังหวัดฉะเชิงเทรา, โครงการวิจัยแบตเตอรี่ต้นแบบด้วยเทคโนโลยีเซมิ-โซลิดจากกลุ่ม ปตท., หรือแม้แต่โครงการวิจัยแบตเตอรี่ลิเธียมซัลเฟอร์จากกระทรวงพลังงานร่วมกับสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) 

นอกจากการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนในไทยแล้ว เรายังมีการเชื่อมต่อซัพพลายเชนเพื่อกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์และอุปทานของตลาดแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนอีกด้วย โดยมุ่งเป้าไปที่รถยนต์ไฟฟ้าซึ่งเป็นผู้ใช้กลุ่มหลัก โดยทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ (BOI) ได้ออกมาตรการส่งเสริมการผลิตยานพาหนะไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งจักรยานยนต์ไฟฟ้า รถสามล้อไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า และเรือไฟฟ้า