เยอรมนีรักษาแชมป์โลกส่งออกเครื่องจักรกล ปี 2566 เหนือคู่แข่งจีน-ญี่ปุ่น

เยอรมนีรักษาแชมป์โลกส่งออกเครื่องจักรกล ปี 2566 เหนือคู่แข่งจีน-ญี่ปุ่น

อัปเดตล่าสุด 18 เม.ย. 2567
  • Share :
  • 1,640 Reads   

ปี 2566 เยอรมนียังครองแชมป์โลก "ส่งออกเครื่องจักรกล" เติบโต 9% จากปี 2565 คิดเป็นมูลค่า 9.5 พันล้านยูโร โดยอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลเยอรมันมีการส่งออกคิดเป็น 70% ของยอดขายทั้งหมด ชี้ในปีที่ผ่านมา ตลาดอเมริกาเติบโตมากที่สุดเพิ่มขึ้นถึง 18% แต่ตลาดในบ้านอย่างยุโรปกลับซบเซา ส่วนจีนเติบโตต่ำ เผยปีหน้ามองโอกาสเติบโตในตลาดตุรกี-อินเดีย คาดจะทำยอดส่งออกไปตุรกีเพิ่มขึ้น 39% และอินเดียจะเพิ่มขึ้น 25% อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ตลาดเครื่องจักรกลปัจจุบันยังคงอยู่ในช่วงชะลอตัว ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมองตลาดจะไม่ฟื้นตัวจนกว่าจะถึงปีหน้า

Advertisement

เยอรมนี 19 มี.ค. 67 - CECIMO เผย Dr. Markus Heering กรรมการบริหารสมาคมผู้ผลิตเครื่องจักรกลแห่งเยอรมนี หรือ VDW กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลของเยอรมนี สามารถป้องกันตำแหน่งแชมป์การส่งออกเครื่องจักรกลของโลก ซึ่งเหนือกว่าคู่แข่งทั้งจีนและญี่ปุ่น โดยมียอดการส่งออกเครื่องจักรรวมทั้งชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมไปยังตลาดต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่า 9.5 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้น 9% จากปี 2565

Dr. Markus Heering ระบุว่า ในกลุ่มตลาด 3 อันดับแรก ได้แก่ ยุโรป อเมริกา และเอเชีย ยอดการส่งออกไปยังตลาดอเมริกาเติบโตเร็วที่สุด โดยในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึง 18% ซึ่งได้รับแรงหนุนหลักมาจากตลาดสหรัฐอเมริกา ที่เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับสอง คิดเป็นสัดส่วน 15% ของการส่งออกทั้งหมด โดยในปีที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกานำเข้าเครื่องจักรเยอรมันมูลค่ากว่า 1.4 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้น 19% จากปีก่อนหน้า ซึ่งสมาชิกต่างมีมุมมองเชิงบวกต่ออนาคตการค้ากับตลาดสหรัฐฯ

เนื่องจากต้นทุนพลังงานในสหรัฐฯ ต่ำกว่าที่เยอรมนี ร่วมกับอุปสงค์จากอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งอยู่กำลังลงทุนเครื่องยนต์สำหรับรถบรรทุกหนัก ก่อนที่กฎระเบียบควบคุมมลพิษใหม่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2570 นอกจากนี้ เม็กซิโกก็ได้รับการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น เนื่องจากอยู่ใกล้ตลาดสหรัฐฯ

ซึ่งที่จริงแล้ว ยอดการส่งออกไปยังเม็กซิโกเพิ่มขึ้น 28% เพิ่มขึ้นมากกว่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ทำให้ประเทศในอเมริกากลางอยู่ในอันดับที่ 9 ในรายการของตลาดส่งออกที่สำคัญที่สุด คิดเป็นยอดขายประมาณ 326 ล้านยูโร เม็กซิโกเป็นตลาดที่สำคัญเป็นอันดับสองในทวีปอเมริกา ในทางกลับกัน ธุรกิจในอเมริกาใต้ลดลง 7% เมื่อเทียบกับปีก่อน

การส่งออกตลาดจีนเพิ่ม แต่ยังต่ำกว่าปี 2561

ด้านตลาดเอเชีย Dr. Markus Heering ระบุว่า ในปีที่ผ่านมา การส่งออกสินค้าเยอรมันไปยังเอเชียเพิ่มขึ้น 7% โดยจีนเป็นตลาดสำคัญที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 17% ของการส่งออกทั้งหมดเมื่อเทียบกับปีก่อน การส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้น 6% สู่ระดับ 1.6 พันล้านยูโร แต่ยังต่ำกว่าปี 2561 ซึ่งเป็นปีที่มีการส่งออกสูงสุด หลายบริษัททำธุรกิจในจีนด้วยความยากลำบาก 

“เศรษฐกิจจีนอยู่ในภาวะอ่อนแอ และประเทศกำลังพยายามลดการพึ่งพาสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมพึ่งพาตนเองมากขึ้น” Dr. Markus Heering กล่าว 

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องกระจายตลาดส่งออกไปยังแหล่งเศรษฐกิจใหม่ที่มีการเติบโตแทน อาทิ กลุ่มประเทศอาเซียน นอกจากนี้ ยังมีอินเดียซึ่งกำลังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นสำหรับการส่งออกของเยอรมนี โดยมีบริษัทหลายแห่งรายงานว่ากำลังมีกิจกรรม โครงการ และการติดต่อต่าง ๆ ในอินเดียมากขึ้น แม้ว่าตลาดอินเดียจะยังคงมีความไวต่อปัจจัยด้านราคาสูง

ปัจจุบันอินเดียเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 13 ของเยอรมนี โดยการส่งออกไปยังอินเดียเพิ่มขึ้นถึง 25%

ตลาดยุโรปเติบโตช้าลง

Dr. Markus Heering กล่าวว่า ตลาดยุโรปซึ่งเป็นแหล่งส่งออกสำคัญของผู้ผลิตเครื่องจักรเยอรมันกำลังเติบโตช้าลง ยุโรปนับเป็นภูมิภาคการขายที่ใหญ่ที่สุด มีสัดส่วนมากกว่า 50% แต่กลับเป็นตลาดที่ซบเซาที่สุด โดยการส่งออกเพิ่มขึ้นเพียง 6% สู่ระดับ 4.9 พันล้านยูโรเท่านั้น แม้ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปตะวันตกจะมีการขยายตัว แต่ผู้ผลิตก็ยังคงกังวลเกี่ยวกับตลาดยุโรป เนื่องจากคำสั่งซื้อใหม่กำลังลดลง สะท้อนสภาวะเศรษฐกิจที่ชะงักงัน

สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่ออิตาลีโดยตรง ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 ของเยอรมนี เมื่อมีการปรับลดเงินอุดหนุนอย่างมาก ในทางตรงกันข้าม สวิตเซอร์แลนด์ถูกมองว่าเป็นตลาดที่มั่นคง มูลค่าการส่งออก 430 ล้านยูโร จัดเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญอันดับต้น ๆ โดยลูกค้าสวิสได้ประโยชน์จากต้นทุนพลังงานที่ต่ำและชั่วโมงการทำงานที่มากกว่า ปัจจัยเหล่านี้ส่งเสริมการลงทุน นอกจากนี้ ภูมิภาคยุโรปเหนือก็มีแนวโน้มที่ดี เช่นเดียวกับตลาดตุรกีที่เติบโต 39% 

“ตอนนี้ตุรกีกำลังดึงดูดความสนใจทางการเมืองเนื่องจากความสัมพันธ์ทางการค้ากับรัสเซีย ในทางกลับกัน ลูกค้าเครื่องมือเครื่องจักรมากมายในตุรกีได้รับรายได้ในยุโรปจากธุรกิจส่งออกของพวกเขา เงินลีราตุรกีอยู่ในสถานการณ์ที่อ่อนแอในขณะนี้ ทำให้พวกเขาสามารถใช้เงินที่เก็บไว้เพื่อลงทุนในเทคโนโลยีการผลิตได้”  Dr. Markus Heering กล่าวและให้บทสรุปว่า

อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลเยอรมันมีการส่งออกคิดเป็น 70% ของยอดขายทั้งหมด แต่การชะลอตัวของความต้องการสินค้าทุนในตลาดโลกได้ส่งผลกระทบต่อลูกค้าเยอรมันด้วย ทำให้ธุรกิจไม่สามารถเติบโตได้ “ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจคาดว่าตลาดจะไม่ฟื้นตัวจนกว่าจะถึงปีหน้า”

 

#Investment #ลงทุนเครื่องจักร #ยอดสั่งซื้อเครื่องจักร #Mreport #ข่าวอุตสาหกรรม
 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH