IFR เผยตัวเลข “หุ่นยนต์อุตสาหกรรม” ทั่วโลกปี 2019 คาดปีนี้โควิดทำตลาดชะลอตัว เริ่มฟื้นปี 2021
เปิดไทม์ไลน์ทิศทางตลาดหุ่นยนต์อุตสาหกรรมหลังโควิด ตลาดจะฟื้นตัวกลับมาเมื่อไหร่ นับฐานจากช่วงก่อนเกิดโควิด ในปี 2019 ทั่วโลกมีการใช้งานหุ่นยนต์อุตสาหกรรมรวม 2.7 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้น 12% ติดตั้งหุ่นยนต์ใหม่รวม 3.7 แสนเครื่อง มูลค่ารวม 13.8 หมื่นล้านเหรียญ ในปี 2020 โควิดทำตลาดชะลอตัว IFR คาดปี 2021 ตลาดเริ่มฟื้นตัว และจะกลับมาโตเท่าก่อนโควิดในปี 2022 - 2023
เมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา International Federation of Robotics (IFR) เปิดเผยรายงาน “ World Robotics 2020 Industrial Robots report” ว่า ในปี 2019 ทั่วโลกมีการใช้งานหุ่นยนต์อุตสาหกรรมรวม 2,700,000 เครื่อง เพิ่มขึ้น 12% จากปีก่อนหน้า และมีการติดตั้งหุ่นยนต์ใหม่รวม 373,000 เครื่องซึ่งลดลง 12% แต่ทว่ามีมูลค่ารวมสูงถึง 13,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังคงมากเป็นลำดับที่ 3 นับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติมา
Milton Guerry ประธาน IFR แสดงความเห็นว่า การใช้งานหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น เป็นผลจากความแพร่หลายของแนวคิด Smart Production และระบบอัตโนมัติ ซึ่งในช่วง 5 ปี ระหว่าง 2014 - 2019 ทั่วโลกมีปริมาณการใช้โรบอทเพิ่มขึ้น 85% โดยมีผู้ใช้รายใหญ่คืออุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีสัดส่วนหุ่นยนต์ 35% ตามด้วยอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 25% และอุตสาหกรรมโลหะ 10%
อย่างไรก็ตาม การระบาดของโควิดยังไม่สิ้นสุดดี IFR จึงเล็งเห็นว่า ในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2020 เม็ดเงินต่าง ๆ จะถูกนำไปใช้กับการลงทุนตามแบบของ New Normal ทำให้เป็นไปได้ยากว่าจะมีการสั่งซื้อล็อตใหญ่ พร้อมแนะนำให้ผู้ผลิตหุ่นยนต์ควรปรับตัวตามความต้องการเหล่านี้ โดยใช้แอปพลิเคชันและโซลูชันที่ตัวเองมีอยู่ ซึ่งประเทศจีนอาจเป็นข้อยกเว้นในประเด็นนี้ เนื่องจากการที่จีนเป็นประเทศแรกที่มีการระบาด ทำให้จีนสามารถฟื้นตัวกลับมาได้รวดเร็วกว่าประเทศอื่นตั้งแต่ในไตรมาสที่ 2 อย่างไรก็ตาม อาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง กว่าการฟื้นตัวเหล่านั้นจะกลายเป็นเม็ดเงินในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ซึ่ง IFR คาดว่าจะเริ่มปรากฏสัญญาณบวกในปี 2021 และกลับมาเทียบเท่าก่อนหน้าโควิดในปี 2022 หรือ 2023
เอเชีย
