ดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจของบริษัทญี่ปุ่นในไทย ต่ำสุดอันดับ 2 อาเซียน

ดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจของบริษัทญี่ปุ่นในไทย ต่ำสุดอันดับ 2 อาเซียน

อัปเดตล่าสุด 24 มี.ค. 2564
  • Share :

♦ “เจโทร” เผยผลสำรวจภาวะธุรกิจของบริษัทญี่ปุ่นในต่างประเทศ ฉบับเอเชียและโอเชียเนีย ปี 2020 

♦ ดัชนี DI สะท้อนความเชื่อมั่นของธุรกิจในการทำกำไร พบ DI ใน 3 ประเทศ ติดลบหนัก คือ อินโดนีเซีย -65.9 ซึ่งติดลบมากที่สุด รองลงมาคือ ไทย -57.4 และฟิลิปปินส์ -51.2 

♦ บริษัทญี่ปุ่นในไทยร่วมตอบแบบสอบถาม 680 บริษัท คาดการณ์ว่า บริษัทส่วนใหญ่จะมีผลประกอบการเท่าทุนและขาดทุนเมื่อปิดปีงบประมาณ 2020 และมีเพียง 40.7% เท่านั้นที่คาดว่าจะทำกำไรได้

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2021 องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร (JETRO) ได้เผยผลสำรวจภาวะธุรกิจของบริษัทญี่ปุ่นในต่างประเทศ ฉบับเอเชียและโอเชียเนีย ประจำปี 2020 หรือดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจ (Diffusion Index) ซึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นของธุรกิจในการทำกำไรจากการดำเนินงาน ค่า DI ติดลบอย่างมากใน 3 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย -65.9 ซึ่งติดลบมากที่สุด รองลงมาคือ ไทย -57.4 และฟิลิปปินส์ -51.2 

โดยรายงานฉบับดังกล่าวมีบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยตอบแบบสอบถามจำนวน 680 บริษัท แบ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมการผลิต 361 บริษัท และอุตสาหกรรมอื่น ๆ 319 บริษัท รายละเอียดดังนี้

คาดการณ์ผลประกอบการบริษัทญี่ปุ่นในไทย ประจำปีงบประมาณ 2020

  • คาดการณ์ว่าจะมีกำไร มีสัดส่วน 40.7% อย่างไรก็ตาม มากกว่าครึ่งของบริษัทที่คาดว่าจะมีกำไรรายงานว่าผลกำไรจะต่ำกว่าปี 2019 อย่างแน่นอน
  • คาดการณ์ว่าจะขาดทุน มีสัดส่วน 39.8% โดยมีสาเหตุหลักมาจากการลดลงของยอดขายสินค้า ซึ่ง 87.7% ของบริษัทญี่ปุ่นในไทยมียอดขายในประเทศไทยลดลงมากก่อนการระบาดของโควิด 
  • คาดการณ์ว่าจะเท่าทุน มีสัดส่วน 19.5%

กลุ่มธุรกิจยานยนต์

  • คาดการณ์ว่าจะมีกำไร มีสัดส่วน 32.3%
  • คาดการณ์ว่าจะขาดทุน มีสัดส่วน  51.6% 
  • คาดการณ์ว่าจะพอดีทุน มีสัดส่วน 16.1%

กลุ่มธุรกิจโลหะการ

  • คาดการณ์ว่าจะมีกำไร มีสัดส่วน 31.9%
  • คาดการณ์ว่าจะขาดทุน มีสัดส่วน  45.8%
  • คาดการณ์ว่าจะพอดีทุน มีสัดส่วน 22.2%

กลุ่มธุรกิจ Trading และ Wholesale

  • คาดการณ์ว่าจะมีกำไร มีสัดส่วน 47.1%
  • คาดการณ์ว่าจะขาดทุน มีสัดส่วน  41.4%
  • คาดการณ์ว่าจะพอดีทุน (Breakeven) มีสัดส่วน 11.5%

สำหรับปีงบประมาณ 2021 บริษัทญี่ปุ่นในไทย 55.8% คาดการณ์ว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีเพียง 13.0% เท่านั้นที่คาดว่าจะมีรายได้ลดลง ส่วนที่เหลืออีก 31.2% คาดการณ์ว่าปีงบประมาณ 2021 จะไม่ต่างจากปี 2020

แผนขยายธุรกิจในช่วงเวลา 1-2 ปีข้างหน้า บริษัทญี่ปุ่นในไทยมีเพียง 31.5% ที่มีแผนขยายธุรกิจซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาครองลงมาจากสิงคโปร์ ในขณะที่บริษัทส่วนใหญ่ยังอยู่ในแผนประคับประคองธุรกิจให้ไปต่อได้ และมีเพียง 1.3% เท่านั้นที่มีแผนปิดบริษัทหรือย้ายไปยังประเทศอื่น 

ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้บริษัทเหล่านี้มีแผนขยายธุรกิจ คือ แนวโน้มการเติบโตของยอดขายสินค้าในไทย ซึ่ง 84.4% คาดว่าสินค้าญี่ปุ่นในไทยจะมียอดขายเพิ่มขึ้น และรองลงมาคือแนวโน้มการเติบโตด้านการส่งออกสินค้าจากไทยไปยังต่างประเทศ 

แนวทางการขยายธุรกิจ มีดังนี้ (ตอบได้มากกว่าหนึ่งข้อ)

  • ขยายการขาย 59.1%
  • เพิ่มกำลังผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added product) 41.9%
  • เพิ่มกำลังผลิตสินค้าทั่วไป 26.2%
  • วิจัยและพัฒนา 11.0%

ธุรกิจที่มีแนวโน้มขยายการลงทุนสูงสุดใน 1-2 ปีข้างหน้า คือ กลุ่ม Sales Company ตามด้วยกลุ่มธุรกิจ Trading และ Wholesale ในขณะที่กลุ่มโลหะการมีแผนขยายธุรกิจอยู่ที่ 32.4%, กลุ่มยานยนต์มีแผนขยายธุรกิจ 23% โดยรายงานเปิดเผยว่า แม้ในช่วงที่ผ่านมากลุ่มยานยนต์มียอดขายเพิ่มขึ้น แต่ศักยภาพในการเติบโตของตลาดยานยนต์และความสัมพันธ์กับคู่ค้าของไทยในปี 2020 ลดลงจากปี 2019 อย่างเห็นได้ชัด

แนวโน้มการจ้างงานของบริษัทญี่ปุ่นในไทย 1-2 ปีข้างหน้า ส่วนใหญ่มีแนวโน้มคงจำนวนพนักงานเท่าเดิม และ 17.1% มีแผนปรับลดจำนวนพนักงาน ขณะที่ 5.2% มีแผนเพิ่มจำนวนพนักงาน

10 อุปสรรคของบริษัทญี่ปุ่นไทย มีดังนี้ (ตอบได้มากกว่าหนึ่งข้อ)

  • ยอดสั่งซื้อจากบริษัทอื่นลดลง 62.4%
  • การขึ้นค่าแรง 51.7%
  • กำลังซื้อจากผู้บริโภคลดลง 51.1%
  • ปัญหาด้านคุณภาพแรงงาน 46.7%
  • หาลูกค้ารายใหม่ได้ยากขึ้น 45.2% 
  • การแข่งขันด้านราคากับผู้ค้ารายอื่น 36.5%
  • บริษัทคู่ค้าบีบให้ลดราคา 32.2%
  • ความซับซ้อนด้านภาษีศุลกากร 22.4%
  • ปัญหาด้านภาษี 19.5%
  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 21.1%

 

อ่านต่อ