ส่องตลาด Connected Car โตคู่ รถยนต์ไฟฟ้า
Connected Car อีกเทรนด์เทคโนโลยีที่กำลังจะเกิดขึ้นควบคู่ไปกับรถยนต์ไฟฟ้า คาดการณ์ว่า ในปี 2035 ตลาดโลกจะมีมูลค่ารวม 94.8 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 2.9 เท่าจากปี 2020 อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่รถอีวีทุกคันจะเป็น Connected Car เสมอไป
Advertisement | |
Connected Car คือ แนวคิดของการเชื่อมต่อยานยนต์เข้ากับยานยนต์หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ผ่านระบบเน็ตเวิร์คเพื่อให้สามารถรับส่งข้อมูล นำมาซึ่งฟังก์ชันต่าง ๆ ที่ไม่ได้จำกัดแค่เพียงการขับขี่อัตโนมัติ
เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2021 สำนักวิเคราะห์ Fuji Keizai ประเทศญี่ปุ่น เผยแพร่รายงานแนวโน้มตลาด Connected Car โดยรวบรวมข้อมูลจากค่ายรถ สมาคม และบทวิเคราะห์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รายละเอียดดังนี้
ตลาด Connected Car ปี 2021 - 2035
ในปี 2021 นี้ วิกฤตชิปขาดตลาดและวิกฤตซัพพลายเชนส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเทคโนโลยี Connected Car เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ตัวเลขจากการประเมินเบื้องต้นเปิด ทำให้คาดได้ว่าในปีนี้ยอดขายยานยนต์ทั่วโลกที่ใช้เทคโนโลยีนี้จะปิดที่ 40.2 ล้านคัน มีการเติบโต 22.2% จากปี 2020 และคาดว่าจะการเติบโตมากขึ้นหลังค่ายรถและผู้ผลิตชิ้นส่วน Tier 1 ลงทุนตามแนวคิด CASE มากขึ้น
ปัจจุบัน ภูมิภาคที่มีการใช้งานเทคโนโลยี Connected Car สูงที่สุดคือยุโรป แต่ในอนาคตมีความเป็นไปได้มากว่าจีนจะแซงขึ้นเนื่องจากนโยบาย Technology Roadmap for Intelligent & Connected Vehicles 2.0 ที่รัฐบาลจีนวางเอาไว้ตั้งแต่ปี 2016
คาดการณ์ว่า ในปี 2035 ยอดขายยานยนต์ที่มีเทคโนโลยี Connected Car จะอยู่ที่ 94.8 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 2.9 เท่าจากปี 2020 โดยแบ่งเป็น
- ญี่ปุ่น อยู่ที่ 3.5 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 2.9% จากปี 2020
- อเมริกาเหนือ อยู่ที่ 20.1 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 2.1 เท่า จากปี 2020
- ยุโรป อยู่ที่ 20.0 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 2.2 เท่า จากปี 2020
- จีน อยู่ที่ 27.0 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 4.0 เท่า จากปี 2020
- อื่น ๆ อยู่ที่ 24.2 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 5.6 เท่า จากปี 2020
ปัจจุบัน เทคโนโลยี Connected Car ส่วนมากถูกใช้ในรถยนต์นั่งส่วนบุคคล โดยในปี 2021 จะมีสัดส่วน 47.0% จากยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลทั้งหมด ก่อนเพิ่มเป็น 86.9% ในปี 2035
แนวโน้มเทคโนโลยี Connected Car ปี 2021 - 2035
ทางสำนักวิเคราะห์ Fuji Keizai ได้จัดหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์และบริการด้าน Connected Car ออกเป็น 5 กลุ่มดังนี้
- ระบบ Connected Car เช่น Telematics Control Unit (TCU), In-Vehicle infotainment (IVI)
- อุปกรณ์ Connected Car เช่น โมดูลรับส่งสัญญาณ, อุปกรณ์ GPS
- โครงสร้างพื้นฐาน และ V2X เช่น Dedicated Short Range Communications (DSRC), Roadside Unit (RSU)
- อุปกรณ์สนับสนุนการขับขี่ เช่น กล้อง, ADAS, LiDAR, แบตเตอรี่สำรอง
- บริการที่เกี่ยวข้อง เช่น บริการตรวจเช็คสภาพรถทางไกล, แอพลิเคชัน E-commerce
ซึ่งยานยนต์แต่ละคันจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เหล่านี้ไม่มากก็น้อย แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีความแน่ชัดนักว่า Connected Car จะต้องใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีแบบไหน แต่ก็มีแนวโน้มที่น่าสนใจ ดังนี้
เทคโนโลยี C-V2X และ DSRC
เทคโนโลยีทั้งสองนี้จัดอยู่ในโครงสร้างพื้นฐาน และ V2X หรือ Vehicle-to-Everything คือ การสื่อสารระหว่าง “ยานพาหนะ” กับ “สิ่งอื่น” ผ่านอินเทอร์เน็ตไร้สาย ซึ่งปัจจุบันการสื่อสารเหล่านี้ในตลาดยานยนต์หลัก ๆ อย่างอเมริกาเหนือและยุโรปเลือกใช้โปรโตคอล Dedicated Short Range Communications (DSRC) เป็นหลัก
อย่างไรก็ตามในปี 2020 ค่ายรถจีน และค่ายรถอเมริกันอย่าง General Motors ได้เริ่มมีการใช้เทคโนโลยี Cellular V2X (C-V2X) อีกทั้งคณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารสหรัฐฯ (FCC) ยังมีการจัดสรรย่านความถี่ให้กับ C-V2X อีกด้วย ทำให้การประเมินเบื้องต้นพบว่าในปี 2021 ยานยนต์ที่ติดตั้งเทคโนโลยี C-V2X จะปิดที่ 9 แสนคัน เพิ่มขึ้น 18 เท่าจากปี 2020 ในขณะที่ DSRC ปิดที่ 4.5 แสนคัน เพิ่มขึ้น 12.5% เท่านั้น
คาดการณ์ว่าในปี 2035 จะมียานยนต์ที่ติดตั้งเทคโนโลยี C-V2X มากถึง 57.3 ล้านคันทั่วโลก เพิ่มขึ้นมากถึง 1,146 เท่า
ระบบสั่งการด้วยเสียง
ระบบสั่งการด้วยเสียงจัดอยู่ในกลุ่ม อุปกรณ์ Connected Car เป็นอีกเทคโนโลยีที่น่าจับตามอง เนื่องจากในปัจจุบัน คอมพิวเตอร์บนยานยนต์หลายรุ่นมีประสิทธิภาพในการทำงานไม่แพ้คอมพิวเตอร์ทั่วไป อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้ฟังก์ชันต่าง ๆ ระหว่างขับรถเป็นเรื่องยาก ทำให้ยานยนต์หลายรุ่นไม่อาจใช้ฟังก์ชันต่าง ๆ ได้เต็มที่ ค่ายรถยุโรปจึงเริ่มทดลองนำระบบสั่งการด้วยเสียงมาใช้ในยานยนต์ ในขณะที่จีนก็มีไอเดียนำระบบสั่งการด้วยเสียงมาใช้ในยานยนต์อัตโนมัติและยานยนต์ไร้คนขับ
คาดการณ์ว่า ในปี 2021 จะมียานยนต์ที่ติดตั้งระบบสั่งการด้วยเสียง 4.2 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 21.7% จากปี 2020 และในปี 2035 จะเพิ่มเป็น 37.4 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 10.8 เท่าจากปี 2020
ระบบจอดยานยนต์อัตโนมัติ
ระบบจอดยานยนต์อัตโนมัติเกิดจากการผสานเทคโนโลยี Connected Car หลายรูปแบบเข้าด้วยกัน ซึ่งแต่ละค่ายได้ให้ชื่อเรียกต่างกันไป แต่มักมีหลักการทำงานใกล้เคียงกัน โดยปัจจุบัน BMW อยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีนี้สำหรับรถหรู ในขณะที่ Hyundai และ KIA ก็ประกาศเพิ่มรุ่นยานยนต์ที่จะรองรับเทคโนโลยีนี้
ในอนาคต เทคโนโลยีนี้มีแนวโน้มที่จะถูกพัฒนาต่อไปในทิศทางเดียวกันกับระบบอัตโนมัติ ไปจนถึงใช้สั่งการให้รถเข้าจอดหรือออกจากที่จอดผ่านสมาร์ทโฟนหรือกุญแจรถได้ อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าระบบที่เกี่ยวข้องจะมียอดขายในยุโรปเป็นหลัก เนื่องจากสภาพท้องถนนและกฎจราจรที่แตกต่าง ทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีมีความยากง่ายต่างกันไป เช่น ญี่ปุ่นที่กฎหมายบังคับให้การจอดรถในบ้านต้องหันหลังเข้าบ้านเท่านั้น
คาดการณ์ว่า ในปี 2035 จะมียานยนต์ที่ติดตั้งระบบจอดยานยนต์อัตโนมัติ 5.92 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 14.4 เท่าจากปี 2020
บทความเกี่ยวกับ Connected Car
- การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยียานยนต์ของประเทศไทย ชูเทคโนโลยี CASE - CAV
-
"i-mobility TYPE-C" ต้นแบบยานยนต์อัตโนมัติจาก AISIN SEIKI
-
ผู้ผลิตเร่งปรับตัว เมื่อ Navigation System จะถูกแทนที่ด้วย Autonomous Driving และ Connected Car
#รถยนต์ไฟฟ้า #EV #Electric Vehicle #Connected Car #CASE #รถอีวี #ชิ้นส่วนยานยนต์ #แนวโน้ม านยนต์ #เทคโนโลยี ยานยนต์ #อุตสาหกรรมยานยนต์ #เอ็ม รีพอร์ต #M Report #mreportth #Mreport #วงในอุตสาหกรรม #ข่าวอุตสาหกรรม
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
-
สัมมนา “การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยียานยนต์ของประเทศไทย" ชูเทคโนโลยี CASE - CAV ต้องตามให้ทัน
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- ส่งออกไทย 2564 เดือน มิ.ย. ขยายตัว 43% สูงสุดรอบ 11 ปี อีกครั้ง
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- สรุปยอดขายรถยนต์ 2564 ครึ่งปีแรก
- วิกฤตซัพพลายเชนโลก: ผลกระทบจากโควิด-19 ต่อธุรกิจ
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH