3 ชิ้นส่วนสำคัญในยุคยานยนต์รักษ์โลก

เปิดโผ 3 ชิ้นส่วนสำคัญในยุคยานยนต์รักษ์โลก

อัปเดตล่าสุด 12 ม.ค. 2566
  • Share :
  • 1,712 Reads   

มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเป็นตัวเร่งสำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่จำเป็นต้องรักษ์โลกยิ่งขึ้น โดยเฉพาะชิ้นส่วนด้านระบบขับขี่อัตโนมัติ วัสดุดูดซับเสียงและแรงกระแทก และคอมเพรสเซอร์ไฟฟ้า

วันที่ 27 ธันวาคม 2022 สำนักวิเคราะห์ Fuji Keizai ประเทศญี่ปุ่น เผยแพร่รายงานผลสำรวจผลกระทบต่อชิ้นส่วนยานยนต์จากมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมโลก ระบุเทรนด์การพัฒนาชิ้นส่วนในปัจจุบันมุ่งไปที่ชิ้นส่วนรถอีวี ทั้งการเปลี่ยนจากเครื่องยนต์สันดาปเป็นมอเตอร์ และความต้องการชิ้นส่วนที่มีน้ำหนักเบาลง ซึ่งแนวโน้มนี้เกิดขึ้นควบคู่ไปกับแนวทางการพัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติ ความสะดวกสะบาย และการออกแบบยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งล้วนแล้วแต่นำมาซึ่งความต้องการวัสดุและเทคโนโลยีการผลิตที่ก้าวหน้า 

Advertisement

ทางสำนักฯ ประเมินเบื้องต้นว่า ในปี 2022 ที่ผ่านมา มูลค่าตลาดชิ้นส่วนยานยนต์ทั่วโลกจะปิดที่ 27.8 ล้านล้านเยน หรือราว 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นสูงกว่า 10% จากปีก่อนหน้า ซึ่งสวนทางกับยอดผลิตยานยนต์ที่ลดลงเนื่องจากการขาดแคลนชิ้นส่วน 

โดยในปีที่ผ่านมา การเติบโตของรถอีวีส่งผลกระทบต่อชิ้นส่วนยานยนต์หลายรายการ การเข้ามาของชิ้นส่วนชนิดใหม่ทำให้ชิ้นส่วนเดิมเริ่มถูกทดแทน ยกตัวอย่างเช่น เครื่องยนต์สันดาปภายในซึ่งถูกแทนที่ด้วยมอเตอร์

อีกกลุ่มที่น่าจับตา คือ ระบบหล่อเย็น เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอีวีทำให้การออกแบบระบบหล่อเย็นมีประสิทธิภาพมากขึ้น สอดคล้องไปกับความต้องการลดน้ำหนักและเพิ่มพื้นที่ภายในรถ จนมีแนวโน้มว่าระบบนี้จะทำให้จำนวนชิ้นส่วนน้อยลงในระยะยาว

การลดน้ำหนักยานยนต์เพื่อให้รถอีวีวิ่งได้นานและไกลขึ้นนี้เองที่ส่งผลกระทบต่อชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากวัสดุน้ำหนักเบาหลายชนิดมีราคาสูง ทำให้คาดการณ์ได้ว่ามูลค่าชิ้นส่วนน้ำหนักเบาจะมีการเติบโตอย่างเด่นชัดในระยะสั้น ซึ่งไม่จำกัดแค่ชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องด้านการขับเคลื่อน แต่รวมไปถึงชิ้นส่วนตกแต่งภายใน ที่จับประตู และอื่น ๆ

ส่วนเทรนด์ด้านระบบขับขี่อัตโนมัติ จะนำมาสู่ความต้องการระบบเซนเซอร์และอุปกรณ์รับส่งสัญญาณในยานยนต์มากขึ้น ซึ่งคาดว่าตลาดจะเติบโตได้ในระยะยาว และเมื่อชิ้นส่วนเหล่านี้ก้าวหน้ามากขึ้นแล้ว กระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้อง เช่น การติดตั้งชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ก็จะมีความต้องการมากขึ้นตามไปด้วย

ส่วนทางด้านการออกแบบและการตกแต่งภายในนั้น รถอีวีส่วนใหญ่มีแนวทางการตกแต่งที่ดูทันสมัย ให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายของผู้ขับขี่ ทำให้มีแนวโน้มว่าชิ้นส่วนที่มีมูลค่าเพิ่มสูงจะเป็นที่ต้องการมากยิ่งขึ้น

โดยสำนักวิเคราะห์ Fuji Keizai คาดการณ์ว่า ในปี 2045 ตลาดชิ้นส่วนยานยนต์จะมีมูลค่า 38.77 ล้านล้านเยน หรือราว 2.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 59.3% จากปี 2021 โดยชิ้นส่วนยานยนต์ที่น่าจับตามีดังนี้

ชิ้นส่วนด้านระบบขับขี่อัตโนมัติ

ยานยนต์ไร้คนขับ หรือ Autonomous Vehicle คือ เทคโนโลยียานยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องมีคนควบคุม บางครั้งเราเรียกยานพาหนะประเภทนี้ว่า รถยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Car) หรือ รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Self-Driving Car) ซึ่งชิ้นส่วนในกลุ่มนี้ประกอบด้วย เรดาร์คลื่นมิลลิเมตร (Front millimeter wave radar), โลโก้ติดยานยนต์ที่รองรับการใข้งานร่วมกับคลื่นมิลลิเมตร (Automotive Millimeter Wave Compatible Emblem), และเรดาร์ที่ติดตั้งในกระจังหน้ายานยนต์ประเภทอื่น ๆ 

แนวโน้มที่เกิดขึ้นนี้มีสาเหตุจากการที่ยุโรปและญี่ปุ่นมีข้อบังคับให้ยานยนต์ติดตั้งระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ (AEB) ทำให้ความต้องการเรดาร์คลื่นมิลลิเมตรพุ่งทะยานอย่างรวดเร็ว อีกทั้งชิ้นส่วนนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของระบบสนับสนุนการขับขี่ (ADAS) ซึ่งจะมีการเติบโตในระยะยาว

นอกจากนี้ ปัจจุบันการผลิตฟิล์มสำหรับรับส่งสัญญาณเรดาร์ในยานยนต์มักผลิตจากอินเดียม (Indium) ซึ่งเป็นแรร์เมทัล ผลิตยาก ต้นทุนสูง ทำให้มีการวิจัยและพัฒนาการผลิตฟิล์มด้วยเทคโนโลยีอื่น ๆ ในขณะนี้

คาดการณ์ว่า ในปี 2045 ตลาดชิ้นส่วนด้านระบบขับขี่อัตโนมัติจะมีมูลค่า 5.39 หมื่นล้านเยน หรือราว 4.1 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากปี 2021

วัสดุดูดซับเสียงและแรงกระแทก

เมื่อผู้ออกแบบยานยนต์ให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายมากขึ้น วัสดุดูดซับเสียงและแรงกระแทก (Damping Material) จึงน่าจับตาเช่นกัน เช่น เทคโนโลยีการเปลี่ยนแรงสั่นสะเทือนจากถนนเป็นพลังงาน, ชิ้นส่วนลดแรงสั่นสะเทือนสำหรับหน้าปัดรถ หลังคา และประตู, และอื่น ๆ

ส่วนทางด้านการลดเสียงนั้น ผู้ผลิตยานยนต์ได้เล็งเห็นถึงการใช้พื้นที่ในรถเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การใช้เป็นห้องประชุม การรับชมภาพยนตร์ อีกทั้งยังมีความกังวลว่า เสียงมอเตอร์ที่ดังเกินไป อาจจะกลบเสียงอื่น ๆ ได้ นำมาซึ่งแนวโน้มการพัฒนายานยนต์ให้มีเสียงเบาลง ซึ่งจะกระตุ้นความต้องการวัสดุดูดซับเสียงให้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม คุณลักษณะของวัสดุดูดซับเสียงและแรงกระแทกโดยทั่วไปนั้น เมื่อยิ่งมีน้ำหนักมากก็ยิ่งมีประสิทธิภาพมาก ซึ่งสวนทางกับแนวโน้มการพัฒนารถอีวีที่ต้องการน้ำหนักเบา นี่จึงเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อยู่ระหว่างการหาทางแก้ไขปัญหานี้

คาดการณ์ว่า ในปี 2045 วัสดุดูดซับเสียงและแรงกระแทกจะมีมูลค่า 1.94 แสนล้านเยน หรือราว 1.47 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 142.6% จากปี 2021

คอมเพรสเซอร์ไฟฟ้า

คอมเพรสเซอร์ยานยนต์ คือ ระบบปรับอากาศที่ใช้พลังงานจากการหมุนของเครื่องยนต์หรือแบตเตอรี่ในการบีบสารทำความเย็นหรือน้ำยาแอร์เพื่อทำการปรับอากาศในรถ ซึ่งที่ผ่านมา คอมเพรสเซอร์ในยานยนต์ทำงานโดยอาศัยการหมุนของเครื่องยนต์สันดาป ทำให้เมื่อเข้าสู่ยุคอีวี คอมเพรสเซอร์ก็จะเปลี่ยนไปใช้ระบบไฟฟ้าเช่นกัน ความต้องการคอมเพรสเซอร์ไฟฟ้าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ขณะที่คอมเพรสเซอร์แบบดั้งเดิมจะมีการใช้งานน้อยลงเรื่อย ๆ

ซึ่งไม่เพียงแค่การปรับอากาศเท่านั้น แต่การเปลี่ยนมาใช้มอเตอร์ไฟฟ้าแทนเครื่องยนต์สันดาปยังทำให้การควบคุมอุณหภูมิแบตเตอรี่และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในยานยนต์มีความสำคัญยิ่งขึ้นอีกด้วย

คาดการณ์ว่า ในปี 2045 ตลาดคอมเพรสเซอร์ไฟฟ้าสำหรับยานยนต์จะมีมูลค่า 2.32 ล้านล้านเยน หรือราว 1.75 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.4 เท่า จากปี 2021

 

#รถยนต์ไฟฟ้า #อุตสาหกรรมยานยนต์ #sustainability #Mreport #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม #onlinecontent

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH