แอร์บัส-โบอิ้ง เซ่นพิษโควิด ทำยอดส่งเครื่องบินพาณิชย์ร่วง 40%

2 บิ๊ก แอร์บัส-โบอิ้ง เซ่นพิษโควิด ทำยอดส่งเครื่องบินพาณิชย์ร่วง 40%

อัปเดตล่าสุด 20 ม.ค. 2564
  • Share :

♦ โควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมการบินและอากาศยานต้องรอฉายหนังม้วนใหม่ที่ยังไม่มีสำนักใดออกมาฟันธงอนาคตได้
♦ ปี 2020 มียอดจัดส่งเครื่องบินพาณิชย์จากสองบิ๊กรวมกันลดลง 40% จากปีก่อนหน้า
♦ “แอร์บัส” ยังอยู่อันดับ 1 ทำยอดจัดส่งรวม 566 ลำ

การระบาดของโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมการบินและอากาศยานต้องรอหนังม้วนใหม่ที่ยังไม่มีสำนักใดออกมาฟันธงอนาคตได้ แม้เมื่อต้นปีที่แล้วจะมีหลายแหล่ง คาดการณ์การเติบโตของอุตสาหกรรมนี้อย่างก้าวกระโดดถึง 2 เท่าในอีก 20 ปีข้างหน้า จากความนิยมการเดินทางโดยเครื่องบินและปัจจัยอื่น ๆ 

โดยในปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดโควิด “แอร์บัส (Airbus) จากยุโรป” และ “โบอิ้ง (Boeing) จากสหรัฐฯ” สองบิ๊กผู้ผลิตอากาศยานครอบครอง 91% ของส่วนแบ่งตลาดเครื่องบินพาณิชย์ทั่วโลกได้ทำยอดจัดส่งเครื่องบินพาณิชย์รวม 1,208 ลำ 

แต่ในปี 2020 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป มียอดจัดส่งเครื่องบินพาณิชย์จากทั้งสองค่ายรวม 723 ลำ ลดลงมากถึง 40% หรือ 485 ลำจากปีก่อนหน้า

‘Airbus’ ยังครองแชมป์ No. 1 

โดยในปี 2020 แอร์บัสยังคงครองตำแหน่งผู้นำตลาดเครื่องบินพาณิชย์ ด้วยยอดจัดส่งรวม 566 ลำ ลดลง 297 ลำจากปีก่อนหน้า โดย 25% ของเครื่องบินที่จัดส่งได้ถูกนำไปใช้ในการขนส่งสินค้าทางอากาศ สำหรับตัวเลขปิดยอดนี้เป็นไปตามแนวทางปรับลดแผนการผลิตลงให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโควิด อย่างไรก็ตาม แอร์บัสได้รับสัญญาณฟื้นตัวจากยอดจัดส่งอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา และยังได้รับออร์เดอร์ใหม่อีก 383 ลำ 

Guillaume Faury CEO บริษัทแอร์บัส แสดงความเห็นว่า ปี 2020 เป็นปีที่ยากลำบากสำหรับทั้งตัวบริษัทและลูกค้า อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจากภาครัฐได้ช่วยให้แอร์บัสสามารถฝ่าวิกฤตในครั้งนี้มาได้ และคาดการณ์ว่าในปี 2021 จะมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นแม้จะยังมีความเสี่ยงในระยะสั้นอยู่

‘Boeing’ ต่ำสุดรอบ 50 ปี

ด้านโบอิ้งนั้น สถานการณ์ดูย่ำแย่กว่ามาก นอกจากผลกระทบรุนแรงจากการระบาดของโควิดแล้ว ยังมีวิกฤต 737 MAX ทำให้ปี 2020 จัดส่งอากาศยานเชิงพาณิชย์ได้เพียง157 ลำเท่านั้น ลดลงจากปี 2019 ถึง 223 ลำ นับเป็นยอดจัดส่งที่ลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และเป็นการลดลงต่ำสุดในรอบเกือบ 50 ปี 

Mr. Greg Smith รองประธานบริหารฝ่ายปฏิบัติและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัทโบอิ้ง แสดงความเห็นว่า ทางบริษัทได้มีการปรับตัวเป็นอย่างมากเพื่อรองรับตลาดที่เปลี่ยนไปในปีที่แล้ว การกลับมาจัดส่งเครื่องบินรุ่น 737 MAX ในช่วงสิ้นปีจึงเป็นอีกหมุดหมายสำคัญ และทำยอดจัดส่งได้ถึง 27 ลำในเดือนธันวาคมหลังจากที่สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) ได้อนุมัติในเดือนพฤศจิกายน อย่างไรก็ตาม หากนับตลอดวิกฤต 737 MAX ตั้งแต่ปี 2019 แล้วพบว่า โบอิ้งถูกยกเลิกคำสั่งซื้ออากาศยานรุ่นนี้รวม 641 ลำ และการระบาดของโควิดที่ส่งผลให้โบอิ้งประเมินว่าจะถูกยกเลิกเพิ่มอีกราว 500 ลำ