ดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจของบริษัทญี่ปุ่นในเอเชียและโอเชียปี ปี 2020 - 2021

ดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจของบริษัทญี่ปุ่นในเอเชียและโอเชียเนีย ปี 2020 - 2021

อัปเดตล่าสุด 31 มี.ค. 2564
  • Share :
  • 627 Reads   

♦ ดัชนี DI สะท้อนความเชื่อมั่นของธุรกิจในการทำกำไร ปี 2020 บริษัทญี่ปุ่นในเอเชียและโอเชียเนียติดลบทุกประเทศ

♦  คาดการณ์ดัชนี DI ปี 2021 เผยบริษัทญี่ปุ่นใน 3 ประเทศ อินเดีย-อินโดนีเซีย-ปากีสถาน เชื่อมั่นสูงสุด

♦ 3 อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มขยายการลงทุนสูงสุดในช่วงปี 2021 - 2023 คือ แปรรูปอาหาร, ยาและเคมีภัณฑ์, และพลาสติก 

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2021 องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร (JETRO) ได้เผยผลสำรวจภาวะธุรกิจของบริษัทญี่ปุ่นในต่างประเทศ ฉบับเอเชียและโอเชียเนีย ประจำปี 2020 หรือดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจ (Diffusion Index) ซึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นของธุรกิจในการทำกำไรจากการดำเนินงาน โดยพบว่า ในปี 2020 ดัชนี DI ติดลบทุกประเทศเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เริ่มเก็บสถิติในปี 1987 สีบเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 และสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ซึ่งส่งผลต่อยอดขายสินค้าในประเทศ และสินค้าส่งออกของธุรกิจญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก

รายงานฉบับนี้ มีบริษัทญี่ปุ่นตอบแบบสอบถามจำนวน 5,976 บริษัท แบ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมการผลิต 2,621 บริษัท และอุตสาหกรรมอื่น ๆ 3,355 บริษัท โดยมีรายละเอียดดังนี้

ดัชนี DI ของบริษัทญี่ปุ่นในเอเชียและโอเชียเนีย ปี 2020-2021

ในปี 2020 ที่ผ่านมานี้ การระบาดของโควิดทั่วโลก เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ดัชนี DI ของบริษัทญี่ปุ่นในเอเชียและโอเชียเนียลดลงเป็นอย่างมาก โดยปี 2020 มีประเทศที่ดัชนี DI ดีที่สุด 5 อันดับแรก ดังนี้

  1. ไต้หวัน เป็นประเทศที่มีสัดส่วนบริษัทญี่ปุ่นขนาดใหญ่ทำกำไรได้สูงสุด
  2. ปากีสถาน เป็นประเทศที่มีการปรับเปลี่ยนมาทำงานแบบ Work from Home อย่างรวดเร็ว 
  3. จีน ยังติดอันดับเนื่องจากควบคุมการระบาดได้ดี รวดเร็ว และมีบริษัทญี่ปุ่นทำกำไรได้มากกว่าครึ่ง
  4. ลาว สืบเนื่องจากมีต้นทุนการผลิต และต้นทุนวัสดุต่ำกว่าการผลิตในญี่ปุ่นเกือบ 50%
  5. เมียนมา เนื่องจากบริษัทญี่ปุ่นมีแผนขยายธุรกิจมาก และมีอัตราการเพิ่มขึ้นตลอดปี 2020

 

ในทางกลับกัน อินโดนีเซียซึ่งมีดัชนี DI ต่ำสุด เป็นผลจากความล้มเหลวในการควบคุมโรค และยอดขายสินค้าในประเทศที่ลดลง ส่วนไทยก็มียอดขายสินค้าในประเทศลดลงมากจนมีดัชนี DI ต่ำสุดติดอันดับสอง ส่วนฟิลิปปินส์มีสาเหตุจากการลดลงของยอดส่งออกในปีที่แล้ว

