ยอดสั่งซื้อ Machine Tools เยอรมัน ไตรมาสที่ 2/2022

ยอดสั่งซื้อ Machine Tools เยอรมัน ไตรมาสที่ 2/2022 เพิ่มขึ้น 24% ดันครึ่งปีแรกโตเทียบปี 2018

อัปเดตล่าสุด 30 ส.ค. 2565
  • Share :

ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรกลเยอรมันไตรมาสที่ 2 ของปี 2022 เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมครึ่งปีแรกมียอดสั่งซื้อเกือบเทียบเท่าปี 2018 ซึ่งเป็นปีที่ทำสถิติยอดสั่งซื้อสูงสุด แต่สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนจะส่งผลต่อราคาในครึ่งปีหลัง 

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2022  สมาคมผู้ผลิตเครื่องจักรกลแห่งเยอรมนี หรือ VDW รายงานยอดสั่งซื้อเครื่องจักรกลเยอรมันในไตรมาสที่ 2 ปี 2022 เพิ่มขึ้น 24% จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อนหน้า โดยยอดสั่งซื้อจากในประเทศเยอรมนีเพิ่มขึ้น 27% และจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น 23% สำหรับภาพรวมครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้น 34% แบ่งเป็นยอดสั่งซื้อจากภายในประเทศ 35% และจากต่างประเทศ 33%

Dr. Wilfried Schäfer กรรมการผู้จัดการ VDW เปิดเผยว่า แม้จะอยู่ในสภาวะที่ยากลำบากแต่ในไตรมาสที่ 2 ยอดสั่งซื้อ Machine Tools ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในภาพรวมของครึ่งปีแรกมีสั่งซื้อเกือบเทียบเท่าปี 2018 ซึ่งเป็นปีที่มีการเติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ผลจากความต้องการของตลาดนอกอียูเป็นหลัก โดยเฉพาะตลาดจีนและสหรัฐฯ ที่ยังมีความเข้มแข็ง นอกจากนี้ การล็อกดาวน์ในจีนส่งผลเพียงเล็กน้อยในไตรมาสที่ 2

ในด้านของเทคโนโลยีพบว่า เครื่องจักรกลุ่มตัดเฉือนโลหะเติบโตอย่างแข็งแกร่งเป็นสองเท่าของเครื่องจักรกลุ่มขึ้นรูปโลหะ ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ว่าโปรเจกต์สำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังหยุดชะงัก โดยเฉพาะในเยอรมนี ปกติแล้วเครื่องจักรขึ้นรูปโลหะมีสัดส่วนอยู่ที่ราว 30% ของยอดขายเครื่องจักรกลทั้งหมด  โดยเฉพาะเครื่องเพรสที่ถูกใช้งานโปรเจกต์ใหญ่เป็นหลัก 

อย่างไรก็ตาม VDW คาดการณ์ว่า ผลกระทบจากสงครามรัสเซียยูเครนจะรุนแรงขึ้นในอนาคต ซึ่งเห็นได้ชัดจากการเติบโตที่เริ่มชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา และสภาวะคอขวดของซัพพลายเชนที่ยาวนานต่อเนื่องมาหลายเดือน

Advertisement

สำหรับยอดขายยังคงเป็นปัญหาที่น่ากังวล โดยในครึ่งปีแรกสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนเพียง 7% สะท้อนถึงตลาดที่ซบเซา โดย Dr. Wilfried Schäfer แสดงความเห็นว่า ปัญหาซัพพลายเชนยังไม่มีท่าทีจะสิ้นสุดตามที่กังวลไว้ และมีการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 85.9% ในเดือนเมษายน เป็น 87.4% ในเดือนกรกฎาคมเท่านั้น

เครื่องจักรกลเยอรมันกว่า 70% ส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งในไตรมาสที่ 2 มีการปรับตัวดีขึ้น ทำให้ครึ่งปีแรกมีการส่งออกเพิ่มขึ้น 5% โดยการส่งออกไปยังเอเชียเติบโตสูงสุดที่ 11% อย่างไรก็ตาม พบว่าการรส่งออกไปยังจีนเพิ่มขึ้นเพียง 5% เท่านั้น ในขณะที่การส่งออกเครื่องจักรกลไปยังญี่ปุ่น อินเดีย และตลาดขนาดเล็กบางแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการเติบโตในระดับสองหลัก

ทางฟากอเมริกาพบว่า มีการส่งออกเพิ่มขึ้น 9% ในขณะที่การส่งออกไปยังยุโรปเทียบเท่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเฉพาะในยุโรปตะวันออกซึ่งชะลอตัวเป็นอย่างมากจากการงดส่งออกไปยังรัสเซีย ในขณะที่การส่งออกไปยังยุโรปตะวันตกมีการเติบโตอย่างเด่นชัด

ส่วนด้านการนำเข้าเครื่องจักกล พบว่าเยอรมนีนำเข้าเครื่องจักรเพิ่มขึ้น 16% และมีการนำเข้าจากเอเชียสูงสุดเมื่อเทียบกับการนำเข้าจากภูมิภาคอื่น ซึ่ง Dr. Wilfried Schäfer คาดการณ์ว่าเป็นผลจากการที่ซัพพลายเออร์ในเอเชียสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาด้านซัพพลายเชนได้ดีกว่า

Dr. Wilfried Schäfer สรุปว่า ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ไม่มีท่าทีจะสิ้นสุด ทำให้เกิดความเสียงในประเด็นพลังงานในช่วงฤดใบไม้ร่วงและฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง ในขณะที่ทางจีนมีสัญญาณของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลงในภาพรวม ซึ่งเมื่อผนวกกับสถานการณ์ทางการเมืองในไต้หวันแล้วยิ่งทำให้บรรยากาศทางธุรกิจในอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลไม่แน่ชัด ส่วนมาตรการสนับสนุนการลงทนในสหรัฐฯ จะเป็นแรงกระตุ้นที่ผลักดันให้อุตสาหกรรมก้าวต่อไป

ยอดสั่งซื้อ Machine Tools เยอรมัน ไตรมาสที่ 2/2022

 

#ลงทุน #ยอดสั่งซื้อเครื่องจักร #เยอรมนี #Mreport #onlinecontent #ข่าวอุตสาหกรรม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH