ยันอีกเสียง เครื่องจักรกลยุโรปชะลอตัวถึงปี 2024 รอความหวัง ยานยนต์-อากาศยานฟื้น
♦ ในปี 2020 มูลค่าตลาดเครื่องจักรกลยุโรปจะปิดที่ 1.3 หมื่นล้านยูโร ลดลง 33.1% จากปีก่อนหน้า
♦ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลยุโรปจะฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า และกลับมาเกือบเทียบเท่าช่วงก่อนโควิดด้วยมูลค่า 1.88 หมื่นล้านยูโร ในปี 2024
♦ ปัจจัยสำคัญจากผู้ซื้อเครื่องจักรกลรายใหญ่ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมอากาศยานฟื้นตัวช้า
เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2020 สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลยุโรป (CECIMO) เปิดเผยแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลในช่วงวิกฤตโควิด ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อทุกอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต หรือภาคการบริการเป็นอย่างยิ่ง
Dr. Hans-Martin Schneeberger ประธานสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลยุโรป รายงานข้อมูลอ้างอิงจากสํานักงานสถิติยุโรป (Eurostat) ว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของยุโรปลดลง 1% ในไตรมาสที่ 2 ปี 2020 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว ก่อนลดลงอีก 5% ในไตรมาสที่ 3 แสดงให้เห็นถึงการชะลอตัวอย่างรุนแรงของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ในขณะที่อัตราการดำเนินงานของผู้ผลิตในยุโรปลดลงเหลือ 64.6% ในไตรมาสที่ 2 จากเดิม 83% ในไตรมาสที่ 1 ซึ่งตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ยังต้องอาศัยเวลาอีกมากกว่าที่ภาคการผลิตของยุโรปจะฟื้นตัวกลับไปเท่าช่วงก่อนการระบาดของโควิดได้ ซึ่งในไตรมาสที่ 2 ปี 2020 ยอดส่งออกเครื่องจักรกลยุโรปได้ลดลง 41% จากปีก่อนหน้า ซึ่งแม้จะดีกว่าการคาดการณ์ แต่ก็เป็นการหดตัวครั้งต่ำที่สุดนับแต่ปี 2019
สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลยุโรป อ้างอิงข้อมูลจากสำนัก Oxford Economics เปิดเผยว่า ในปี 2020 มูลค่าตลาดเครื่องจักรกลยุโรปจะปิดที่ 1.3 หมื่นล้านยูโร ลดลง 33.1% จากปีก่อนหน้า โดยในปี 2021 จะเติบโต 23.5% และโตต่อเนื่องจนถึงปี 2024 อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตนี้จะช้าลงอย่างต่อเนื่อง ทางสมาคมคาดการณ์ว่าในปี 2024 ตลาดเครื่องจักรกลยุโรปจะฟื้นตัวกลับมาได้ไม่เท่าก่อนโควิด โดยจะมีมูลค่า 1.88 หมื่นล้านยูโร ต่ำกว่าปี 2019 ซึ่งทำไว้ที่ 1.98 หมื่นล้านยูโร สวนทางกับการเติบโตของจีนที่ถูกคาดการณ์ว่าจะฟื้นกลับมาเทียบเท่าโควิดได้ภายในปี 2021 และโตต่อเนื่องจนถึงปี 2024 เป็นอย่างน้อย
โดยสาเหตุที่การฟื้นตัวเป็นไปอย่างเชื่องช้านั้นเป็นผลจากอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมอากาศยาน ซึ่งเป็นผู้ซื้อเครื่องจักรกลรายใหญ่จะฟื้นตัวเทียบเท่าก่อนโควิดอย่างเร็วที่สุดในปี 2022 หรือ 2023 ด้วยการลดลงของความต้องการซื้อยานยนต์ และการเดินทางทางอากาศ รวมไปถึงกำลังการผลิตส่วนเกินและความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจที่ลดลง อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะมีการฟื้นตัวที่รวดเร็วกว่ามาก
Eric-Mark Huitema ผู้อำนวยการสมาคมผู้ผลิตยานยนต์ยุโรป (ACEA) เสริมว่า ในปี 2020 ยุโรปมียอดผลิตยานยนต์ลดลงไปแล้วถึง 4 ล้านคัน เทียบเท่ากับกำลังการผลิตที่ลดลงถึง 22.3% จากปี 2019 และเป็นปีที่ความต้องการยานยนต์ลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติมา โดยคาดว่ายอดขายยานยนต์ปีนี้จะลดลงเหลือเพียง 9.6 ล้านคันจาก 12.8 ล้านคันในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการหดตัวถึง 25% ด้วยกัน
อ่านต่อ
- ยอดสั่งซื้อ Machine Tools เยอรมัน Q3 2020 ช้ำ โควิดระลอก 2 ทำพิษ
- ส.เครื่องจักรกล สหรัฐฯ-เยอรมนี-สวิส คาด ปีนี้ตลาดหดตัวอย่างต่ำ 20%