PC Shipments and Market share in 2Q 2020

ยอดขายคอมพิวเตอร์ ประจำไตรมาส 2/2020 โน๊ตบุ๊คมาแรง

อัปเดตล่าสุด 21 ก.ค. 2563
  • Share :
  • 2,568 Reads   

ยอดขายคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊ค ประจำไตรมาสที่ 2/2020 ปิดที่ 72.3 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้น 11.2% จากปีก่อนหน้า โดย HP กลับขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดได้อีกครั้งหนึ่ง ด้วยยอดขาย 18.1 ล้านเครื่องทั่วโลก ในขณะที่ Lenovo ตกลงไปอยู่อันดับที่ 2 ตามด้วย Dell 

International Data Corporation (IDC) เผย ยอดขายคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊คในไตรมาสที่ 2 สูงกว่าในไตรมาสแรกอย่างมาก โดยเฉพาะความต้องการโน๊ตบุ๊คที่เติบโตอย่างมั่นคง ส่งผลให้ยอดขายรวมครึ่งแรกปี 2020 เติบโตขึ้น 1% จากปี 2019 ด้วยสถานการณ์ของโรคโควิดที่เริ่มคลี่คลายลง ทำให้ต้นทุนการส่งสินค้าทางอากาศและทางเรือที่เริ่มกลับสู่ปกติ รวมถึงกำลังการผลิตที่เพิ่มสูงกว่าไตรมาสแรก จึงลดปัญหาการขาดแคลนสินค้าของตัวแทนจำหน่ายลง 

ขณะที่สำนักวิเคราะห์ Canalys ได้รายงานในทิศทางเดียวกัน โดย Rushabh Doshi ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย แสดงความเห็นว่า ยอดขายโน๊ตบุ๊คในไตรมาสนี้ สูงมากจนสามารถชดเชยยอดขายคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะได้ สืบเนื่องจากในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจ การศึกษา และรัฐบาล ที่มีความจำเป็นต้องใช้เพื่อให้การดำเนินงานยังคงความต่อเนื่อง ส่งผลให้กำลังการผลิตคอมพิวเตอร์โดยรวมพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา และมีความเป็นไปได้ว่า หลังจากที่ธุรกิจให้ความสนใจสมาร์ทโฟนมาหลายปี ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะทำให้ผู้ผลิตหันกลับมามุ่งตลาดคอมพิวเตอร์มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีความโชคดีที่แม้ในหลายประเทศจะมีการปิดโรงงานในช่วงต้นไตรมาส แต่ก็มีฐานการผลิตหลายแห่งที่กลับมาผลิตได้ หรือสามารถเร่งกำลังการผลิตให้สูงกว่าเดิม จนสามารถชดเชยในส่วนที่ขาดหายได้เป็นอย่างดี และยังต้องจับตามองว่าหลังจากความต้องการเติบโตขึ้นแล้ว ตลาดคอมพิวเตอร์จะเข้าสู่ช่วงชะลอตัวหรือไม่หลังจากนี้

I สภาพตลาดคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊คในแต่ละภูมิภาค

เอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมญี่ปุ่น)

ยอดจัดส่งในไตรมาสสองนี้สูงกว่าการคาดการณ์ หลังจากที่ชะลอตัวรุนแรงในไตรมาสแรก สืบเนื่องจากการปิดโรงงานในจีน และการขาดแคลนสินค้า โดยสินค้าขายดี คือ โน๊ตบุ๊คที่มีความต้องการมากขึ้นในช่วงล็อคดาวน์ ซึ่งทำยอดได้ดีกว่าไตรมาสเดียวกันจากปีที่แล้ว กอปรกับการฟื้นตัวของซัพพลายเชนทำให้ร้านค้ามีการสต็อกคอมพิวเตอร์เพิ่มมากขึ้น

สหรัฐอเมริกา

หลังจากที่ไตรมาสแรกมียอดขายลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี แต่ในไตรมาสที่ 2 กลับทำลายสถิติยอดขายสูงสุดในรอบกว่า 10 ปีเช่นเดียวกัน ด้วยยอดขายคอมพิวเตอร์รวม 21 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11.4% และสูงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2009 ซึ่งคาดการณ์ว่าเป็นผลจากการระบาดของโควิดอย่างรุนแรงในหลายรัฐ ที่กระตุ้นให้ความต้องการคอมพิวเตอร์พุ่งสูงในหลายภาคส่วน

ยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา (EMEA)

เป็นอีกภูมิภาคที่มียอดขายดีกว่าการคาดการณ์ เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีมาตรการล็อคดาวน์อย่างเข้มงวดในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา และเป็นภูมิภาคที่มียอดขายสูงสุดในไตรมาสนี้ ด้วยยอดขายที่เพิ่มขึ้น 24.6% และมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อเนื่อง

ญี่ปุ่น

ตลาดคอมพิวเตอร์มีการชะลอตัว อย่างไรก็ดี ในส่วนของคอมพิวเตอร์สำหรับผู้บริโภคทั่วไปยังทำยอดได้ดีกว่าที่คาดการณ์เล็กน้อย สืบเนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ระบบปฏิบัติการณ์ Windows 10 ในกลุ่มผู้บริโภค

แคนาดา

โตต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 16 และมียอดขายรวมสูงเป็นอันดับที่ 2 นับตั้งแต่ปี 2012 โดยมีสินค้าขายดีคือ  Chromebook ซึ่งมีความต้องการสูงในกลุ่มผู้บริโภคและสถานศึกษา นอกจากนี้ การเปลี่ยนมาสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าได้ง่ายขึ้น ในขณะที่ตัวแทนจำหน่ายสามารถสต็อกสินค้าได้ง่ายขึ้นเช่นเดียวกัน และคาดการณ์ว่ายอดขายจะดีขึ้นอีกในช่วงครึ่งปีหลังนี้

ลาตินอเมริกา

ยอดขายคอมพิวเตอร์ลดลง 4% แต่มียอดขายโน๊คบุ๊คเพิ่มขึ้น 10% ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดในช่วง 2 ปีให้หลังมานี้ โดยเป็นผลจากความต้องการความคล่องตัวของในกลุ่มผู้บริโภค และผู้ทำงานทางไกล สืบเนื่องจากสถานการณ์ที่ยังคงทวีความรุนแรงในหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับปี 2019 พบว่ายอดขายโดยรวมยังลดลงอยู่

I ยอดขายแบ่งตามแบรนด์

ในไตรมาสที่ 2 นี้ HP กลับมาเป็นผู้นำตลาดได้อีกครั้งหนึ่ง ด้วยยอดขาย 18.1 ล้านเครื่องทั่วโลก โดยมีลูกค้าหลักคือสหรัฐอเมริกา และ EMEA ในขณะที่ Lenovo ตกลงไปอยู่ลำดับที่ 2 ด้วยยอดขาย 17.4 ล้านเครื่อง ตามมาด้วย Dell ที่ 12.0 ล้านเครื่อง 

อ่านต่อ