ภูมิภาคเอเชียยังคงครองตำแหน่งตลาดหุ่นยนต์ที่ใหญ่ที่สุด ด้วยสัดส่วนการใช้งานหุ่นยนต์อุตสาหกรรมคิดเป็น 2 ใน 3 หรือกว่า 60% ของจำนวนหุ่นยนต์อุตสาหกรรมทั่วโลก โดยจีนยังคงรักษาตำแหน่งผู้ใช้รายใหญ่ด้วยจำนวนหุ่นยนต์รวม 783,000 เครื่อง เติบโต 21% จากปีก่อนหน้า ตามด้วยญี่ปุ่น 355,000 เครื่อง เติบโต 15% และอินเดีย 26,300 เครื่อง เติบโต 12%
ในส่วนของการติดตั้งหุ่นยนต์ใหม่ พบว่าในปี 2019 มีการชะลอตัวของทั้งในจีนและญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้นำตลาด โดยในจีนมียอดติดตั้งเพิ่ม 140,500 เครื่อง ชะลอตัวลง 9% จากปีก่อนหน้า ในขณะที่ญี่ปุ่นชะลอตัวลง 10%
นอกจากนี้ แม้จีนจะเป็นตลาดใหญ่ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวรวดเร็ว แต่การระบาดของโควิดได้ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตหุ่นยนต์ต่างชาติเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากสัดส่วนหุ่นยนต์ในจีนเป็นการนำเข้ามากถึง 71% ทำให้การชะลอตัวของเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมยานยนต์ส่งผลลบต่อผู้ผลิตต่างประเทศมากกว่าผู้ผลิตในจีน
ยุโรป
ภูมิภาคยุโรปมีการใช้งานหุ่นยนต์อุตสาหกรรมรวม 580,000 เครื่อง โดยเยอรมนีเป็นผู้ใช้รายใหญ่ที่สุดถึง 221,500 เครื่อง ตามด้วยอิตาลี 74,400 เครื่อง ฝรั่งเศส 42,000 เครื่อง และสหราชอาณาจักร 21,700 เครื่อง ซึ่งจะเห็นได้ว่า ปริมาณการใช้งานหุ่นยนต์ในเยอรมนีมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในลำดับรองลงมาเป็นอย่างมาก
ในส่วนของยอดการติดตั้งใหม่นั้น พบว่าในปี 2019 ในเยอรมนีมียอดติดตั้งหุ่นยนต์ 20,500 เครื่อง ลดลง 23% จากปีก่อนหน้า ถึงอย่างไรก็ตาม ในปี 2018 เป็นปีที่ทำยอดขายได้สูงเกินความคาดหมายจึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจนัก ในขณะที่ประเทศลำดับ 2 และ 3 มีการติดตั้งเพิ่มขึ้น โดยมีอิตาลีเติบโต 13% ฝรั่งเศสเติบโต 15% ส่วนสหราชอาณาจักรลดลง 16%
อเมริกา
ในภูมิภาคอเมริกายังคงมีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ ด้วยปริมาณการใช้งานหุ่นยนต์อุตสาหกรรมรวมถึง 293,000 เครื่อง เพิ่มขึ้น 7% ตามด้วยเม็กซิโก 40,300 เครื่อง เพิ่มขึ้น 11% และแคนาดา 28,600 เครื่อง เพิ่มขึ้น 2%
อย่างไรก็ตาม หากนับเฉพาะยอดติดตั้งในปี 2019 จะพบว่าในสหรัฐฯ มียอดติดตั้งหุ่นยนต์ใหม่รวม 33,000 เครื่อง ลดลง 17% จากปีก่อนหน้า แต่ตัวเลขนี้ไม่ส่งผลต่อผู้ผลิตหุ่นยนต์สหรัฐฯ มากนัก สืบเนื่องจากหุ่นยนต์ส่วนมากถูกนำเข้าจากต่างประเทศ ในขณะที่ในเม็กซิโกมี 4,600 เครื่อง ลดลง 20% และแคนาดา 3,600 เครื่อง เพิ่มขึ้น 1%
ส่วนในอเมริกาใต้นั้น มีบราซิลเป็นประเทศที่มีการใช้งานหุ่นยนต์สูงสุด ด้วยจำนวน 15,300 เครื่อง เติบโต 8% และเป็นการติดตั้งใหม่ในปี 2019 จำนวน 1,800 เครื่อง ลดลง 17%
อ่านต่อ