ส่วนปี 2021 มีประเทศที่คาดการณ์ว่าจะมีดัชนี DI ดีที่สุด 5 อันดับแรก ดังนี้

  1. อินเดีย เนื่องจากมีบริษัทญี่ปุ่นมากถึง 84.2% ที่มีแผนขยายธุรกิจในอินเดียอยู่แล้ว
  2. อินโดนีเซีย คาดการณ์ว่าจะมียอดขายสินค้าญี่ปุ่นในอินโดนีเซียสูงขึ้น
  3. ปากีสถาน เนื่องจากเล็งเห็นว่ามีศักยภาพการเติบโตสูง
  4. มาเลเซีย เนื่องจากแนวโน้มการเติบโตของสินค้าส่งออก
  5. ฟิลิปปินส์ เนื่องจากบริษัทญี่ปุ่นในฟิลิปปินส์มีแผนขยายธุรกิจสูงเช่นเดียวกับอินเดีย

 

แนวโน้มบริษัทญี่ปุ่นในเอเชียและโอเชียเนีย ปี 2021

รายงานของเจโทรเปิดเผยว่า 80% ของธุรกิจญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าสถานการณ์ทางธุกิจจะกลับมาเทียบเท่าก่อนการระบาดของโควิดได้ภานในช่วงท้ายปี 2021 และบริษัทญี่ปุ่นในจีนมากถึง 67.2% คาดการณ์ว่าจะกลับมาเทียบเท่าก่อนโควิดภายในครึ่งแรกของปีนี้ 

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ จะยังไม่หมดไป โดยคาดการณ์ว่ากลุ่มประเทศที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดคือเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งบริษัทญี่ปุ่นในฮ่องกงคาดว่าจะได้รับผลกะทบทางลบมากที่สุด ตามด้วยจีน และเกาหลีใต้

ออสเตรเลีย เป็นอีกประเทศที่บริษัทญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบรุนแรง สืบเนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างจีนและออสเตรเลียที่ย่ำแย่ลงตั้งแต่ปี 2019 โดยมีบริษัทที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบรุนแรง 31.7% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2019 เกือบสองเท่า

ในทางกลับกัน ประเทศที่คาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบในทางบวกสูงสุดคือเวียดนาม ตามด้วยบังกลาเทศ และอินเดียตามลำดับ สืบเนื่องจากการย้ายฐานการผลิตของบริษัทญี่ปุ่นออกจากประเทศจีน ในขณะที่อินเดียยังไม่มีการบ้ายฐานผลิตมากนัก แต่พฤติกรรมผู้บริโภคในอินเดียจะหันมาบริโภคสินค้าญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและจีนที่ย่ำแย่จากข้อพิพาทพรมแดนจีน-อินเดีย

แผนขยายธุรกิจของบริษัทญี่ปุ่นในเอเชียและโอเชียเนีย ในช่วงเวลา 1-2 ปีข้างหน้า 

บริษัทญี่ปุ่นในเอเชีย และโอเชียเนีย มีแนวโน้มการขยายธุรกิจต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1987 โดยมีปัจจัยมาจากความไม่แน่นอนของโควิดและสงครามการค้า โดยประเทศที่มีแนวโน้มขยายธุรกิจสูงสุดคือปากีสถาน ตามด้วยอินเดีย และเมียนมา เนื่องจากมีศักยภาพในการเติบโตสูง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของเมียนมาในปัจจุบันอาจทำให้แนวโน้มนี้เปลี่ยนไป

  • อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร 62.6%
  • อุตสาหกรรมยา และเคมีภัณฑ์ 45.5%
  • อุตสาหกรรมพลาสติก 43.7%
  • อุตสาหกรรม Precisions Machinery และเครื่องมือแพทย์ 42.5%
  • อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และ Electrical Machinery 36.7%
  • อุตสาหกรรมกระดาษ สิ่งพิมพ์ และผลิตภัณฑ์จากไม้ 36.3%
  • อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลทั่วไป 34.6%
  • อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 34.6%
  • อุตสาหกรรมโลหะการ 33.0%
  • อุตสาหกรรมยานยนต์ 32.8%
  • อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ 62.6%
  • อุตสาหกรรมยาง เซรามิก และหิน 62.6%
  • อุตสาหกรรมสิ่งทอ 62.6%

 

อ่านต่อ